'รสนา' จับตาคสช.ใช้ม.44อ้างช่วยทีวีดิจิตอล แต่พ่วงผลประโยชน์ค่ายมือถือหวังเงินทอนสู้ศึกเลือกตั้ง?


เพิ่มเพื่อน    

แฟ้มภาพ

19 มี.ค. 61 - นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา  กรุงเทพฯ  เผยแพร่บทความ เรื่อง “จับตาคสช.ใช้ม.44อ้างช่วยทีวีดิจิตัล แต่พ่วงผลประโยชน์ค่ายมือถือ หวังเงินทอนสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่?”  ผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า โดยมีเนื้อหาดังนี้

คสช.เคยใช้ ม.44 ช่วยทีวีดิจิตอลไปครั้งหนึ่งแล้ว ด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 โดยเพิ่มงวดการจ่ายสำหรับช่องทีวีดิจิตอลที่ไม่พร้อมจ่าย แถมรัฐออกค่าใช้โครงข่ายดาวเทียมแทนช่องต่างๆ ให้ 3 ปี แต่ก็พ่วงผลประโยชน์ของกองทัพ โดยให้รัฐออกค่าโครงข่ายดาวเทียมให้กับช่องโทรทัศน์ดาวเทียม TGN ของกองทัพบกไปด้วย ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกันไม่ใช่ช่องทีวีดิจิตอล แถมด้วยการขยายอายุคลื่นวิทยุกระจายเสียงให้สถานีวิทยุต่างๆ ใช้ต่อไปอีก 5 ปี แม้จะถึงกำหนดที่ กสทช. เรียกคืนคลื่น ซึ่งส่วนหนึ่งที่ได้ประโยชน์คือสถานีวิทยุของกองทัพ ที่ไปทำสัญญาให้เอกชนมาเช่าเวลา ใช่หรือไม่

มาคราวนี้ คสช.ก็จะใช้มุขเดิมคือ ม.44 อ้างช่วยทีวีดิจิตอลอีกครั้ง แต่ก็พ่วงผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจมือถือ ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกัน ธุรกิจทีวีดิจิตอลได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีจากธุรกิจโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คนดูทีวีน้อยลง เพราะหันไปดูรายการต่างๆผ่านเน็ตกัน แต่ คสช.กลับจะอุ้มธุรกิจโทรคมนาคมที่มีรายได้ดี อยู่แล้ว โดยอ้างเรื่องการประมูลคลื่น 900 MHz ว่ามีราคาแพง เพราะมี JAS (ค่ายจัสมิน)ไปร่วมประมูลปั่นราคาคลื่น ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะ JAS ไม่เคยไปเคาะแย่งคลื่นสล็อตของทรูเลย ราคาคลื่นที่กลุ่มทรูชนะ เป็นผลจากการแข่งกันเองระหว่าง AWN (ค่ายเอไอเอส) DTN (ค่ายดีแทค) และ True (ค่ายซีพี) ถ้า True เห็นว่าราคาประมูลแพงเกินไป และธุรกิจไปต่อไม่ได้ ก็สามารถหยุดราคาประมูลเองได้เลย แต่กลับเคาะราคาประมูลไปจนชนะ แล้วจะอ้างว่า คนที่ไม่เคยมาเคาะแย่งสล็อตนี้ มาปั่นราคาคลื่นตัวเองได้อย่างไร ?

คนปั่นราคาคือค่ายมือถือเดิมทั้งสามค่ายนั่นแหละ ที่ปั่นราคาสู้กันเองเพื่อดันราคาคู่แข่งให้สูงขึ้นเพื่อสร้างภาระให้คู่แข่ง ใช่หรือไม่

ในการประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อ 27 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นการประมูลครั้งที่2 ของสล็อตที่ JAS ทิ้ง คสช.ตั้งราคาประมูลโดยใช้อำนาจคำสั่ง คสช. ที่ 16/2559 (ไม่ใช่อำนาจ กสทช. ) ตั้งราคาเริ่มต้น 75,654 ล้านบาท ตามราคาชนะเดิม และAWN ชนะประมูลราคาที่ 75,654 ล้านบาท ซึ่ง AWN เข้าร่วมประมูลรายเดียวจึงไม่มีใครมาเคาะปั่นราคาด้วย ที่ AWN ต้องเข้าร่วมประมูล เพื่อแก้ปัญหาซิมดับเพราะสิ้นสุดสัมปทานและจะสิ้นสุดช่วงเวลาตามมาตราการเยียวยา จึงต้องหาคลื่นมาดูแลลูกค้า

ในเมื่อTRUE และ AWN ทั้งสองรายยินดีเคาะราคาประมูล และจ่ายค่าคลื่นงวดแรกตามกำหนดเพื่อรับใบอนุญาตแล้วเหตุใดพอผ่านไปไม่ถึงสองปี ก็คิดจะขอพ่วงขบวน ม. 44 ด้วยคน ที่แปลกคือจะขอผัดผ่อนงวดชำระอีกสองปีข้างหน้าคือในปี 2563 ไม่ใช่งวดที่จะมาถึงในปี2561 และปี2562 ในขณะที่ปัจจุบันธุรกิจมือถือเติบโตและเป็นฝ่ายสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจทีวีดิจิตอล เพราะคนชอบดูละคร หนัง และรายการต่างๆผ่านเน็ตมือถือมากกว่า ดังนั้นธุรกิจมือถือจึงไม่ใช่ธุรกิจขาลงแบบทีวีดิจิตอล และการใช้ ม.44 ยืดงวดชำระให้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ในปี2563 โดยยืดออกไปถึง5ปี เป็นเพราะ คสช.รู้ตัวว่าหลังเลือกตั้งปี2562 แล้ว คสช.จะใช้อำนาจ ม.44 ไม่ได้อีก จึงรีบใช้อำนาจเสียตั้งแต่ขณะนี้เลย ใช่หรือไม่

ตามหลักสากลทั่วโลกกำหนดให้มีการชำระเงินประมูลเพียงงวดเดียวหรือน้อยงวดที่สุด เพื่อให้มีสภาพเป็นต้นทุนจม ไม่สามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้โดยง่าย แม้แต่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 มาตรา 42 ก็ยังพูดถึงการชำระเงินประมูลคลื่นเพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ว่า เงินที่ได้จากการประมูลต้องชำระเมื่อได้รับใบอนุญาต ซึ่งหมายความว่าต้องชำระก้อนเดียว แต่ที่ผ่านมามีการแบ่งงวดเพราะค่าประมูลคลื่นมีมูลค่าสูง จึงบรรเทาภาระผู้ประกอบการ เพียงแต่ต้องกำหนดและประกาศอย่างชัดเจนก่อนประมูล และผู้เข้าร่วมประมูลถือว่ายอมรับงวดเงินดังกล่าวแล้ว

การที่ค่ายมือถือที่ประมูลชนะแล้ว มาเรียกร้องให้เปลี่ยนกติกาในการชำระเงิน เป็นการเอาเปรียบผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น ที่เชื่อในกฎการประมูลโดยเคร่งครัด การแก้ไขเงื่อนไขชำระเงินภายหลังการประมูล เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้นกสทช.จึงไม่กล้าทำ ทำให้มีการผลักดันให้คสช.ใช้มาตรการเหนือกฎหมายอย่าง ม.44 มาหักล้างกฎหมายหลักที่มีอยู่และยังเป็นการใช้อำนาจล่วงหน้าก่อนกำหนดถึงสองปี เป็นการใช้ม.44อย่างขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

การใช้ม.44 หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 ควรเป็นการใช้อย่างจำกัด และเฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น และต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศ การใช้อำนาจ ม.44 ในกรณีนี้เป็นการเอื้อประโยชน์อย่างมโหฬารให้เอกชนอย่างชัดเจน และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่จำเป็นเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ใช่หรือไม่

ไม่ใช่ว่าธุรกิจมือถือ จะไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายค่าคลื่น แต่เพราะไม่อยากเสียดอกเบี้ยแพงต่างหาก ใช่หรือไม่

ค่ายมือถือซึ่งมีผลประกอบการเป็นบวก มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล ย่อมสามารถขอกู้สถาบันการเงินได้โดยง่าย หรือจะออกหุ้นกู้ระดมเงินจากนักลงทุนเชื่อว่าจะมีคนแย่งซื้อเป็นแน่ แต่ความจริงก็คือ เอกชนไม่อยากรับภาระดอกเบี้ย เลยจะมาขอพ่วง ม.44 เพื่อจะจ่ายดอกเบี้ยต่ำในอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงค์ชาติ แค่ 1.5 % ใช่หรือไม่

ลองพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยที่เอกชนต้องรับภาระ พิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกสทช.ถ้าค่ายมือถือผิดนัดจ่ายค่าคลื่น กสทช.จะคิดดอกเบี้ย 15% โดยคิดเป็นรายวัน ถ้าเอกชนไปกู้แบงค์จะเสียดอกเบี้ยประมาณ 6% ถ้าออกหุ้นกู้จะเสีย ดอกเบี้ยประมาณ 3% เมื่อไม่อยากแบกภาระดอกเบี้ย จึงวิ่งมาขอให้คสช.ใช้อำนาจ ม.44 ใช่หรือไม่

ถ้าเอกชนจ่ายค่าคลื่นตามกำหนด เงินทั้งหมดก็เป็นรายได้แผ่นดิน แต่ถ้ายืดเวลาการจ่ายจากภายใน1ปี เป็นภายใน 5ปี และหากรัฐมีรายได้ไม่พอใช้จ่าย รัฐก็ต้องไปกู้เงินมาโปะภาระงบประมาณขาดดุล การที่คสช. จะใช้อำนาจตาม ม.44ไปอุ้มค่ายมือถือได้ลดภาระดอกเบี้ย แต่ให้ประเทศมารับภาระดอกเบี้ยแทนเอกชนนั้น เป็นธรรมกับประเทศแล้วหรือ?

เงินค่าคลื่นงวดสุดท้ายมีจำนวนแสนสองหมื่นล้านบาท หากถูกยืดการจ่ายออกไปจาก1ปี เป็น5ปี ส่วนต่างดอกเบี้ยที่เอกชนจะประหยัดจาก ม.44 คิดเป็นจำนวนเท่าไหร่ คนที่ช่วยชง ช่วยวิ่งเต้นให้มีการใช้ ม.44 เพื่อยืดเวลาจ่ายเงินของเอกชน อยากถามว่า คนพวกนั้นเขาช่วยวิ่งเต้นให้เอกชนฟรีๆ หรือไม่?

ลองจินตนาการดู ส่วนแบ่งจากการลดภาระดอกเบี้ยของเอกชนหากแบ่งให้คนวิ่งเต้น คิดว่าจำนวนเงินคงเทียบได้กับนาฬิกาหรูอีกหลายร้อยเรือนทีเดียว ใช่หรือไม่?

การอุ้มธุรกิจทีวีดิจิตอลที่กำลังขาดทุนหนักเป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่การใช้ม.44ข้ามห้วยไปช่วยอุ้มธุรกิจมือถือของสองค่ายยักษ์ใหญ่ มีอะไรอยู่ในก่อไผ่หรือไม่!!??ประเทศชาติ มีแต่เสียกับเสีย และประชาชนมีแต่ควักกระเป๋าจ่ายกับจ่ายเพื่ออุ้มธุรกิจแสนล้านเหล่านี้

ประชาชนเจ้าของประเทศนี้มีสิทธิตั้งคำถามหรือไม่ว่า มีไอ้โม่งกลุ่มไหนบ้างที่ได้ประโยชน์จากการใช้อำนาจคสช.ม.44 หักดิบกฎหมายหลัก ซึ่งประเทศที่มีนิติรัฐ (Legal State)หรือมีธรรมาภิบาลทางธุรกิจ เขาไม่ทำกัน

คสช.ไม่ควรใช้อำนาจ

ม.44 ที่โจ๋งครึ่มเพื่ออุ้มกลุ่มทุนใหญ่ค่ายมือถือเอกชน เพราะการย้ายภาระดอกเบี้ยของเอกชนมาเป็นภาระให้กับงบประมาณแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจ

ม.44เพื่อความมั่นคงของรัฐ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

หากคสช.ดึงดันใช้ ม.44 ในกรณีนี้ ย่อมทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่าเงินเดือนของคสช.ที่ประชาชนจ่ายให้อีกหนึ่งตำแหน่งนอกจากเงินเดือนในตำแหน่งคณะรัฐมนตรีนั้น จะเป็นเพียงเงินไซด์ไลน์หรือไม่ และการใช้อำนาจในกรณีนี้จะเข้าข่ายเป็นการคอร์รัปชันทางอำนาจหรือไม่

การใช้อำนาจของคสช.ในขณะนี้ไม่ว่าการเตรียมเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช เอราวัณ ที่เข้าข่ายการล็อคเสปกให้เอกชนได้ประโยชน์มากกว่าประเทศ ไม่ต่างจากกรณีที่คสช.กำลังจะออก ม.44 เพื่ออุ้มค่ายมือถือเอกชนรายใหญ่ อาจจะทำให้สังคมเกิดคำถามได้อีกว่า ท่านกำลังหาเงินทอนเพื่อใช้เป็นทุนเลือกตั้งที่จะมาถึงด้วย ใช่หรือไม่!?!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"