ไทยโพสต์ ๐ โนพรอบเบลม! “สุวัจน์” แถลง แค่อยู่ในขั้นตอนการตอบรับจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ หลัง “ก้าวไกล” โดนมวลชนสีส้มถล่มหนัก จนต้องขอโทษ พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค ต้องยุติดึง “ชาติพัฒนากล้า” ร่วมตั้งรัฐบาล ปัดตอบ 2 เสียงโหวตใครเป็นนายกฯ
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า กรณีที่พรรคก้าวไกลได้เจรจากับพรรคชาติพัฒนากล้า เพื่อตกลงโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมรัฐบาล
กรณีดังกล่าว ได้ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากประชาชน เจ้าหน้าที่พรรค คณะทำงานจังหวัด และสมาชิกพรรค ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าไม่สามารถยอมรับการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคชาติพัฒนากล้าได้
นอกจากนี้ ในที่ประชุมร่วมของว่าที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ก็มีมติสอดคล้องกับประชาชนว่าไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ กรรมการบริหารพรรคจึงน้อมรับมติดังกล่าวมาปฏิบัติ เราจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้า และจะเดินหน้าพูดคุยและทำความเข้าใจเพื่อขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ได้เสียงพอในการโหวตนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด
พรรคก้าวไกลขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด และกราบขออภัยประชาชน ที่ทำให้ทุกท่านผิดหวัง พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล จะทำบนพื้นฐานจุดยืนทางการเมือง นโยบายหลักของพรรคตามที่ได้เคยหาเสียงไว้ รวมถึงขอโทษพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ต้องยุติการเจรจาครั้งนี้
และสุดท้ายนี้ ขอบคุณพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่พรรค และว่าที่ผู้แทนราษฎรก้าวไกลทุกคน ที่คอยตรวจสอบ ท้วงติงการทำงานของผู้บริหารพรรค เพื่อให้พรรคยืนหยัดในจุดยืน อุดมการณ์เดิมอย่างมั่นคง
พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค
ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก "เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak" ของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำมวลชนสามนิ้ว ตั้งคำถามกับพรรคก้าวไกลว่า "...ทางพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายดึงเอาพรรคชาติพัฒนากล้ามาร่วมรัฐบาลจริงหรือไม่? และพรรคนี้ก็เคยมีจุดยืนคงกฎหมาย 112 ไว้ด้วยใช่หรือไม่? และแกนนำพรรคนี้ก็เคยเป่านกหวีดมาก่อนใช่หรือไม่? เรื่องนี้พรรคก้าวไกลต้องมีคำตอบที่ชัดเจน จะได้ไม่โดนตีกินหรือเป็นขี้ปากชาวบ้านไปเปล่าๆ
ที่นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) แถลงว่า พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายที่ติดต่อมายังพรรคชาติพัฒนากล้าเอง โดยเรียนเชิญให้ไปร่วมรัฐบาล เราไม่ได้ไปติดต่อใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งก่อนหน้าการเลือกตั้งเคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากเห็นการเมืองมีเสถียรภาพ อยากเห็นรัฐบาลเสียงข้างมาก และอยากเห็นการยึดถือประเพณีว่าใครได้คะแนนมากที่สุดต้องเป็นฝ่ายริเริ่มจัดตั้งรัฐบาลก่อน ดังนั้น เมื่อมีพรรคก้าวไกลติดต่อมา และพิจารณาจาก 3 ข้อในองค์ประกอบตามที่เคยกล่าวไว้ จึงตอบรับคำเชิญในหลักการ
นายสุวัจน์กล่าวว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ขาดคะแนนอยู่ประมาณกว่า 60 เสียง จึงเป็นหน้าที่ของพรรคชาติพัฒนากล้าให้การสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ จึงได้ตอบรับในหลักการไป แต่ยังต้องประชุมกรรมการบริหารพรรค เพราะการจัดรัฐบาลครั้งนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้ง เพราะที่ผ่านมาไม่มีเอ็มโอยู เป็นมิติใหม่ ฉะนั้นพวกเราจึงต้องศึกษาว่าเห็นด้วยกับกรอบเอ็มโอยูหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากเราต้องลงนามในเอ็มโอยูด้วย
โนพรอบเบลม
“เมื่อทางพรรคก้าวไกลได้แถลงเพิ่มเติมยุติการเจรจากับพรรคชาติพัฒนากล้าในการร่วมรัฐบาล ทางเราก็ no problem (ไม่มีปัญหา) เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนการตอบรับ ถือโอกาสนี้ขอบคุณพรรคก้าวไกลที่ให้เกียรติเรียนเชิญพรรคของเราร่วมรัฐบาล ทั้งที่เรามี 2 เสียง ซึ่งการตัดสินใจของเราก็ได้เพื่อการต่อรองอะไร เพราะมีเพียง 2 เสียง แต่เป็นการตัดสินใจเพื่อให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้ ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคที่จะขึ้นในวันจันทร์ที่จะถึง (22 พ.ค.) คงไม่ได้ประชุมกันแล้ว เพราะเขาขอยุติการเจรจา และตอนแรกที่นัดประชุมก็เพื่อพิจารณาเรื่องเอ็มโอยู” ประธานพรรคชาติพัฒนากล้าระบุ
ส่วนจะให้ ส.ส.โหวตให้ใครเป็นนายกฯ นั้น นายสุวัจน์กล่าวว่า จะต้องหารือกันก่อนภายในพรรค ที่ผ่านมา ชพก.ก็ตอบรับในหลักการ แต่เมื่อได้รับแจ้งยุติการเชิญและขอโทษมา เราก็ไม่ได้ผิดหวังอะไร ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และก่อนที่จะตอบรับ ตนก็ได้แจ้งให้นายกรณ์ จาติกวณิช หน.พรรคทราบแล้ว ซึ่ง หน.พรรคอยู่ระหว่างไปเที่ยวที่ออสเตรเลีย
"ยืนยันว่า ชพก.ไม่ได้น้อยใจหรือผิดหวังอะไร ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โนพรอบเบลม พรรคยังเป็นมิตรที่ดีต่อกันทุกพรรค"
ส่วนสาเหตุที่ ก.ก.ยุติการเชิญ ตนไม่ทราบ แต่ยอมรับว่าในทุกเวทีดีเบต ชพก. ยืนยันมาตลอดว่าจะคงมาตรา 112 ไว้ ไม่ไปแตะต้อง และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ถามด้วยว่า อนาคตพรรคจะร่วมรัฐบาลชุดใหม่หากพรรคการเมืองอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ นายสุวัจน์กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าพรรคอื่นเห็นว่าชาติพัฒนากล้าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ก็พร้อมพิจารณา และจะหารือในกรรมการบริหารพรรคตามขั้นตอนต่อไป
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "ซินเดอเรลลา กับ แกนนำพรรคก้าวไกล" ระบุว่า ความเห็นวิชาการต่อประเด็น “พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” ของพรรคก้าวไกล จากประเด็นที่มวลชนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล พากันออกมาปฏิเสธการให้พรรคชาติพัฒนากล้าเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม
ทำให้คุณพิธา หัวหน้าพรรคฯ ออกมาน้อมรับ และยืนยันหลักการ “พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค”
ผมมีประเด็นสำคัญที่พบจากการศึกษางานของนักวิชาการตะวันตกที่ศึกษาเรื่องพรรคการเมือง ดังนี้
นักวิชาการตะวันตกต่างมีข้อสังเกตที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของสมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่
กฎเหล็กแห่งคณาธิปไตย
อย่าง Ostrogorski เห็นว่า พรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมาก (mass-party organization) แม้ว่าจะมีข้อดีที่สมาชิกพรรคอาจจะเป็นตัวที่แก้ปัญหาข้อขัดแย้งในการประเมินตัดสินทางการเมืองที่แตกต่างกันในหมู่ผู้นำ และ ส.ส.ของพรรคได้
แต่ในมุมกลับ Ostrogorski ก็วิตกว่า ผู้นำ และ ส.ส.พรรคอาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสมาชิกพรรคที่เป็นองค์กรนอกรัฐสภา (extra-parliamentary organisations) และสมาชิกพรรคเหล่านี้ไม่ได้ต้องมีความรับผิดชอบต่อการผลักดัน หรือกดดันของพวกตนเท่ากับผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรค หรือ ส.ส.
ในขณะที่ Robert Michels ไม่เชื่อว่าจะเกิดสภาพเช่นนั้นกับพรรคการเมือง เพราะเขาเชื่อภายใต้ทฤษฎี “กฎเหล็กแห่งคณาธิปไตย” อย่างไรเสีย คณะบุคคลในพรรคจะมีอำนาจอิทธิพลที่สุด
ส่วน Seyd และ Whiteley เห็นว่า โดยทั่วไป สมาชิกพรรคและนักเคลื่อนไหวของพรรค (party members and activists) อาจเป็นได้ทั้ง “พวกสุดโต่ง” (extremists) หรือ “ทหารเดินเท้าที่รับคำสั่งอย่างเดียว” (unquestioning foot soldiers)
ซึ่งสำหรับ Seyd และ Whiteley สมาชิกพรรคการเมืองของอังกฤษเปรียบได้กับ “ซินเดอเรลลา” (Cinderellas)
จากความเห็นของนักวิชาการที่มีต่อบทบาทในพรรคการเมืองของสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นคนส่วนใหญ่ (the many) จะพบว่า
มีฝ่ายหนึ่งเกรงว่า สมาชิกพรรคอาจจะมีบทบาทมากเกินไปจนสร้างปัญหากับหัวหน้าพรรค และ ส.ส.ของพรรคที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและการเมืองภายใต้กรอบระบอบรัฐสภา
ในขณะที่สมาชิกพรรคที่เป็นคนหมู่มากนั้น ไม่ได้จะต้องรับผิดชอบต่อข้อเสนอของพวกตน และหากเกิดความผิดพลาด ก็ยากที่จะหาใครรับผิดชอบได้ท่ามกลางการลงมติของคนหมู่มาก
ส่วนอีกความเห็นหนึ่งก็ไม่วิตกว่า จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นตามหลัก “กฎเหล็กแห่งคณาธิปไตย”
และต่อมานักวิชาการกลุ่มหนึ่ง จึงเห็นว่า สมาชิกพรรคที่เป็นมวลชนมีสองสภาพ นั่นคือ
อาจจะเป็นมวลชนที่แข็งขันและสุดโต่ง หรือไม่ก็เป็นทหารเดินเท้าที่รับคำสั่งอย่างเดียว!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หาเสียงให้สนุก ‘พิธา’ เมินแพ้ซํ้า
เลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 พิษณุโลกคึกคัก พรรคประชาชนขนแกนนำช่วย "โฟล์ค" หาเสียงดาวกระจาย "เท้ง" ยันการเลือกตั้งท้องถิ่นกับเลือกตั้งระดับประเทศไม่เหมือนกัน
ผวาคดี ‘ลูกยังเล็ก’ ‘นายกฯอิ๊งค์’ วอนนักร้องอย่าจองกฐินยันก้าวข้าม ‘ทักษิณ’
"นายกฯ อิ๊งค์" นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.นัดพิเศษ ขอทุกคนน้อมนำพระบรมราโชวาทเป็นแนวทางการทำงานอย่างมุ่งมั่น ทำงานแข่งกับเวลาทุกวินาที เข้าถึงพี่น้องคนไทยอย่างเท่าเทียม
ซัด ‘มาดามแพ’ ไม่เหมาะ!
วิจารณ์ "มาดามแพ" ทำมินิฮาร์ตระหว่างถ่ายรูปร่วม ครม.หน้าตึกสันติไมตรี ไม่รู้กาลเทศะ "หมอวรงค์" ชี้กรณีถ่ายภาพในชุดปกติขาวซึ่งถือเป็นทางการต้องแสดงภาวะผู้นำ
เตรียมรับมือ ‘ยางิ’ 9-12 ก.ย. ฝนถล่ม
กรมอุตุฯ เผยไทยได้รับผลกระทบจาก "ยางิ" ฝนตกหนักช่วงวันที่ 9-12 ก.ย. ขณะที่กรมชลฯ แจ้งเตือน 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม
พปชร.รีแบรนด์! ลั่นเป็นหนึ่งเดียว
พปชร.คลอด 24 กก.บห.ชุดใหม่ “ไพบูลย์” แม่บ้านพรรค “วัน” โผล่นั่งด้วย “ประวิตร”
ให้ยึดคำถวายสัตย์ฯ ‘ในหลวง’พระราชทานพระราชดำรัสแก่‘คณะรัฐมนตรี’
“ในหลวง-พระราชินี” เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต