ดำเนินคดีบริษัทก่อมลพิษ นํ้ามันขยายวงพัดเข้าหาด

น้ำมันดิบรั่วเป็นเหตุการณ์รุนแรงระดับชาติ กรมเจ้าท่าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีบริษัทผู้ก่อมลพิษแล้ว ตั้งคณะทำงาน 5 ชุด แก้ปัญหาพร้อมเยียวยาผลกระทบ ล่าสุดคราบน้ำมันขยายวงโผล่ที่หาดเภตรา หาดแหลมเจริญ และอ่าวพร้าว หมู่เกาะเสม็ด

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ที่สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (ศปส.จท.) ได้เปิดแถลงข่าวกรณีท่อน้ำมันรั่วไหลกลางทะเลของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)

นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย  แถลงว่า กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล จังหวัดระยอง นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงระดับชาติ เพราะสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรและประชาชน ซึ่งตามแผนได้กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันเป็นผู้สั่งการสูงสุด มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน โดยแบ่งโครงสร้างหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

1.คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน  เป็นหน่วยงานสั่งการหลัก 2.กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดตั้งศูนย์ประสานงาน 3.กองทัพเรือ/กรมเจ้าท่า จัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ 4.กองทัพเรือ/กรมเจ้าท่า/ส่วนราชการจังหวัด/กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน ทำหน้าที่หน่วยปฏิบัติการ 5.กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นหน่วยสนับสนุน

อีกทั้งกรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง มีการออกคำสั่งระงับใช้งานทุ่นเทียบเรือ Single Point Mooring (SPM) ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด จนกว่าจะมีการแก้ไขตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคง และความพร้อมของท่อขนส่งน้ำมันใต้น้ำให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 100% และประกาศกรมเจ้าท่า ฉบับที่  4/2565 แจ้งเตือนให้ผู้เดินเรือระมัดระวังการเดินเรือ บริเวณทุ่นเทียบเรือ SPM จังหวัดระยอง

รองอธิบดีกรมเจ้าท่าเผยว่า กรมเจ้าท่า ในฐานะผู้เสียหายในฐานความผิดของบริษัทสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) กรณีน้ำมันรั่วไหลจากทุ่นผูกเรือน้ำลึกหรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับกรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) จนคดีถึงที่สุด โดยฐานความผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดมลพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ อันเป็นความผิดตามมาตรา 119  ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456  แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่  14) พ.ศ.2535

 พล.ร.ต.อาทร ชะระภิญโญ รอง ผบ.ทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวว่า  จากการสำรวจจากเรือลาดตระเวน พร้อมกับสำรวจทางอากาศยานและภาพถ่ายดาวเทียมไม่พบคราบน้ำมันแล้ว และเฝ้าระวังตามแนวชายหาด  17 จุดยังไม่พบคราบน้ำมัน ส่วนการแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันในทะเลยังคงมีการกางบูม 4 ชุดเพื่อป้องกันคราบน้ำมันลอยไปยังอ่าวบ้านเพ และอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และมีเรือสังเกตการณ์คราบน้ำมันในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย

ด้านนายธวัช เจนการ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-เกาะเสม็ด กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีความกังวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพืชทางทะเล ทรัพยากรใต้น้ำที่มีความหลากหลาย โดยมีหญ้าทะเลและปะการัง 65,000 ไร่ โดยเฉพาะเกาะเสม็ดที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นฟูจากน้ำมันรั่วครั้งแรกปี 2556 จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ให้เจ้าหน้าที่ลงดำน้ำสำรวจการเปลี่ยนแปลงปะการัง สัตว์น้ำใต้น้ำ ซึ่ง 3 วันแรกยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด  พร้อมจัดสายตรวจเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนทุกวัน ซึ่งในส่วนพื้นที่ของอุทยานฯ พบหาดแม่รำพึงได้รับผลกระทบ เบื้องต้นได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองระยอง เอาผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ  และ พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมกับจะมีการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อแจ้งความเอาผิดเพิ่มเติมต่อไป

วันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีคราบน้ำมันลอยมาขึ้นที่ชายหาดเภตรา ม.2 ต.เพ อ.เมืองระยอง จึงเดินทางไปตรวจ เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณศาลาเขียว ม.2 ชายหาดเภตรา ห่างจากหาดแม่รำพึงประมาณ 10 กิโลเมตร พบเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบ้านเพอยู่ริมหาด  พอเข้าไปบริเวณชายหาดพบคราบน้ำมันสีดำบางๆ ลอยเข้ามาเกาะหาดทราย จนทำให้ชายหาดเป็นสีดำเป็นหย่อมๆ โดยกินเนื้อที่ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร

นายสมัคร เถกิงสุข รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเพ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าคราบน้ำมันลอยเข้ามาตั้งแต่ช่วงเช้า แต่จะเข้ามาแบบผงสีดำ ซึ่งยังเป็นคราบบางๆ แต่พัดเข้ามาตลอดเวลา จึงได้ประสานให้บริษัทรับทราบเพื่อหาวิธีกำจัดต่อไป เช่นเดียวกับที่หาดแหลมเจริญ ต.ปากน้ำ อ.เมืองระยอง ห่างจากหาดแม่รำพึงประมาณ  20 กิโลเมตร ซึ่งมีคราบเขม่าถูกซัดเข้ามาพร้อมกับระลอกคลื่น แต่ก็เป็บแบบบางๆ ยังไม่หนาแน่น ส่วนที่บริเวณชายหาดแม่รำพึงและชายหาดก้นอ่าวยังไม่มีคราบน้ำมันเข้ามาเพิ่ม แต่ยังคงมีเจ้าหน้าที่วางบีชบูมสกัดบริเวณหาดก้นอ่าว

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า เริ่มมีคราบน้ำมันลักษณะเป็นผงฝุ่นบางส่วนลอยมาบริเวณอ่าวพร้าว  หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยองแล้ว โดยทิศทางคลื่นและลมทะเลที่ประเมินจาก Gistda คาดการณ์ว่าคราบน้ำมันจะพัดเข้าอ่าวพร้าววันนี้ (31  ม.ค.65) แต่ยังไม่สามารถประเมินปริมาณคราบน้ำมันได้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน

ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นพัดคราบน้ำมันกลางทะเลเข้าบนชายหาดตลอดระยะทางยาวกว่า 4 กิโลเมตร จนทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าเก็บคราบน้ำเป็นเวลาติดต่อกัน 2 วัน ส่วนทางจังหวัดได้ประกาศปิดพื้นที่ชายหาดจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นว่า ขณะนี้สภาพน้ำทะเลเริ่มใสมากขึ้นและใกล้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังปริมาณน้ำมันที่ถูกคลื่นซัดเข้าพื้นที่เริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 30 ม.ค.

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เข้าไปตรวจสอบวิเคราะห์โลหะหนัก แคดเมียม ปรอท และตะกั่วในอาหารทะเลสด โดยเก็บตัวอย่างอาหารทะเลซึ่งกำหนดในแต่ละชนิดที่ประชาชนนิยมบริโภค  อาทิ หอยแครง, ปลาชนิดต่างๆ, หอยแมลงภู่ตามจุดต่างๆ และนำไปตรวจสารเคมีปนเปื้อน ในภาพรวมอยู่ในค่าไม่เกินมาตรฐาน อาจจะมีที่มีค่าสูงเกินอยู่เล็กน้อยในปลาและหอยแครง ที่ค่าใกล้เคียงว่าเกินมาตรฐาน แต่ในส่วนอื่นก็ยังเป็นปกติและไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค

 “หากเจอว่าเกินค่ามาตรฐานก็ต้องให้ข้อมูลว่า การตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เจอชนิดไหน กลุ่มไหน ทีนี้ในส่วนของจังหวัดจะต้องรับเรื่องในส่วนนี้ไปประกาศเตือน และเป็นไปตามกฎหมายของจังหวัดว่าจะห้ามบริโภคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจังหวัด ซึ่งจะส่งข้อมูลไปให้สาธารณสุขจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัดก็จะไปประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่” นายสาธิตกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง