ข้าวพระรามลงสรง ซ.แปลงนาม เยาวราช       


เพิ่มเพื่อน    

 

“ข้าวพระรามลงสรง” เป็นเมนูที่หารับประทานได้ยากในทุกวันนี้ หากลองถามกลุ่มวัยรุ่นก็คงจะไม่รู้ว่ามีหน้าตาอย่างไร แต่สำหรับวัยกลางคนส่วนใหญ่คงเคยได้ลิ้มลองรสชาติกันมานานแล้ว ส่วนผมเคยได้ยินชื่อเมนูนี้มานานแล้ว แต่ไม่เคยได้ลองกินสักครั้ง เมื่อมีโอกาสจึงแวะไปเยาวราช ย่านการค้าเก่าแก่ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวบรวมของอร่อยไว้มากมาย    

   

ย้อนไปสมัยก่อนที่ยังมีโรงภาพยนตร์เฉลิมบุรี เยาวราช มีร้านขาย “พระรามลงสรง” อยู่ประมาณกว่า 10 ร้าน เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ยุคนั้นคนส่วนใหญ่จะสั่งข้าวพระรามลงสรงมากินกับหมูสะเต๊ะ เพราะเป็นของคู่กัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมค่อยๆ ลดลง หลายร้านต้องเลิกกิจการจนกลายเป็นอาหารหากินยาก ซึ่งในเวลานี้ย่านเยาวราชเหลืออยู่เพียง 2 ร้านเท่านั้น คือ ร้านอาแป๊ะเจ้าเก่าแก่ เปิดขายมานานถึง 40 ปี ที่ตั้งอยู่ในตลาดเก่าสำเพ็ง       

อีกร้านหนึ่งซึ่งผมจะนำเสนอในวันนี้คือ ร้าน “เจ๊เหมี่ยวเอ็ง” ที่ขายมาประมาณ 23 ปี ตั้งอยู่ในซอยแปลงนาม เจ้าของร้านคือ คุณอัครวัลย์ ซึ่งมีชื่อภาษาจีนว่า “เหมี่ยวเอ็ง” อายุ 73 ปี มีลูกสาวคือ เจ๊กุง ช่วยสืบทอดกิจการ เป็นร้านรถเข็นตั้งหน้าบ้านอาคารทรงโบราณ มีโต๊ะนั่ง 3 ตัว ลูกค้าขาประจำเพียบ เพราะมีจุดเด่นในเรื่องรสชาติที่ยังคงรักษาสูตรโบราณไว้ได้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือน้ำราดข้าวที่มีรสชาติและหน้าตาคล้ายน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ ถือเป็นหัวใจสำคัญของเมนูพระรามลงสรงร้านนี้ ที่มีทั้งความเข้มข้น รสชาติกลมกล่อม กลิ่นหอมเครื่องเทศและอร่อยแปลกลิ้นสำหรับคนที่เพิ่งกินเป็นครั้งแรกในชีวิตอย่างผม       

ข้าวพระรามลงสรงเป็นเมนูจานด่วนที่ไม่ต้องเสียเวลารอนาน สั่งปุ๊บได้ปั๊บ โดยมีรายการให้เลือกคือ ราดข้าว ใส่เนื้อหมู-ตับ และแบบใส่กุ้ง ถ้าไม่อยากกินข้าวก็มีเมนูเกาเหลาให้เลือกเช่นกัน ผมลองกินแบบราดข้าวใส่หมู-ตับ เจ๊เหมี่ยวเอ็งตักข้าว นำผักบุ้งกรอบที่คัดสรรมาอย่างดี ต้นสวยๆ ยอดอ่อนๆ เคี้ยวง่าย ลวกในหม้อน้ำร้อนแล้วใส่จาน ตามด้วยลวกเนื้อหมูกับตับที่หั่นชิ้นใหญ่ กินแบบสะใจ ก่อนจะราดด้วยน้ำที่ผ่านการปรุงและเคี่ยวอย่างพิถีพิถัน และใส่น้ำพริกเผาไว้ข้างจานสำหรับลูกค้าที่ต้องการความเผ็ดและรสชาติเข้มข้นมากขึ้น       

เครื่องปรุงน้ำราดทุกอย่างล้วนผ่านมือเจ๊เหมี่ยวเอ็งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นถั่วลิสงคุณภาพดี เม็ดใหญ่ ไม่ดำ ไม่ขึ้นรา คั่วใหม่สดทุกวัน แล้วทิ้งให้เย็นก่อนจะเอามาตำจนเนื้อละเอียดเนียน ทั้งหอม ทั้งมัน พริกแกงก็โขลกเองกับมือแบบวันต่อวัน เพื่อให้ได้ความเผ็ดหอมกรุ่น โดยใส่หัวกะทิลงไปผัดกับเครื่องแกงก่อน แล้วเติมหางกะทิก่อนที่หัวกะทิจะแตกมัน คนเรื่อยๆ จนเดือดแล้วปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลา ถั่วลิสงและงาขาวที่ตำแล้ว เพื่อยกระดับความหอมน่ากินมากยิ่งขึ้น โดยต้องระวังอย่าให้ถั่วนอนก้นหม้อ เพราะจะทำให้ไหม้ได้ง่าย       

กินอิ่มอร่อยในราคาสบายกระเป๋า แถมยังดีต่อสุขภาพ เพราะไม่ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะสาวๆ ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักก็สามารถสั่งแบบเกาเหลาได้เช่นกัน ส่วนที่มาของชื่อเมนูพระรามลงสรง คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ซาแต๊ปึ่ง” ถ้าแปลตามตัวอักษรก็แปลว่า “ข้าวชาสามอย่าง” ฟังแล้วงง เพราะไม่มีส่วนผสมที่เป็นใบชาแต่อย่างใด พอคนไทยได้ชิมจึงตั้งชื่อใหม่ตามสีเขียวของผักบุ้งที่นำไปลวกว่า พระรามลงสรง       

ร้านนี้เปิดตั้งแต่เวลา 12.00-17.00 น. หยุดทุกวันจันทร์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"