เมื่อมะกันจับมือญี่ปุ่น อุ้มไต้หวัน, ปักกิ่งก็เดือด!


เพิ่มเพื่อน    

              อเมริกาภายใต้ โจ ไบเดน ขยับเข้าใกล้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย...เพื่อล้อมจีนอย่างชัดเจน

                โดยมีไต้หวันเป็นประเด็นร้อนแรงที่เปิดฉากการเมือง 4 เส้าอย่างเผ็ดร้อน

                นายกฯ ญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น บินไปวอชิงตัน จับไม้จับมือกับไบเดนเสร็จก็ออกแถลงการณ์ร่วมกัน

                ร่วมกันตอกย้ำถึง “ความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และเรียกร้องให้มีการแสวงหาทางออกที่สันติในประเด็นที่เกี่ยวกับไต้หวัน...”

                การที่อเมริกากับญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ร่วมและเอ่ยถึงไต้หวันนั้นเป็นสิ่งที่ปักกิ่งรับไม่ได้

                ไต้หวัน, ฮ่องกงและซินเจียงนั้นเป็น “กิจการภายในของประเทศจีน” ทั้งสิ้น

                คนข้างนอกห้าม “เผือก” ว่างั้นเถอะ

                จะว่าไปแล้วการที่ผู้นำมะกันกับญี่ปุ่นแสดงจุดยืนเกี่ยวกับไต้หวันอย่างเปิดเผยเช่นนี้ก็เป็นเรื่องค่อนข้างจะแปลก

                เพราะครั้งสุดท้ายที่ 2 ประเทศนี้ทำอะไรที่แตะเรื่องไต้หวันก็คือปี 1969 หรือ 52 ปีก่อน

                ปีนั้นประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน กับนายกฯ ญี่ปุ่น ซาโตะ เอซากุ พบกันและออกแถลงการณ์ที่โยงถึงไต้หวัน

                และอีกไม่กี่ปีต่อมาทั้ง 2 ประเทศก็เปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

                ตั้งแต่นั้นจนถึงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วอชิงตันกับโตเกียวก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดอะไรพร้อมๆ กันในอันที่จะกระเทือนซางของปักกิ่ง

                มาครั้งนี้ไบเดนกับซูกะเปิดเกมการเมืองใหม่...พร้อมใจกันกดดัน สี จิ้นผิง อย่างไม่เกรงอกเกรงใจ

                เพราะในแถลงการณ์ร่วมที่นำเสนอสื่อมวลชนทั้งโลกที่ทำเนียบขาวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานั้นยังมีอีกประโยคหนึ่งที่ทิ่มแทงใจของปักกิ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้

                ประโยคนั้นบอกว่า

                “ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ (สหรัฐกับญี่ปุ่น) มีความกังวลร่วมกันต่อกิจกรรมของจีนที่ไม่สอดคล้องกับกฎกติการะหว่างประเทศ รวมไปถึงการใช้รูปแบบทางเศรษฐกิจและอื่นๆ ในการกดดันบังคับชาติอื่นๆ...”

                สำทับด้วยถ้อยคำที่ว่า

                “เราต่อต้านความพยายามของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่กระทำโดยพลการเพื่อเปลี่ยนสถานภาพเดิมของทะเลจีนตะวันออก”

                จะแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากจะหมายถึงการที่จีนมีความขัดแย้งกับญี่ปุ่นเหนือหมู่เกาะเซนกากุในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งอยู่ใกล้เกาะไต้หวัน

                หมู่เกาะชุดนี้จีนเรียกว่า “เตี้ยวหยู” ซึ่งอยู่ใต้การบริหารของญี่ปุ่นมาตลอด แต่จีนก็อ้างอธิปไตยเหนือบริเวณนั้น

                บ่อยครั้งจีนส่งเรือแล่นเข้าไปในน่านน้ำใกล้ๆ บริเวณที่เป็นข้อพิพาท ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่าง 2 ยักษ์เอเชียเป็นประจำ

                เมื่อได้โอกาสที่ผู้นำญี่ปุ่นมาพบกับประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จึงเป็นจังหวะที่โตเกียวจะจับมือวอชิงตันเพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังปักกิ่งอีกครั้ง

                ปักกิ่งรับสัญญาณนี้ชัดแจ้ง รับรู้ทันทีว่า “ศึก 4 เส้า” กำลังระเบิดรอบใหม่แล้ว

                ทันทีที่ไบเดนย้ายเข้าทำเนียบขาวแทน โดนัลด์ ทรัมป์ สี จิ้นผิง ก็ย่อมจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจตั้งรับแรงกดดันจากวอชิงตันในหลายๆ เรื่องที่ทรัมป์อาจจะไม่ใส่ใจเท่าใดนัก

                แต่ไบเดนมาพร้อมกับทิศทางยุค บารัค โอบามา ภายใต้ความร่วมมือของนโยบายพรรคเดโมแครตที่สหรัฐจะต้องกลับมาเล่นบท “พี่เบิ้ม” เรื่องประชาธิปไตย, เสรีภาพ และพันธกรณีต่อประเทศในเอเชียที่มีสนธิสัญญาร่วมรบกันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

                ยิ่งเมื่อไบเดนส่งคณะตัวแทนไม่เป็นทางการระดับอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาความมั่นคงไปไต้หวันก่อนที่นายกฯ ญี่ปุ่นจะมาเยือน ปักกิ่งก็ต้องลุกขึ้นมาตั้งป้อมสู้สงครามน้ำลายรอบนี้ทันที

                เพราะทีมที่ไบเดนส่งไปไต้หวันนั้นคืออดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ 2 คนอย่าง Richard Armitage และ James Steinberg ก็ยิ่งตอกย้ำว่าสหรัฐต้องการยืนยันพันธกรณีทางด้านการป้องกันประเทศที่มีกับไต้หวันอย่างไม่เสื่อมคลาย

                ยิ่งเมื่อคณะจากวอชิงตันร่อนลงไต้หวันหลังจากที่จีนส่งฝูงบินรบอย่างน้อย 25 ลำส่งเสียงคำรามเหนือเกาะไต้หวันอย่างโจ๋งครึ่มด้วยแล้ว ก็ยิ่งยืนยันว่าการเผชิญหน้ารอบใหม่ระหว่างจีนข้างหนึ่งกับสหรัฐและไต้หวันอีกข้างหนึ่งได้เริ่มขึ้นแล้ว!

                (พรุ่งนี้ : เมื่อจีนแดงส่งฝูงบินรบคำรามใส่ไต้หวัน).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"