เที่ยวแฟรงก์เฟิร์ตกับตำนานมีชีวิต


เพิ่มเพื่อน    

Romer ศาลาว่าการนครแฟรงก์เฟิร์ต

มื้อค่ำวันนี้ “พี่แก้ว” หญิงไทยเพื่อนรุ่นพี่ที่มาตั้งรกรากอยู่ในนครแฟรงก์เฟิร์ตนานกว่า 10 ปี พาไปเลี้ยงต้อนรับที่ร้าน “อิ่มอร่อย” ร้านอาหารไทยย่านใจกลางเมือง เธอมีเพื่อนคนไทยมาร่วมโต๊ะด้วย 3 คน และฝรั่งหนุ่มชาวโครแอตอีก 1 คน พี่แก้วสั่งอาหารมาเต็มโต๊ะ กินจนอิ่มพุงกางกันถ้วนหน้า

จากนั้นเธอชวนไปดื่มแก้ง่วงที่ร้านชื่อ Good Time with Good Friends ด้วยชื่อที่ยาวไปแขกที่มาร้านนี้มักจะเรียกว่า “โอเน นาเมน” (Ohne Namen) แปลว่า “ไม่มีชื่อ” ไปเสียอย่างนั้น เพื่อนๆ ของพี่แก้วแยกย้ายกันกลับบ้านไปก่อน เหลือ “แดนนี่” หนุ่มโครแอตที่เกิดในเยอรมนี และ “ซาร่า” นักศึกษาสาวชาวเยอรมันที่ตามมาสมทบ แดนนี่และซาร่ารู้จักกันจากงานจัดเลี้ยงที่ทั้งคู่รับจ๊อบเป็นบาร์เทนเดอร์และคนเดินโต๊ะ

แดนนี่เป็นพี่ชายของแฟนเก่าพี่แก้ว เขาอายุ 32 ปี พี่แก้วอายุมากกว่านั้นอีกหลายปี หลังจากพี่แก้วและน้องชายแดนนี่คบกันอยู่ราว 3 ปี หนุ่มน้อยก็มีแฟนใหม่วัยเอ๊าะ แล้วให้เหตุผลในการเลิกราว่า “เธอแก่เกินไปสำหรับฉัน” หมอใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะรู้ตัวว่าแฟนที่คบกันอยู่อายุมากไปสำหรับตัวเอง ซึ่งไม่น่าจะใช่เหตุผลที่แท้จริง

แฟนใหม่ของน้องชายแดนนี่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ร่วมแฟลตเดียวกัน แดนนี่รู้สึกอึดอัดอีกทั้งไม่ชอบแฟนใหม่ของน้องชาย พี่แก้วทราบถึงปัญหานี้จึงอนุญาตให้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยด้วยเป็นการชั่วคราว

จากซ้ายไปขวา โบสถ์ Kaiserdom – โบสถ์ Liebfrauen – โบสถ์ Alte Nikolai

งดึกอากาศยิ่งหนาวแม้จะล่วงเข้าเดือนมิถุนายนมาได้หลายวันแล้ว ซาร่ารับเอาเสื้อแจ็คเก็ตจากผมไปใส่อีกตัวยังบ่นว่าหนาว หลังจากวิสกี้ไม่กี่แก้วเราจึงเรียกเก็บเงิน ซาร่าสวมกอดทุกคนแล้วเดินจากไป แดนนี่ขอแยกไปนอนบ้านแม่ ผมกับพี่แก้วเดินไปลง U Bahn หรือรถไฟใต้ดินไปยังสถานี Sekbach Landstrasse ต่อรถเมล์ แล้วเดินเข้าแฟลตที่เธอซื้อไว้หลังจากเลิกรากับสามีชาวเยอรมันเมื่อราว 4 ปีก่อน

วันต่อมาผมมีนัดกับเพื่อนชาวเยอรมัน วัยเฉียด 80 ปี ชื่อ “อูเวอร์” เวลา 10 โมงครึ่ง รถยนต์วอลโวของแกมาถึงด้วยระบบนำทางจีพีเอส แกไม่ยอมให้ผมเรียก “มิสเตอร์” นำหน้า บอกว่าเพื่อนกันไม่มีใครเขาเรียก ผมคุ้นเคยกับเรื่องแบบนี้ดีจึงเรียกแกแต่ชื่อหน้าเฉยๆ อย่างไม่ขัดเขิน

“อูเวอร์ บายน์ลิช” เกิดในเขตป่าดำ (Black Forest) ทางตอนใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศเยอรมนีในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มปะทุขึ้น มีพ่อ, แม่, ลุง, พี่สาว และญาติบางคน เป็นผู้ชำนาญการใช้กล้องถ่ายภาพ จึงไม่แปลกอะไรที่แกจะเติบโตมาเป็นช่างภาพอีกคน

การทำงานในสตูดิโอที่ต้องถ่ายภาพจำพวกภาพติดบัตร, ภาพเด็กแรกเกิด และภาพงานแต่งงานนั้นค่อนข้างน่าเบื่อและไม่มีความท้าทาย เพราะแกชอบภาพที่มีเรื่องราว หรือภาพแอคชั่น จึงได้ย้ายมายังนครแฟรงก์เฟิร์ตและได้ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระ ในระหว่างนี้อูเวอร์ได้ถ่ายภาพบุคคลสำคัญๆ ที่เป็นนักการเมืองระดับโลกหลายต่อหลายคน

ต่อมาแกได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและได้เปลี่ยนแนวภาพถ่ายเป็นเชิงท่องเที่ยว การไปเยือนอเมริกาหลายครั้งทำให้มีโอกาสได้ถ่ายภาพให้กับสำนักข่าวที่ให้บริการภาพถ่ายแก่สื่อต่างๆ ด้วย

ไม่นานหลังจากนั้นแกได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนให้ไปถ่ายภาพโปรโมทการท่องเที่ยว ในช่วงนี้นี่เองที่แกเริ่มจริงจังกับการสะสมกล้อง จนคอลเล็คชั่นของแกมีกล้องถ่ายรูปเก่าแก่หลากหลายรุ่นเกือบ 500 ตัว อาทิ กล้องถ่ายรูป J.Lancaster & Son จากอังกฤษ ผลิตในปี 1886 โดยประมาณ, Kodak รุ่น Pocket’96 ปี 1896, กล้องเยอรมันอย่าง Rodenstock ประมาณปี 1890 กล้อง Krugenerปี 1906 และกล้องคุณภาพสูงอย่าง Linhof ในยุคปี 1910’s หลายตัวที่นักสะสมซื้อขายกันในเว็บไซต์ชื่อดัง บางรุ่นราคาขึ้นไปแตะหลักล้านยูโร, กล้องจิ่ว, กล้องนักสืบที่มาในรูปแบบต่างๆ เช่น ปากกา และไฟแช็ค นอกจากนี้ก็ยังมีกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวด้วย

ซ้ายมือคือโบสถ์ Saint Catharinen โบสถ์นิกายลูเธอรันที่ใหญ่สุดในนครแฟรงก์เฟิร์ต และตรงข้ามฝั่งถนนคือภัตตาคาร Café Hauptwache​​​​​​​

คอลเลคชั่นของแกค่อนข้างหลากหลาย นอกจากเยอรมนีตะวันตกบ้านเกิด อาทิ Linholf, Agfa, Franke&Heidecke, Adox, Zeiss Ikon, Voigtlander, Bilora แล้ว ก็ยังมีกล้องจากประเทศอื่น เช่น Werra – Ihagee – Pentacon – Kamerawerke จากเยอรมนีตะวันออก, Kodak – Polaroid จากอเมริกา, Oympus – Pentax – Nikon – Mamiya – Minolta - Canon จากญี่ปุ่น, Lubitel– Lomo – Zorki จากสหภาพโซเวียต,Seagull – Great Wall จากจีน, Mustek จากไต้หวัน, J.Lancaster & Son - Crown Camera – Houghtons – Purma – Apem จากอังกฤษ, Miom จากฝรั่งเศส, Meopta จากเช็กโกสโลวาเกีย, Goerz จากออสเตรีย เป็นต้น

อูเวอร์ยังสะสมอุปกรณ์เสริมอีกราว 200 ชิ้น และบรรดาของสะสมที่เกี่ยวข้อง อาทิ เข็มกลัด, ถ้วยกาแฟ, นิตยสาร และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน อีกทั้งยังเคยจัดนิทรรศการภาพถ่ายของตัวเองในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี, อิหร่าน, จีน, อเมริกา และเวียดนาม

ด้วยไม่มีทายาทสืบเชื้อสายให้รับมรดก ไม่นานมานี้แกจึงได้ตัดสินใจส่งต่อประวัติศาสตร์แห่งการบันทึกทั้งหมดให้กับ “เจษฎาเทคนิคมิวเซียม” พิพิธภัณฑ์ยานพาหนะและเทคโนโลยี แห่งอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ของ “คุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์” เพื่อความมั่นใจว่าของรักของหวงจะอยู่ในสถานที่คู่ควรและผู้ดูแลที่เป็นมืออาชีพ โดยคุณเจษฎาหมายมั่นว่าจะนำมาจัดแสดงในส่วนที่ให้ชื่อว่า Photo Museum ในอีกไม่ช้านี้

ปัจจุบันอูเวอร์ยังคงได้รับเชิญจากองค์กรในจีนและฮ่องกงให้เดินทางไปอบรมและบรรยายการถ่ายภาพให้กับนักศึกษาที่นั่นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะการถ่ายภาพขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า Large-Scale Photography และยังคงถ่ายภาพทั่วไปอยู่เป็นประจำ แกไปไหนมาไหนโดยไม่มีกล้องห้อยคอไม่ได้เป็นอันขาด

นอกจากนี้แกก็ยังเป็นที่ปรึกษาอิสระให้กับบริษัทและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะบริษัท Linhof ที่มีโรงงานผลิตกล้องถ่ายภาพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (130 ปี), เคยเป็นกรรมการของสมาคมนักข่าวของเยอรมนีเป็นเวลา 14 ปี รวมทั้งตำแหน่งประธานชมรมช่างภาพผู้สื่อข่าวในรัฐเฮสส์, สมาชิกสโมสรสื่อแห่งนครแฟรงก์เฟิร์ต และกำลังจะได้รับการบรรจุชื่ออยู่ใน Society for Photography หรือเทียบเท่ากับ “ฮอลออฟเฟม” ในวงการศิลปะและกีฬา

บรรยากาศในร้าน FOKI ของมิสเตอร์มุลเลอร์    

อูเวอร์ขับรถไปจอดในอาคารจอดรถแห่งหนึ่งย่านใจกลางเมือง ค่าจอดชั่วโมงละ 2.50 ยูโร หรือประมาณ 100 บาท แกเดินนำไปบนถนนคนเดิน ผ่านห้าง MyZeil รูปทรงโมเดิร์น มีช่องวงกลมแปลกประหลาดขนาดใหญ่อยู่กลางตัวห้าง เดินไปเรื่อยๆ แกแวะที่ร้านซ่อมกล้องของเพื่อนชื่อร้าน FOKI มาจาก Foto และ Kinos (หมายถึง “ภาพนิ่งและภาพยนตร์) เจ้าของชื่อ “Fritz Mueller” อายุคงประมาณหกสิบกลางๆ หากมากกว่านั้นก็ไม่น่าจะเกิน 70 ปี

ร้านของมิสเตอร์มุลเลอร์รับซ่อมเฉพาะกล้องฟิล์มเท่านั้น แม้ว่าทุกวันนี้จะหาคนใช้กล้องฟิล์มได้ยากเต็มทีแล้ว แต่แกก็ยังมีงานล้นมือ คงเพราะว่าแกมีชื่อเสียงและร้านแบบแกไม่ได้หาง่ายๆ อูเวอร์บอกว่ามิสเตอร์มุลเลอร์รักงานของแกมาก เคยบอกว่าจะเกษียณเมื่อราว 5 ปีก่อน แต่ยังคงทำงานมาเรื่อยๆ และแทบไม่หยุดพักผ่อน

เราออกมาจากร้าน FOKI แล้วเดินไปยังห้าง Galeria ขึ้นลิฟต์ไปยังดาดฟ้าที่พี่แก้วเคยพามากินข้าวเที่ยงเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน อูเวอร์ตั้งใจจะให้ผมถ่ายรูปตึกสูงและวิวเมือง จึงเป็นโอกาสดีเพราะรูปในเมมโมรีการ์ดที่ถ่ายเมื่อคราวที่แล้วโดนโจรปารีสขโมยไปพร้อมกระเป๋าสตางค์

ออกจากห้าง Galeria อูเวอร์ก็เดินนำไปยังจัตุรัสตลาดเก่านครแฟรงก์เฟิร์ต ชื่อ Romerberg ใกล้ๆ สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำไมน์ กลุ่มอาคารโบราณบริเวณนี้โดนกองกำลังทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่ไม่เหลือซากในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปลายๆ หลังสงครามทางเมืองก็ได้สร้างอาคารขึ้นใหม่ให้ดูเหมือนเดิมแต่อูเวอร์บอกว่าไม่ได้เหมือนเป๊ะเสียทีเดียว ด้านขวามือคือศาลาว่าการนครแฟรงก์เฟิร์ต เรียกกันว่า Romer หนึ่งในห้องที่ได้รับความนิยมจากผู้มาเยือนคือห้อง Kaisersaal มีภาพเขียนของกษัตริย์เยอรมันในอดีตตั้งเรียงกันอยู่

แล้วแกก็พาเข้าร้านอาหารชื่อ Zum Standesamtchen ข้างๆ จัตุรัส แกไม่ยอมให้ผมสั่ง บอกว่าจะสั่งให้เหมือนกัน จานนี้เรียกว่า “วีเนอร์ ชนิทเซล” (Wiener Schnitzel) เป็นอาหารประจำชาติจานหนึ่งของออสเตรีย แต่ที่มาที่ไปยังถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักประวัติศาสตร์ด้านอาหาร หลายคนสงสัยว่าอาจจะถือกำเนิดขึ้นก่อนในอิตาลี

“วีเนอร์ ชนิทเซล” มีลักษณะคล้ายกับฟิชแอนด์ชิฟของอังกฤษ ดั้งเดิมใช้เนื้อลูกวัว ชิ้นขนาดเท่าๆ กับสเต็ก นำไปชุบแป้งขนมปังแล้วทอดในไฟแรง เสิร์ฟพร้อมมันบดและเลม่อนฝานสองสามชิ้น อูเวอร์สั่งเป็นเนื้อไก่มาทั้ง 2 จาน รสชาติไก่ชุบแป้งทอดจืดชืดยิ่งกว่าฟิชแอนด์ชิปแต่มันบดค่อนข้างอร่อย ก่อนจานหลักนี้เราสั่งสลัดมาคนละจาน แต่อูเวอร์กินสลัดไปแค่นิดเดียว ส่วนเครื่องดื่มคือเบียร์ Henninger Radler ในแก้วขนาดประมาณ 1 ไพนต์ซึ่งผสมน้ำมะนาวลงไปด้วย แกว่าเบียร์นี้เบา ดื่มได้ไม่มีปัญหา

เมื่ออิ่มก็เดินออกมาผ่านโบสถ์ Alte Nikolai (Old St.Nicholas Church) ซึ่งเป็นของคริสตจักรนิกายลูเธอรัน ที่ “มาร์ติน ลูเธอร์” ชาวเยอรมันนี่เองได้ประกาศแยกตัวออกจากคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิคในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นจุดเริ่มต้นของนิกายโปรเตสแตนต์ในอีกหลายประเทศ

สองหนูน้อยพิสมัยประติมากรรมหน้าห้าง Galeria​​​​​​​

เราเดินเข้าถนนเล็กๆ ชื่อ Saalgasse เดินไปยังมุมที่มีอาคารโมเดิร์นหน้าตาแปลกๆ และไม่เหมือนกันเลยเรียงติดกันประมาณสิบหลัง แล้วจึงเดินเข้าโบสถ์ไกเซอร์โดม (Kaiserdom) หรือเรียกในภาษาอังกฤษว่า Imperial Cathedral of Saint Bartholomew เป็นโบสถ์โรมันคาธอลิคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญที่สุดในนครแฟรงก์เฟิร์ต เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยคริสต์ศตววรษี่ 7 รูปทรงสไตล์โกธิกที่เห็นในปัจจุบันได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 กษัตริย์แห่งเยอรมนีและจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้รับการราชาภิเษกในสถานที่แห่งนี้อยู่หลายร้อยปี อูเวอร์บอกว่าด้วยเหตุนี้จึงได้รับการอนุโลมให้เรียกว่ามหาวิหาร หรือ Dom (Cathedral ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งหมายถึง “อาสนะสังฆราช” ได้ แม้ว่าโบสถ์นี้จะไม่มีตำแหน่งสังฆราชหรือบิชอปก็ตาม

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารที่รายรอบโบสถ์แห่งนี้โดนระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรพังราบแต่ตัวโครงสร้างหลักของโบสถ์อยู่รอดปลอดภัยอย่างน่าอัศจรรย์ ทว่าภายในโบสถ์เกิดไฟไหม้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก สิ้นสงครามก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์กันขนานใหญ่

ผมบอกอูเวอร์ว่าอยากดื่มกาแฟแกจึงพาไปที่ร้านหนึ่งไม่ไกลจากโบสถ์นัก บริกรสาวเป็นชาวเวียดนาม เธอว่าเพื่อนคนไทยกำลังจะเข้ากะถัดไป แต่เราออกจากร้านเสียก่อน ผมเดินตามอูเวอร์ไปยังอาคารจอดรถ รวมแล้วจอดไป 4 ชั่วโมง เสียค่าจอด 10 ยูโร ผมบอกให้ส่งผมใกล้ๆ จัตุรัส Romerberg เพราะจากตรงนั้นผมจำทางเข้าเขตย่านการค้าได้

แกปลดเข็มขัดนิรภัยแล้วโน้มตัวมากอดผม ก่อนพูดว่าพรุ่งนี้จะรับไปเที่ยวอีก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"