จับจังหวะ พปชร.-พท. เริ่มเซตเกม-ก่อนเลือกตั้ง 'บิ๊กตู่'ยังยื้อปรับครม.

แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนกรานหลายครั้ง รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม ไม่มีการยุบสภา แต่จับทิศทางได้ว่าหลายพรรคการเมือง แม้แต่ในพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้วางใจ เพราะประเมินว่าสถานการณ์การเมืองอาจมีจุดเปลี่ยนทำให้การเมืองพลิกได้ตลอด

โดยเฉพาะหากสถานการณ์ภายใน "พรรคพลังประชารัฐ" ที่แม้ภายนอกอาจดูเงียบสงบ แต่คลื่นลมแรงภายในก็พร้อมจะก่อตัวได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหากการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะมีขึ้น หลังเก้าอี้รัฐมนตรีว่างสองตำแหน่ง ที่ยังไงพลเอกประยุทธ์ต้องปรับแน่นอนในเร็ววันนี้ ที่คาดว่าอาจจะปรับช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ หลังตำแหน่ง รมต.ว่างมาร่วมหนึ่งเดือนกว่า ตั้งแต่นายกฯ ปรับธรรมนัส พรหมเผ่า และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อ 8 ก.ย.

ซึ่งหากปรับ ครม.แล้ว บิ๊กตู่ไม่มีการคืนโควตารัฐมนตรีให้กับ "กลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ" ก็อาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพลังประชารัฐและภายในรัฐบาลตามมาแน่นอน

เมื่อไปถึงกลางปีหน้าที่สภาอยู่ครบสามปีเศษแล้ว ถึงตอนนั้นประเมินได้ว่ากระแสเรียกร้องให้ยุบสภาจะเกิดขึ้นสูง ด้วยเหตุผลมีการแก้ไข รธน.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จึงควรคืนอำนาจให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามกติกาใหม่

แม้จริงอยู่ว่าการเปิดประชุมสภาสมัยล่าสุดที่จะเปิดตั้งแต่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป ที่กินเวลาร่วมสี่เดือน จะเป็นรอบสมัยการประชุมที่ฝ่ายค้านไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ทำได้แค่การอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติ แต่ประชุมสภารอบนี้ก็มีร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาหลายฉบับ ซึ่งรัฐบาลจะแพ้เสียงโหวตในสภา หรือกฎหมายโดนคว่ำไม่ได้ เพราะหากโดนคว่่ำนั่นหมายถึงการยุบสภาสถานเดียว

ด้วยเหตุนี้ หลายพรรคการเมืองเลยดูจะต้องเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ที่บางฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองขึ้นได้ แต่หากพลเอกประยุทธ์ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ-ผู้จัดการรัฐบาล คุมสภาพอยู่ ก็น่าจะเชื่อว่าถ้าผ่านปลายปีนี้ไปได้ การยุบสภาในช่วงรอบสมัยการประชุมสภาร่วมสี่เดือนต่อจากนี้ ไม่น่าจะเกิดการยุบสภาได้

แล้วก็ไปลุ้นอีกทีตอนเปิดประชุมสภารอบหน้าโน่นเลย ช่วงตั้งแต่พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งถ้าสภาอยู่ถึงตอนนั้น ฝ่ายค้านสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล-นายกรัฐมนตรีได้ ถึงตอนนั้นพลเอกประยุทธ์จะอยู่ในสภาพเสียเปรียบทางการเมืองทันที เพราะจะถูก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลต่อรอง-ขี่คอการเมืองได้ แบบตอนอภิปรายครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เพื่อแลกกับเสียงโหวตไว้วางใจ โดยเฉพาะเสี่ยงกับการที่จะถูกกลุ่มธรรมนัสเอาคืนได้

แวดวงการเมืองจึงประเมินว่าโอกาสที่จะมีการยุบสภาอยู่ไม่ครบเทอม จึงน่าจะอยู่ในช่วงกลางปี คือตอนเปิดประชุมสภาช่วง พ.ค.ปีหน้ามากกว่า

ผนวกกับเมื่อถึงช่วงกลางปี 2565 ก็เท่ากับสภาอยู่มาครบสามปีแล้ว กับการนับอายุสภาที่นับจากวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ถือว่าหากเป็นการวิ่ง 400 เมตร ก็วิ่งมาได้ 300 เมตรแล้ว เหลืออีกแค่ 100 เมตร คือหนึ่งปี สภาก็ครบวาระต้องสิ้นสภาพไปโดยปริยาย

ในทางการเมือง หากรัฐบาล-สภาอยู่มาได้สามปี ก็ถือว่าสุกงอมพอควรแล้ว การจะยุบสภาจึงเป็นเรื่องที่ในทางการเมืองถือว่ามีความเป็นไปได้สูง

ที่สำคัญ ถึงตอนนั้นถ้ากระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบ ที่เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมา จากนั้นพรรคการเมืองต่างๆ-สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องเสนอร่างแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงอาจมีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่อาจจะมีการเสนอให้ยกเลิกไพรมารีโหวตพ่วงเข้ามาด้วย ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับก็คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยหน้าเดือน พ.ค. ได้ ถ้าไม่มีการดึงเกมยื้อ

โดยหากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับสภาชุดปัจจุบันจะเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งในระบบเก่า คือบัตรใบเดียว แต่รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้ว ให้สภามาจากบัตรสองใบ ก็อาจทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ยุบสภาดังขึ้นตามมา ก็เหมือนกับยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ก็ยุบสภาหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากระบบพวงใหญ่ หนึ่งเขตสามเบอร์ มาเป็นวันแมนวันโหวต และเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.เลือกตั้งฯ เสร็จสิ้นและอายุรัฐบาลเหลืออยู่ไม่มาก อภิสิทธิ์ก็ประกาศยุบสภาตามมาหลังจากนั้น

ผสมกับไทมิงเมื่อไปถึงกลางปีหน้าที่สภาอยู่ครบสามปีเศษแล้ว ถึงตอนนั้นประเมินได้ว่ากระแสกดดันเรียกร้องให้ยุบสภาจะเกิดขึ้นสูง ด้วยเหตุผลมีการแก้ไข รธน.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรนูญเสร็จแล้ว ควรคืนอำนาจให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามกติกาใหม่

ยิ่งถ้าสถานการณ์ในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพลังประชารัฐ บิ๊กตู่ยังเคลียร์ไม่ได้ ยังไม่วางใจในการเดินเข้าสู่ศึกซักฟอกกลางปีหน้า ไม่อยากให้ ส.ส.มากดดันตัวเองเพื่อแลกกับการโหวตไว้วางใจ

ปัจจัยการเมืองข้างต้นทั้งหมดจึงทำให้ถูกประเมินว่า มีโอกาสพอสมควรที่จะมีการยุบสภา มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหน้านี้

และว่ากันตามจริง ถึงต่อให้พลเอกประยุทธ์ต้องการอยู่ครบเทอม จะอยู่ให้ได้ถึงสี่ปี ซึ่งถ้านับแค่ตอนนี้คือตุลาคม 2564 ถ้านับไปถึงเดือนมีนาคม 2566 ที่สภาจะอยู่ครบสี่ปี ก็เท่ากับอายุของสภาเหลือเวลาอีกแค่ปีกว่า ไม่ถึงสองปี

การเตรียมตัวเตรียมพร้อมสำหรับการทำศึกเลือกตั้งกับหนึ่งปีกว่าที่เหลืออยู่ แม้ต่อให้ไม่มีการยุบสภาก็ถือว่าไม่มากไม่น้อย พรรคไหนออกตัวเร็ว เตรียมตัวพร้อมมากกว่าก็มีความมั่นใจ มีความพร้อมมากกว่าพรรคที่ยังไม่ได้ขยับอะไร

ปัจจัยการเมืองข้างต้นทั้งหมดจึงไม่แปลกที่จะเห็นการขยับของหลายพรรคการเมืองในการเตรียมพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งในอนาคต ทั้งพรรคที่มี ส.ส.ในสภาปัจจุบันและการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ ที่เปิดไปแล้ว อย่างเช่น ไทยภักดี ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม-ไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์-พรรคกล้าของกรณ์ จาติกวณิช-พรรครวมไทยยูไนเต็ด ของวินท์ สุธีรชัย นักธุรกิจพันล้าน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด มหาชน และอดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกล-อนาคตใหม่ เป็นต้น 

โดยที่ผ่านมาจะพบว่าทั้งพรรคเก่า-พรรคใหม่ มีการเริ่มขยับเตรียมเลือกตั้งกันมาหลายยก โดยบางพรรคที่ขยับเร็วก็ปรากฏว่าเกิดปัญหาตามมาพอสมควรกับการคัดเลือกตัวผู้สมัคร ส.ส. อย่างที่ปรากฏตอนนี้กับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ปัตตานี-พัทลุง-พังงา เป็นต้น

เมื่อตีสโคปการเมืองไปที่พรรคใหญ่-พรรคเก่าแก่บางพรรคเพื่อจับความเคลื่อนไหวดังกล่าว ก็พบเรื่องน่าสนใจเช่นกัน อย่าง "พลังประชารัฐ" ที่มีการสั่งให้มีการทำโพลภายในพรรคเพื่อวัดกระแสนิยมของ ส.ส.ของพรรคในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ที่มี ส.ส.เขต 14 คน และเป็นพื้นที่ซึ่งพลังประชารัฐตั้งเป้าไว้ว่า เลือกตั้งรอบหน้าพรรคควรเข้าไปกวาดมาได้อีกแบบเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น ทั้ง ส.ส.เขตและคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 

มีข่าวว่าโพลที่พลังประชารัฐซุ่มเงียบทำดังกล่าว มี ส.ส.ภาคใต้ได้คะแนนนิยมพอที่จะมั่นใจได้ว่าจะได้รับเลือกตั้งอีกครั้งสมัยหน้าเพียง 4 คนเท่านั้น จาก ส.ส.เขตภาคใต้ 14 คน และปรากฏว่า ส.ส.หลายคนกลับไม่ทราบถึงการจัดทำโพลดังกล่าวด้วยซ้ำ จนถูกวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องการเมืองภายในพลังประชารัฐ ที่ธรรมนัส-เลขาธิการพรรคต้องการใช้ผลโพลดังกล่าวดึงอำนาจการบริหารการเลือกตั้งในภาคใต้มาไว้กับตัวเองแบบเต็มที่ และเพื่อดึง ส.ส.ภาคใต้ทั้งหมด 14 คนให้มาอยู่ในซุ้มผู้กองทั้งหมด หลังก่อนหน้านี้มี ส.ส.ภาคใต้บางคนที่เคยอยู่กับธรรมนัสมาก่อน แต่ต่อมามีการแยกวง หลังธรรมนัสมีปัญหากับพลเอกประยุทธ์

โมเดลการซุ่มทำโพลและใช้ผลโพลดังกล่าวดึง ส.ส.มาอยู่กับซุ้มผู้กอง ก็อาจถูกนำไปใช้กับอีกหลายภาค โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่พลังประชารัฐมี ส.ส.เขต 12 คนด้วยเช่นกัน หลังก่อนหน้านี้มีความพยายามกันไม่ให้พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ มาเป็นหัวหน้าทีมคุมพื้นที่ กทม.พลังประชารัฐ แทนณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

การเคลื่อนไหวต่างๆ ในการเตรียมการเลือกตั้งของพลังประชารัฐ ต่อจากนี้จึงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะไม่แน่ ผลข้างเคียงของการเตรียมตัวทำศึกเลือกตั้ง ภายใต้การวางแผนการของธรรมนัส อาจยิ่งเป็นตัวเร่งให้มีการยุบสภาเร็วขึ้นก็ได้

ขณะที่ "พรรคเพื่อไทย" ที่ทุกฝ่ายแม้แต่คนในพลังประชารัฐ ก็ยอมรับว่าเลือกตั้งบัตรสองใบ พรรคที่จะได้ ส.ส.มากที่สุดในสภาก็คงเป็นพรรคเพื่อไทย แต่ด้วยสไตล์การบริหารพรรคแบบเถ้าแก่ของทักษิณ ชินวัตร จึงทำให้ทิศทางพรรคหลายอย่างยังไม่เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะ "แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย" ที่ทักษิณและแกนนำพรรคต่างบอกแบบท่องจำกันมาหมดว่ายังไม่ถึงเวลา รอให้ใกล้เลือกตั้งก่อน

สำหรับการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย 28 ต.ค.นี้ที่ขอนแก่นจะไม่มีเซอร์ไพรส์อะไรมาก เป็นแค่งานอีเวนต์การเมืองที่จะพรีเซนต์จังหวะก้าวทางการเมืองของเพื่อไทยในรูปแบบใหม่ๆ ที่เน้นความทันสมัยของพรรคมากขึ้น หลังมีการเปลี่ยนโลโก้-สโลแกนพรรคเท่านั้น

น่าสนใจว่าการขยับของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมกับโหมดเลือกตั้ง หลังจากนี้จะมีอะไรออกมาให้หวือหวาทางการเมืองอีก เป็นเรื่องน่าติดตาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พปชร. ยื่นร่างพรบ.ลำไย เข้าสภาฯ หวังช่วยแก้ปัญหา ลดภาระเกษตรกร

พรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส.เชียงใหม่ , นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส และนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ลำไย พ.ศ. …