สอน‘ก้าวไกล’ ‘สุชาติ’ชี้อย่าเห็น‘ประธานสภาฯ’เป็นของพรรค

ไทยโพสต์ ๐ ยังซัดกันนัวเนีย "สุชาติ"   อบรมก้าวไกล ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ใช่ของพรรคการเมือง ใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้ วอนอย่ากล่าวหาสภาในทางเสียหาย เพราะเหมือนกับตำหนิการทำหน้าที่ของตัวเองด้วย "ณัฐวุฒิ" เตือนอย่าคิดว่าการต่อสู้จบลงแล้ว ประยุทธ์ไม่เคยพูดว่ายอมรับความพ่ายแพ้ ส่วน "จตุพร" ซัดเพื่อไทยแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นละครการเมือง เป็นการทรยศร้อยเปอร์เซ็นต์

     เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ   พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล และคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าประธานสภาฯ และนายกฯ สามารถใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการตรากฎหมายยิ่งกว่าเจตจำนงของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน และการอ้างว่าเป็นประเพณีที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในสภาจะได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ ก็ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงเสียทีเดียว เพราะในประวัติศาสตร์มีหลายครั้งที่ประธานสภาฯ ก็ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุด

     ที่ผ่านมาทุกสมัย ประธานสภาฯ จะมาจากการเลือกของเพื่อน ส.ส.ในสภา ไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นผู้เลือก และการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาฯ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางตามกรอบที่รัฐธรรมนูญตลอดจนข้อบังคับการประชุมสภาฯ กำหนด สำหรับการบรรจุวาระการประชุมสภารวมไปถึงวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ  ประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภา  การจะบรรจุร่าง พ.ร.บ.ของพรรคที่ตนเองสังกัดก็ต้องบรรจุตามลำดับ ประธานสภาฯ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกบรรจุตามอำเภอใจได้ และไม่มีสิทธิ์ที่จะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ที่บรรจุไปแล้วขึ้นมาพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องของที่ประชุมสภาต้องตกลงกัน

     “เข้าใจว่าขณะนี้มีความพยายามในการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯ กันระหว่างพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ซึ่งเป็นเรื่องการเจรจาต่อรองกันทางการเมืองที่เจรจากันเป็นการภายใน และพรรคก้าวไกลเองก็มีอดีต ส.ส.ร่วมทำหน้าที่ในสภาชุดที่แล้วหลายท่าน การกล่าวหาสภาในทางเสียหาย ก็เหมือนกับตำหนิการทำหน้าที่ของตัวเองด้วย จึงอยากให้ระมัดระวังการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสภา หรืออำนาจหน้าที่ของประธานสภาฯ ส่วนตัวผมก็มีคนเชียร์ว่าจะถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ ในสภาชุดนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับพรรคที่จะเสนอชื่อใคร และก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาด้วยว่าจะลงมติเลือกหรือไม่ แต่สาระสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ใครได้เป็นประธานสภาฯ เพราะความสำคัญอยู่ที่การที่สภาได้เริ่มทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาได้เมื่อใดมากกว่า” นายสุชาติกล่าว

     นายสุชาติยังได้กล่าวถึงวาระของ พรรคก้าวไกลที่ต้องการทำให้สภามีความโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ว่า ในสภาชุดที่ผ่านมา การประชุมสภาจะมีการถ่ายทอดสดการประชุมทุกครั้งทางสถานีวิทยุรัฐสภา คลื่น FM 87.5 เมกะเฮิรตซ์ และถ่ายทอดทางโทรทัศน์รัฐสภา TPTV ช่อง 10 รวมทั้งผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ตลอด 4 ปี ส่วนการประชุมของคณะกรรมาธิการนั้น จะมีทั้งข้อมูลที่เปิดเผยได้และเปิดเผยไม่ได้ การประชุมใดจะเป็นการลับหรือเป็นการเปิดเผย จึงขึ้นอยู่กับมติของสมาชิกคณะกรรมาธิการนั้นๆ

     เมื่อถามว่า ตามกระแสข่าวหากพรรคเพื่อไทยได้โควตาประธานสภาฯ จริง นายสุชาติอาจได้รับการเสนอชื่อ นายสุชาติ กล่าวว่า การลงมติเลือกผู้ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใด แต่เป็นการลงมติร่วมกันของ ส.ส.ทั้งสภา ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ส่วนตัวไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง และไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นอุปสรรคที่อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เพราะปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้ จึงอยากฝากไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เร่งพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อให้สภาเดินหน้าการทำงานได้โดยเร็ว

เปล่าต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี

     ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ออกมาระบุประเด็นสภาเป็นเกมที่เพื่อไทยต้องการใช้ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีว่า ไม่เป็นความจริง พรรคเพื่อไทยไม่คิดเอาตำแหน่งประธานมาเป็นเงื่อนไขต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะเป็นคนละส่วนกัน เก้าอี้รัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหารที่พรรคร่วมทั้ง 8 พรรคต้องมาหารือตกลงร่วมกัน โดยมีธรรมเนียมเรื่องการนำเก้าอี้ ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้มาเกลี่ยกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของตัวบุคคลในภารกิจนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่จะเอาแค่เก้าอี้มาเป็นตัวชี้วัดอย่างเดียว

     เขากล่าวว่า เรื่องนี้ทางพรรคร่วมคงต้องมีการหารือเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลจะได้เดินหน้าอย่างราบรื่น พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์ ไม่คิดจะเอาตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติมาเป็นเงื่อนไขในการต่อรองจนกระทบการทำงานของฝ่ายบริหารแน่   เพราะบ้านเมืองประสบปัญหามานาน เราต้องได้รัฐบาลที่กลมเกลียวไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ยืนยันเราไม่คิดที่จะเป็นคนสร้างเงื่อนไขให้การขับเคลื่อนรัฐบาลติดขัดแน่นอน

     นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยให้ได้ เพื่อนทะเลาะกันในขณะที่ต้องช่วยกันดับไฟ​ ก็ต้องดับไฟให้ได้ก่อน​ ระหว่างดับไฟอาจจะมีทะเลาะกันบ้าง​ แต่ก็ต้องช่วยกันดับไฟต่อไป เพื่อไทยจะไม่ถอนตัว​เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลเผด็จการกลับมา​ เพราะนี่คือสิ่งที่ประชาชนตัดสินใจเลือกเรามา

     ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า  "มองความจริงด้วยสายตาเชิงบวก การจัดตั้งรัฐบาลถือว่าเดินเร็วมากแล้ว รวมเสียงได้เกิน 300 ตำแหน่งนายกฯ จบชัด ครม.เบื้องต้นน่าจะลงตัว เพราะมีสื่อเอามาเปิดเผย ก็ไม่เห็นพรรคไหนปฏิเสธ

     เก้าอี้ประธานสภาฯ ที่ง้างกันอยู่ ขาเดิมพันวงนอกน่าจะหรี่เสียงลง ให้เขาไปจบในวงเจรจา รอบนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ที่พรรคอันดับ 1 กับ 2 อยู่คนละขั้ว แต่เที่ยวนี้เป็นฝ่ายเดียวกัน เงื่อนไขข้อตกลงจึงแตกต่าง แต่ถึงที่สุดเชื่อว่าหาข้อยุติกันได้

อย่าคิดว่าการต่อสู้จบลงแล้ว

     กองเชียร์กระทบกระทั่งกันไม่ใช่เพิ่งเกิด เป็นมาพักใหญ่แล้ว และเชื่อว่าจะเป็นต่อไป มวยหลักแต่ละฝ่ายอย่าขึ้นเวทีเซิ้งด้วยก็พอ ฟิตซ้อมเตรียมความพร้อม รอสู้กันใหม่ในสนามเลือกตั้ง เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

     ที่ประมาทไม่ได้คือระหว่างที่กำลังเจรจา อย่าคิดว่าการต่อสู้จบลงแล้ว ประยุทธ์ไม่เคยพูดว่ายอมรับความพ่ายแพ้ ไม่บอกว่าตัวเองคือนายกฯ รักษาการ แต่พูดทุกวันว่ายังเป็นนายกฯ อยู่ องคาพยพทั้งหลายยังครบ เขาไม่จบง่ายๆ  แน่

     ระวังกล้วยจะไหลเข้าแต่ละบ้าน ฝ่ายเรามี 312 เสียง ต้องการ ส.ว.อีก 64 จะตั้งนายกฯ ได้ ฝ่ายโน้นเขามี 188 เสียง ต้องการ ส.ส.อีก 62 เสียงจะได้ 250 ไม่ใช่เสียงข้างน้อย ของจริงกับของปลอมมีปนกันอยู่ทุกพรรค แอบซื้อแอบขาย แล้วเสนอชื่อประยุทธ์ไปโหวตแข่งวัดใจกันในสภา เรื่องที่คิดว่าง่ายจะกลายเป็นยาก

     สำนวนกำลังภายในว่า “วิกาลยาวนานฝันยุ่งเหยิง” การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่าประมาทเผด็จการ

     ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "ทรยศ?" โดยกล่าวว่า พรรคก้าวไกลขณะนี้เสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมของนักเลือกตั้ง แม้ชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่ง 151 เสียง แต่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง จึงไม่มีพรรคใดอยากร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล

     “สิ่งแปลกปลอมอย่างพรรคก้าวไกลทำให้นักการเมืองปล้นไม่สะดวก จึงไม่มีพรรคใดอยากจับมือด้วย แต่ขณะนี้ที่ต้องจับมือกัน เพราะสังคมบีบกดให้ต้องจับมือ  จึงทำตัวลู่กระแสประชาชน”

     ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ นั้น นายจตุพรกล่าวว่า ไม่มีประวัติศาสตร์การเมืองบ่งบอกไว้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติให้พรรคเสียงอันดับสองได้ตำแหน่งนี้ ยกเว้นแต่เป็นคนกลางอย่างนายอุทัย พิมพ์ใจชน จากพรรคก้าวหน้า ได้รับเลือกเพียง 3 เสียง แต่ได้เป็นประธานสภาฯ ปี 2526 จากการเสนอของพรรคชาติไทยที่ได้เสียงในช่วงนั้นมาอันดับหนึ่ง 110 เสียง

พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

     ส่วน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ จากพรรคสามัคคีธรรม พรรคอันดับหนึ่ง เป็นประธานสภาฯ ปี 2535 แล้วแหวกกระแสนายกฯ เลือกตั้งช่วงการชุมนุมพฤษภา 2535 นำคนนอกไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งอย่างนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯ ซึ่งประชาชนก็เชียร์ลั่นอีก

     นายจตุพรกล่าวว่า กรณีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ครั้งล่าสุด (ปี 2562-2566) แม้พรรคประชาธิปัตย์ช่วงเลือกตั้งปี 2562 มี 52 เสียง เป็นพรรคอันดับสี่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ลาออกรับผิดชอบพรรคได้เสียงน้อยลง

     ประกอบกับจุดยืนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนหัวหน้าพรรคใหม่ ได้เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยได้ตำแหน่งประธานสภาฯ มาแลกเปลี่ยน จึงทำให้นายสุชาติ ตันเจริญ ขณะอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลต้องยอมสละมาเป็นรองประธานอันดับหนึ่งแทน

     อีกทั้งระบุว่า ความชัดเจนในช่วง 20 ปีตั้งแต่ปี 2535 มาถึงปัจจุบัน (ยกเว้นปี 2562) ไม่เคยมีประวัติศาสตร์บ่งบอกว่า พรรคร่วมรัฐบาลอันดับสองได้เป็นประธานสภาฯ ดังนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยต้องการล้มกระดานพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จึงเป็นเกมที่ส่งสัญญาณจากคนเบื้องหลังมาหัวแถวยันปลายแถว หาเหตุอ้างถอนตัวเป็นฝ่ายค้านมาขู่เพื่อจะเอาตำแหน่งประธานสภาฯ

     “หากพรรคเพื่อไทยถอนตัวจากร่วมรัฐบาลได้จริงแล้ว คงไม่ได้เป็นฝ่ายค้านจริง แต่ที่จริงคือพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้นการหาทางหลุดออกจากพรรคก้าวไกลโดยให้สภาโหวตเลือกประธานสภาฯ ย่อมเท่ากับเป็นการสมคบ ทรยศพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจน และพรรคเพื่อไทยก็จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ไปครอง เมื่อพรรคก้าวไกลคือสิ่งแปลกปลอมทางการเมือง ดังนั้นทุกพรรคจาก 188 เสียงคงเทเลือกเพื่อไทยได้ประธานสภาฯ”

     นายจตุพรกล่าวว่า เมื่อประธานสภาฯ มาอยู่กับพรรคเพื่อไทยแล้ว ละครการเมืองฉากสองของพรรคเพื่อไทยจะเริ่มบทแสดงด้วยหน้ามึนๆ อยู่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลตามเดิม ถัดจากนั้นจะออกอาการอึดอัด ก่อหวอดแตกแยกอีก เสมือนตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่อ้างประเทศต้องมีรัฐบาลบริหาร พรรคเพื่อไทยก็เข้าทาง ได้โอกาสย้ายขั้วไปอีกฟาก จับมือ พปชร.กับพรรคภูมิใจไทยตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ สำเร็จตามความต้องการเจ้าของพรรคที่อยากกลับบ้าน แต่คงไม่ง่ายตามสมใจหวัง เพราะพรรคภูมิใจไทยอาจไม่สบายใจ

เป็นการทรยศร้อยเปอร์เซ็นต์

     "ดังนั้น เพื่อไทยแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯ จึงเป็นละครการเมือง เป็นการทรยศร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องทำเพราะเจ้าของพรรคสั่งให้ทำ และต่อไปกองเชียร์เพื่อไทยจะไม่อดทนกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง อีกเช่นกัน ที่ออกมาเตือนสติพรรคเพื่อไทยให้ร่วมจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล”

     อย่างไรก็ตาม นายจตุพรมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ถูกพรรคก้าวไกลกระทำการเอาเปรียบอะไรตามที่เพื่อไทยกล่าวอ้างเป็นเสียงเดียวทุกแพลตฟอร์มสื่อสาร เพราะเพื่อไทยเป็นพรรคได้เสียงอันดับสอง และได้รับมอบกระทรวงเกรดเอไปดูแลอีกด้วย ดังนั้น การอ้างเอาเปรียบ กินรวบ จึงไม่เป็นความจริง

     “ทั้งหมดความไม่พอใจของเพื่อไทยมันเป็นเกม และเรื่องไม่ได้เกิดจากพรรคก้าวไกลเลย อีกทั้งไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติให้พรรคอันดับหนึ่งได้นายกฯ แล้วพรรคอันดับสองต้องได้ประธานสภาฯ ดังนั้น เรื่องนี้เพื่อไทยหาเรื่องล้มกระดานตั้งรัฐบาลก้าวไกลมากกว่า”

     นายจตุพรย้ำว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยต้องการหาเรื่องแล้ว ทั้งที่การแบ่ง ครม.นำมาหาเรื่องไม่ได้ จึงมีทางเดียว ต้องแย่งเอาประธานสภาฯ ให้ได้ ดังนั้นการออกมาทุกเสียงของพรรคเพื่อไทยคือสัญญาณเดียวให้ล้มกระดานพรรคก้าวไกล

     “เป็นการกระทำที่ไม่แฟร์ ต่อหน้าร่วมแถลงข่าวใหญ่โต ลับหลังเป็นอีกอย่าง ทรยศกัน ซึ่งจะอยู่อย่างไร มันจะยุ่งกันไปใหญ่ แล้วพรรคเพื่อไทยก็ย่อยยับ ถูกกลุ่มอำนาจกำจัดเช่นกันในคิวต่อไป ถึงขั้นอาจถูกยุบพรรค”

     ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้ "ขณะที่ประเทศอเมริกามี 2  พรรคใหญ่คือพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ซึ่งกลุ่มทุนยิวไซออนิสต์อยู่เบื้องหลังทั้งคู่

     ต่อไป พรรคการเมืองในประเทศไทยจะเหลือแค่ 2 พรรคใหญ่ๆ เท่านั้น คือพรรคที่เป็นหุ่นเชิดชาตินักล่าอาณานิคมตะวันตกและพรรคที่มีอุดมการณ์ชาตินิยม ซึ่งต้องการให้ประเทศเป็นไทจากชาตินักล่าอาณานิคม

     ในที่สุด พรรคที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมนี้ก็จะถูกบีบให้เลือกข้าง ไปเข้าข้างรัสเซียและจีน ซึ่งมีอุดมการณ์อย่างเดียวกันจนได้ ถ้าพรรคที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมคัดเลือกแต่นักการเมืองน้ำดีซึ่งมีอุดมการณ์จริงๆ ประวัติไม่มีด่างพร้อยมาอยู่ พรรคจะเจริญก้าวหน้า มีคนศรัทธามากยิ่งขึ้นและเอาชนะคู่แข่งได้โดยลำดับ".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง