ทรัมป์ไร้ศีลธรรมเกินกว่าจะเป็นประธานาธิบดี


เพิ่มเพื่อน    

ทันทีที่ชนะเลือกตั้ง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเริ่มแสดงความเห็นว่าไม่นานหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์จะถูกนำเข้ากระบวน Impeachment ขับออกจากตำแหน่ง หลายคนเดาว่าจะมาจากเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริตคอร์รัปชัน

ล่าสุดอดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ เจมส์ คอมีย์ (James Comey) กล่าวว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่ปัญหา แต่โดนัลด์ ทรัมป์ไร้ศีลธรรม (morally unfit) ไม่คู่ควรกับตำแหน่งประธานาธิบดี

อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอเอ่ยถึงความไม่เหมาะสมหลายข้อ ดังนี้

ประการแรก พูดปดเสมอ ไม่ยึดถือความจริง

            ประธานาธิบดีต้องไม่เป็นคนกลิ้งกลอกหลอกลวง ทรัมป์พูดโกหกเสมอไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ ทั้งยังคิดว่าคนอเมริกันเชื่อเขา คนเช่นนี้ไม่คู่ควรกับตำแหน่งประธานาธิบดี ไร้ศีลธรรมเกินไป

            ผู้นำประเทศควรเป็นคนที่น่าเคารพ ยึดมั่นค่านิยมของสังคม สำคัญที่สุดคือเป็นคนยึดมั่นความจริง แต่ประธานาธิบดีคนนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ในด้านศีลธรรมไม่คู่ควรกับตำแหน่งประธานาธิบดี

            ประการที่ 2 เห็นผู้หญิงเป็น “เครื่องปรนเปรอทางเพศ”

            เวลาทรัมป์พูดถึงผู้หญิงมักจะพูดในมุมมองว่าพวกเธอเป็นเครื่องปรนเปรอทางเพศ (pieces of meat)

            ประการที่ 3 ทำให้คนรอบตัวด่างพร้อยไปด้วย

            อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอพูดประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากคือ ผลจากการที่ผู้นำประพฤติตัวไม่เหมาะสมพลอยทำให้คนรอบข้าง คนที่ทำงานด้วยด่างพร้อยไปด้วย (stain) เพราะการกระทำหรือคำสั่งของผู้นำส่งผลต่อผู้ตาม คนที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่เหมาะสมด้วย

            ยกตัวอย่าง ถ้าผู้นำทุจริตคอร์รัปชัน ลูกน้องลูกทีมที่ร่วมขบวนการย่อมร่วมทำผิดด้วย ใครที่ได้ผู้นำเช่นนี้ย่อมมีโอกาสรับโทษด้วย ที่แย่กว่านั้นคือกลายเป็นแพะรับบาป

            ประการที่ 4 เพื่อผลประโยชน์ของนายกับครอบครัว

            คอมีย์อธิบายภาพว่าทุกคนต้องทำงานเพื่อเจ้านาย (ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย) ต้องจงรักภักดีต่อเจ้านาย พูดและทำทุกอย่างเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของนายกับครอบครัว ครอบครัวและครอบครัว สังเกตว่าคอมีย์ไม่เอ่ยถึงผลประโยชน์ประเทศ

            ประเด็นที่ล่อแหลมที่สุดคือข้าราชการ พนักงานรัฐต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์ของนายหรือผลประโยชน์ของประเทศ หลายครั้งเป็นเพียงเส้นบางๆ ที่แบ่งระหว่าง 2 ข้อ แต่ในบางเรื่องชัดเจน เป็นเรื่องที่คนอเมริกันสงสัยมาตลอดว่านักการเมืองทำเพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่

คนอสัตย์อธรรมจะเป็นผู้ปกครองที่ดีได้หรือ :

            มีคนพูดว่าขอเพียงมีฝีมือก็สามารถนำพาประเทศสู่ความรุ่งเรืองยั่งยืน คนเหล่านี้จะไม่คำนึงว่าผู้นำหรือผู้บริหารประเทศเป็นคนมีศีลมีธรรมหรือไม่ ขอเพียงหน้าฉากเป็นคนมีความสามารถ มีตำแหน่งเกียรติยศ ร่ำรวยเงินทอง

            กรณีทรัมป์เป็นตัวอย่าง เป็นนักธุรกิจพันล้านดอลลาร์ มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากมาย เจ้าของคาสิโนหลายแห่ง มีคฤหาสน์หรู บ้านที่พักหลายแห่ง แต่มักต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะคดีความต่างๆ จากความไม่ชอบมาพากลทางธุรกิจและอื่นๆ อย่างไรก็ตามหลายครั้งที่ทรัมป์หลุดรอดมาได้

ทรัมป์ที่เป็นนักธุรกิจกับประธานาธิบดีมีข้อหนึ่งตรงกันคือ ตกเป็นข่าวความไม่ชอบมาพากลอยู่เสมอ เสียงวิพากษ์ข้อเสียของทรัมป์ดังตั้งแต่เริ่มเป็นประธานาธิบดีวันแรกจนถึงวันนี้

ทรัมป์ยังเป็นประธานาธิบดีต่อไป มีคนพูดถึงการขับออกจากตำแหน่งหลายครั้ง แต่ก็ยังอยู่จนถึงปัจจุบันและอาจอยู่ต่อไปจนครบเทอม 4 ปี การที่เป็นเช่นนี้จะเป็นข้อดีหรือข้อเสียก็ยากจะสรุป มีประเด็นให้ถกอีกมาก

ไม่ว่าผู้นำประเทศต่อหน้าจะเป็นคนเช่นไรหากพื้นฐานของเขานึกถึงแต่สิ่งอสัตย์อธรรม ย่อมคิดถึงการเบียดเบียนผู้อื่น เห็นด้วยกับการทำลายประเทศอื่น การล่าอาณานิคมเพื่อประโยชน์ของตนกับครอบครัว ตัวอย่างคนเหล่านี้มีให้เห็นมากมายในประวัติศาสตร์และแม้กระทั่งปัจจุบัน

นักสร้างภาพตัวยง :

            นิโคโล มาเคียเวลลี่ (Niccolo Machiavelli, 1469-1527) เสนอให้ผู้ปกครองต้องพยายามแสวงหาและรักษาอำนาจปกครองให้มากที่สุด โดยไม่สนใจเรื่องความถูกต้องตามหลักศาสนา จริยธรรมหรือคุณธรรมใดๆ ทั้งหมดนี้เพื่อความอยู่รอดของผู้ปกครองกับรัฐ

            ประกาศชัดว่าศาสนาไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญกว่าคือความอยู่รอด

มาเคียเวลลี่มองธรรมชาติของคนในแง่ลบ คนส่วนใหญ่ “เห็นแก่ตัว ก้าวร้าว ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา ชอบต่อสู้แข่งขัน แสวงหาอำนาจ โลภ ฯลฯ จากลักษณะดังกล่าวคนที่แข็งแกร่งกว่าได้เปรียบคน คนอ่อนแอจะถูกทำลาย ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกข่มเหงรังแก สังคมจึงมีแต่ความวุ่นวาย ขาดความมั่นคง เมื่อเป็นเช่นนี้บรรดาพวกที่อ่อนแอจึงยอมมอบตัวอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของผู้ที่แข็งแรงกว่า และบุคคลผู้นี้เองที่จะเป็นผู้วางกฎเกณฑ์สังคมเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย สวัสดิภาพและสันติภาพขึ้นในสังคม และนี่ก็คือบ่อเกิดของรัฐนั่นเอง”

และด้วยการที่เขามองว่าคนส่วนใหญ่ “ชั่วร้าย” (evil) ดังนั้น เพื่อที่จะสามารถปกครองคนเหล่านี้ ผู้ปกครองต้องพร้อมที่จะใช้วิธีการที่ชั่วร้ายเพื่อจัดการกับคนชั่วร้ายเหล่านั้น ผู้ปกครองต้องรู้ที่จะจำแนกว่าอะไรที่เป็นอยู่จริง (what is) กับอะไรที่ควรจะเป็น (what ought to be)

มาเคียเวลลี่ให้นิยามว่าการเมืองคือการแสวงหาอำนาจ กิจกรรมทางการเมืองใดๆ ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ส่วนศีลธรรม จริยธรรม ความปรารถนาดี ความเมตตาล้วนเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเพียงประการเดียว เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งอำนาจผู้ปกครองต้องพร้อมทำทุกอย่างแม้ต้องจูบเด็กหรือฆ่าเด็ก และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อจะปกครองคนได้ง่ายๆ อำนาจคือเป้าหมายสูงสุดของทุกกิจกรรมทางการเมืองและอะไรที่ขัดขวางเป้าหมายดังกล่าวถือเป็นศัตรูทั้งสิ้น แม้กระทั่งคุณความดี หลักศาสนา

            แม้จะทำร้ายทำลายคนจำนวนมากเพื่อความอยู่รอด แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณะหรือต่อหน้าสื่อต้องแสดงตัวว่าเป็นบุคคลผู้มีคุณธรรมสูง เป็นผู้สูงส่งในศีลธรรม รักประชาชน

ผลจากการเลือกคนที่แย่น้อยกว่า :

            ดังที่ได้เสนอในบทความก่อนว่า เหตุที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งมาจากหลายปัจจัย เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทรัมป์ชนะมาจากกระแสคิดว่าฮิลลารี คลินตันเป็นตัวแทนของระบอบขั้วอำนาจเดิม เป็นพวกนักการเมืองรุ่นเก่า เลือกไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรดีขึ้น หลายคนจึงไปใช้สิทธิ์ด้วยแนวคิดเลือก “คนที่แย่น้อยกว่า” (the lesser of the two evils) บนฐานคิดว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเสียหาย ซึ่งอาจถึงหายนะ “ยิ่งมีโอกาสเสียหายหนัก ยิ่งต้องออกไปเลือกฝ่ายตรงข้าม”

            ข้อวิพากษ์คือแนวทางนี้อาจเป็นทางเลือกเฉพาะหน้าแต่ได้ผู้นำที่ “แย่น้อยกว่า” เท่านั้น อีกทั้งความแย่น้อยกว่าอาจหมายถึงได้คนที่แย่มากๆ เพียงแค่คิดว่าน้อยกว่าอีกคนเท่านั้นเอง

            การเมืองสหรัฐเป็นระบบ 2 พรรค หากไม่เลือกตัวแทนของเดโมแครทก็ต้องเลือกพรรครีพับลิกัน แต่หากทั้ง 2 พรรคอยู่ภายใต้ชนชั้นปกครองที่แย่พอกัน ไม่ว่าเลือกผู้แทนจากพรรคใดก็ไม่แตกต่าง แนวทางเลือกคนที่แย่น้อยกว่าจึงไม่ใช่ทางออก และหากปล่อยไปเช่นนี้ในระยะยาวประเทศอาจถึงขั้นเสื่อมสลาย

            ไม่ว่าทรัมป์จะอยู่ใต้อิทธิพลพรรคหรือระบอบชนชั้นปกครองมากเพียงไร ความเป็นทรัมป์ตอนนี้คือผลจากการเลือกคนที่แย่น้อยกว่า เป็นหลักฐานว่าการเลือกคนที่แย่น้อยกว่าไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด

ระบอบการเมืองการปกครอง ระบบคัดสรรผู้นำประเทศต้องดีกว่านี้ สามารถมุ่งสู่เป้าหมายได้จริง ไม่เป็นเพียงทฤษฏีสวยหรูแต่ไม่บรรลุถึงเป้าหมาย ได้แต่พร่ำสอนให้คนยึดอุดมคติตามทฤษฎีที่สวยหรู ในขณะที่สังคมกำลังเสื่อมถอยและต้องการทางออกใหม่

ผู้นำสำคัญยิ่งเพราะอาจพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองหรือล่มจมได้ในชั่วรัฐบาลเดียว มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

ข้อสรุป :

บทความนี้ไม่มีเจตนาสรุปว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็นคนไร้ศีลธรรม เพียงอาศัยข้อมูล ประเด็นจากข่าวเด่นในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ประกอบการนำเสนอ ทั้งยังควรบันทึกว่าชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยสนับสนุนทรัมป์ หลายคนชอบนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลชุดนี้ เห็นว่าควรให้ทรัมป์บริหารประเทศต่อไปแม้มีเสียงวิพากษ์มากมายซึ่งเป็นปกติของการเมือง

ส่วนการจะสรุปว่าทรัมป์จะเป็นคนอสัตย์อธรรมหรือไม่ ขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละคน ความคิดเห็นของเจมส์ คอมีย์อาจบั่นทอนความนิยมแต่ไม่มีผลทางกฎหมาย เว้นแต่จะมีข้อพิสูจน์ชัดว่าทรัมป์ทำผิดกฎหมายจริงๆ

ไม่ว่าจะมองแง่ลบหรือบวก เรื่องราวที่เกิดสหรัฐหรือประเทศใดๆ จะน่าเป็นเหตุให้กลับทบทวนประเทศตนเอง.

ภาพ : เจมส์ คอมีย์ ขณะอัดเสียง

ที่มา : https://twitter.com/Comey/media

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"