คณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการ หนึ่งในนั้นก็มี โครงการฝายคลองลิพังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ 5 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ในการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติบริเวณแหล่งต้นน้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์และมีความสมดุลทางระบบนิเวศ พร้อมขยายพื้นที่รับประโยชน์ และจัดทำแหล่งเรียนรู้ชุมชนในการพัฒนาตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือนให้แก่ราษฎร
นายสุเมธา สมแสง ราษฎรหมู่ที่ 5 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เปิดเผยว่า อดีตที่นี่จะขาดแคลนน้ำ แต่ปัจจุบันมีน้ำสมบูรณ์ ทำให้การประกอบอาชีพสะดวกสบายไม่ขัดสน ราษฎรส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักแบบผสมผสาน ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลองกอง มังคุด ทุเรียน มีน้ำเพียงพอไม่ขาดแคลน ทำให้ได้รับผลผลิตที่ดีและสมบูรณ์ นอกจากนี้คนที่อาศัยอยู่ริมคลองส่งน้ำจะสามารถเลี้ยงปลาในกระชังทำให้มีกิน มีรายได้อีกทางหนึ่งอีกด้วย
“ตอนนี้น้ำไม่ขาดแคลน พระองค์พระราชทานโครงการฝายมาให้ ทำให้เก็บกักน้ำและยกระดับน้ำขึ้นมาสูงขึ้น จึงมีน้ำสำรองใช้ได้ตลอดปี แม้ในหน้าแล้งสามารถส่งน้ำให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง แต่พวกเราก็ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อป้องกันการขาดแคลน ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยทางปลายน้ำได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอด้วย” นายสุเมธา สมแสง กล่าว
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายคลองลิพังฯ หมู่ที่ 5 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่นายจิตร หนูหมาด ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลลิพัง ได้ขอพระราชทานโครงการระบบประปาภูเขา เพื่อส่งน้ำไปช่วยเหลือราษฎร รวม 6 หมู่บ้าน ซึ่งประสบความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปจะเป็นที่ราบเนินเขา สลับกับเทือกเขาสูง สภาพลุ่มน้ำมีความลาดเทจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ได้แก่ สวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา พืชผักสวนครัว สวนผลไม้ ปลูกบ้านพักอาศัยกระจายอยู่ทั่วไปบริเวณที่ราบสองฝั่งถนนภายในหมู่บ้าน ปัจจุบันโครงการสามารถช่วยเหลือราษฎรในตำบลลิพัง จำนวน 800 ครัวเรือน ประชากร 4,000 คน มีน้ำใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี นอกจากนี้ราษฎรได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำ เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกครัวเรือน
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่งปาหนัน หมู่ที่ 2 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการ โดยรับฟังสรุปผลการดำเนินงานและการต่อยอดโครงการ จากผู้แทนกรมชลประทานและจังหวัดตรัง พร้อมพบปะราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ
การนี้ นายมณี รักดี หนึ่งในราษฎรผู้ใช้น้ำ และเป็นผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่าภายในศูนย์จะมีแปลงปลูกมะละกอ กล้วย มะพร้าว ดาหลา มะม่วง สตอ โดยปลูกแบบผสมผสาน มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาให้คำแนะนำและช่วยดูแลอย่างต่อเนื่อง “ภายในศูนย์มีการสาธิตการบำรุงรักษาต้นพืชที่ปลูกอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันรักษาโรค พืช เช่นเชื้อรา ป้องกันแมลง โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้ฮอร์โมนบำรุงต้นพืชชนิดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามาศึกษาดูงานแล้วนำกลับไปใช้ที่บ้านของตนเองต่อไป ” นายมณี รักดี กล่าว
ทั้งนี้มติที่ประชุมคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมหนุมาน 1 สำนักงาน กปร. โดยมี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการฯ ที่เสนอเป็นโครงการต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่ภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ โดยในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง มีโครงการฝายคลองลิพังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมอยู่ด้วย โดยจะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติบริเวณแหล่งต้นน้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์เกิดความสมดุลทางระบบนิเวศเพื่อให้ราษฎรใน ตำบลลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ได้รับน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพสำหรับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้ชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ
โดยพื้นที่ต้นน้ำจะก่อสร้างฝายต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ ฟื้นฟูกลุ่มผู้ใช้น้ำและพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม พื้นที่ปลายน้ำก่อสร้างท่อส่งน้ำ สายที่ 6.1 และ 7 ก่อสร้างระบบกรองน้ำผิวดิน จำนวน 1 แห่ง ก่อสร้างถังน้ำใส จำนวน 1 แห่ง ก่อสร้างถังเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง และก่อสร้างถังแชมเปญ จำนวน 1 แห่ง พร้อมสนับสนุนแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน จัดทำแปลงศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (เกษตร ประมง ปศุสัตว์) ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ถ่ายทอดองค์ความรู้และศึกษาดูงานของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเอง เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้ชุมชนเกี่ยวกับการพัฒนาตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน A Good Digital Citizen “ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน”
9 ตุลาคม 2567, กรุงเทพฯ - สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เตรียมความพร้อมให้ประชาชนก้าวสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ หวังประชาชนทุกคนมีทักษะดิจิทัล และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีร่วมกัน จับมือเครือข่ายหน่วยงานภาคี จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน A Good Digital Citizen“ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน
อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนให้ราษฎร จ.อุตรดิตถ์
ภายหลังจากรัฐบาลเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ที่บ้านผาซ่อม ต.ผาเลือด อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์
‘กัลฟ์’ ผนึก ‘ทันตะ จุฬาฯ’ เดินหน้าโครงการ GULF Sparks Smiles ปี 4 พร้อมให้บริการทำฟันฟรีส่งท้ายปี วันที่ 17 ต.ค. ที่ คณะทันตะ จุฬาฯ
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ กัลฟ์ ร่วมมือกับ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมเดินหน้าให้บริการหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่
DAD ตอกย้ำ “เป็นผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้กับภาครัฐ”
ภารกิจของ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ DAD Asset Development นอกจากการพัฒนาและบริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ
เดอะวิสดอมกสิกรไทย จัดกาลา ดินเนอร์ แห่งปี เรื่องราวเอ็กซ์คลูซีฟระดับโลกที่เต็มด้วย Passion ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
เดอะวิสดอมกสิกรไทย จัดงาน THE WISDOM GALA DINNER ด้วยคอนเซปต์ The Legends to the New Eras ซึ่งสร้างสรรค์ความพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ
เดินหน้ายกระดับงาน Sustainability Expo 2025 ผลักดันการลงมือทำเพื่อความยั่งยืน
“เราไม่ได้ปิดงาน แต่เป็นการ Launching Forward ไปสู่ SX2025” คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานอำนวยการ SX2024 กล่าวในการปิดฉากงานมหกรรมด้านความยั่งยืน