ว่างงาน6.3แสน หนี้ครัวเรือนเพิ่ม รัฐฟุ้งกระตุ้นศก.

“สภาพัฒน์” เปิดข้อมูลไตรมาส 4/64 ภาพรวมการจ้างงาน 37.9 ล้านคน ว่างงาน 6.3 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อน หลังโควิดคลี่คลายจับตาแนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังเพิ่ม โฆษกรัฐบาลเผยยอดใช้จ่ายจากโครงการลดค่าครองชีพของรัฐพุ่งแล้วกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันจันทร์ น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยในไตรมาส 4/2564 ว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4/2564 พบว่าการว่างงานลดลงต่ำสุดตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ภาพรวมการจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 37.9 ล้านคน ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากการลดลงของกำลังแรงงาน  ขณะที่อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 97.6% รวมถึงปีก่อนหน้าที่  98.0% สะท้อนสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น 

โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.64% ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 6.3  แสนคน เป็นการลดลงของจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ที่ลดลง 21.7% ขณะที่แรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น 4.1% โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีสัดส่วนถึง 49.3% ของผู้ว่างงานจบใหม่ทั้งหมด การว่างงานในระบบปรับตัวดีขึ้น โดยสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่ที่  2.27% ลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน

สำหรับการจ้างงานภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 12.6  ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.3% จากการเลื่อนการเพาะปลูกจากไตรมาส 3 ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมาเป็นไตรมาสปัจจุบัน และแรงจูงใจจากราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ปรับตัวดีขึ้น นอกภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 25.3 ล้านคน ลดลง 2.1% จากการลดลงของการจ้างงานในสาขากิจการโรงแรมและบริการอาหารซึ่งลดลง 7.9% ส่วนสาขาก่อสร้างที่มีการจ้างงานลดลง 6.9% รวมทั้งสาขาการผลิตที่มีการจ้างงานลดลง 1.2% โดยเป็นการลดลงในสาขาการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง 

สำหรับหนี้สินครัวเรือนในไตร 3/2564 อยู่ที่  14.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 90.6% ของจีดีพี ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ต้องเฝ้าระวังการเกิด NPLs เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.89% ลดลงจาก  2.92% ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าระวังปัญหาหนี้เสียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ หรือสินเชื่อค้างชําระไม่เกิน 3 เดือนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้ครัวเรือนอาจส่งผลให้หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ต้องเฝ้าระวังการเกิด NPLs เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.89% ลดลงจาก 2.92%  ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าระวังปัญหาหนี้เสียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ หรือสินเชื่อค้างชําระไม่เกิน 3 เดือนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลต่อสินเชื่อรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้ครัวเรือนอาจส่งผลให้หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ ระยะถัดไปหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  โดยมีสาเหตุจาก 1.ครัวเรือนรายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม 2.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีนโยบายในการขับเคลื่อนทุกกลไกเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยุคที่ต้องเผชิญกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 โดยรัฐบาลได้มีมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายประจำวันของประชาชน เป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งความคืบหน้ายอดค่าใช้จ่ายในรอบปีใหม่นี้  (2565) ข้อมูล ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 40.12 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม  47,708.21 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง  ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 25.91 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 44,872.9 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 22,781.2 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม  22,091.7 ล้านบาท 2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.06  ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,606.01 ล้านบาท และ  3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.15 ล้านคน  ยอดใช้จ่ายสะสม 229.30 ล้านบาท

นายธนกรกล่าวว่า สำหรับการเปิดลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 4 รอบนี้ ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก  กดลงทะเบียนอย่างรวดเร็ว ทำให้เต็ม 29 ล้านสิทธิ์เพียงไม่มีวันที่เปิดให้ลงทะเบียนได้ โดยประชาชนสามารถใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 ทั้งนี้ขอให้ประชาชนกลุ่มเดิม (คนละครึ่งเฟส 3) รีบสแกน “เป๋าตัง”  และใช้จ่ายภายในวันนี้ (28 ก.พ.65) เวลา 22.59  น. หากพ้นกำหนดดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ์ ซึ่งขณะนี้มีประชาชนกลุ่มเดิมที่ยังไม่ได้เริ่มใช้สิทธิ์ประมาณ 2.9  ล้านราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง