'ดร.สามารถ' กางข้อเท็จจริงตบหน้าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เรื่องหั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้า

'ดร.สามารถ' กางอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เห็นๆ ที่ไปที่มาใครลงทุนคิดราคาเท่าไหร่ ชี้ไม่ได้ดิสเครดิตผู้สมัครผ่าฯ กทม.แต่แค่เตือนสติประชาชนที่จะไปหย่อนบัตร

18 พ.ค.2565 - ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ช็อก ! ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว” มีเนื้อหาว่า เป็นที่ประหลาดใจไปตามๆ กัน เมื่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคนหาเสียงว่าจะไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอส แต่จะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงเหลือต่ำมาก เช่น 20 บาท ตลอดสาย หรือ 20-25 บาท เป็นต้น มีผู้สนใจหลายคนถามผมว่าจะเป็นไปได้หรือ ?

1.ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายไหนแพงที่สุด และสายไหนถูกที่สุด ?
ผมได้เปรียบเทียบค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายต่างๆ พบว่า ค่าโดยสารต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ของสายสีม่วงแพงที่สุด และของสายสีแดงถูกที่สุด ตามด้วยของสายสีเขียวถูกรองลงมา โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.1 สายสีเขียว
หากมีการต่อสัญญาให้ผู้รับสัมปทานคือบีทีเอส ค่าโดยสารจะอยู่ระหว่าง 16-65 บาท ใช้น้อยจ่ายน้อย ใช้มากจ่ายมาก แต่ไม่เกิน 65 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างคูคต-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 53 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.23 บาท (65/53) รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยบีทีเอส

1.2 สายสีน้ำเงิน
ค่าโดยสาร 17-42 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างสุทธิสาร-หลักสอง ระยะทาง 26 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.62 บาท (42/26) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นการลงทุนโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประมาณ 80% และผู้รับสัมปทานคือบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ประมาณ 20%

1.3 สายสีม่วง
ค่าโดยสาร 17-42 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างเตาปูน-บางใหญ่ (คลองบางไผ่) ระยะทาง 23 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.83 บาท (42/23) รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดย รฟม.

1.4 รถไฟฟ้าสายสีแดง
ค่าโดยสาร 12-42 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างรังสิต-ตลิ่งชัน ระยะทาง 41 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.02 บาท (42/41) รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

1.5 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
ค่าโดยสาร 15-45 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 45 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.5 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.58 บาท (45/28.5) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เป็นการลงทุนทั้งหมดโดย รฟท.

2.ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เสนอโดยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคน ถูกที่สุด !
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เสนอโดยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคน ซึ่งหาเสียงว่าจะไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอส แต่จะลดค่าโดยสารลงเหลือต่ำมาก เช่น 20 บาท ตลอดสาย หรือ 20-25 บาท เป็นต้น ค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสาย หรือสูงสุด 25 บาท ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างคูคต-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 53 กิโลเมตร ในกรณีค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสายนั้น หากคิดเป็นค่าโดยสารต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร จะได้เท่ากับ 0.38 บาท (20/53) ถือว่าเป็นค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ถูกที่สุด !

3. สรุป
ผมอยากให้ท่านผู้อ่านพิจารณากันเอาเองว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคนที่จะไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอส แต่จะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงเหลือต่ำมากนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ ? อย่างไร?

ผมเขียนบทความนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะดิสเครดิตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนใดทั้งสิ้น ในทางกลับกัน หากผู้เสนอได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมขอเป็นกำลังใจให้ท่านสามารถลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้สำเร็จ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้โดยสารทุกคน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.สามารถ' ถาม 'กพท.' ไหนว่าจะลดค่าตั๋วเครื่องบิน แนะกำหนดเพดานค่าโดยสารต่อกม.

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ไหนว่าจะลดค่าตั๋วเครื่องบิน มีเนื้อหาดังนี้

จับตา 17 ม.ค. 'สภากทม.' เคาะเคลียร์หนี้สายสีเขียว

17 ม.ค.นี้ สภา กทม.สางปัญหารถไฟฟ้า จ่อพิจารณาหนี้ติดตั้งระบบส่วนต่อขยาย “สายสีเขียว” กว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ด้าน “ชัชชาติ” เสนอขออนุมัติงบศึกษา ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน 1.4 หมื่นล้าน

เด็กเฮ! บีทีเอส-สายสีทอง-บีอาร์ที เปิดให้นั่งฟรีตลอดสาย

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ โดยปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด