ถึงเวลาต้องใช้มืออาชีพ เอกชนช่วยสู้โควิ


เพิ่มเพื่อน    

   การระดมสมองของซีอีโอ 40 ท่านเพื่อหาทางช่วยรัฐบาลในการ “บริหารวัคซีน” สะท้อนอะไรบางอย่างที่ในยามปกติเราจะไม่เห็นหรือมองข้าม

            นั่นคือศักยภาพของภาคเอกชนที่มีอยู่อย่างมากมาย  แต่ไม่เคยถูกกดดันถึงขั้นที่ต้องออกมา “ระดมสรรพกำลัง”  กันอย่างจริงจัง

            เพราะครั้งนี้เอกชนตระหนักแล้วว่าถ้าหากยังปล่อยให้รัฐบาลทำข้างเดียว และเอกชนเป็นเพียง “ตัวประกอบ”  โดยที่ต่างคนต่างทำ ความเสียหายต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพของสังคมจะหนักหน่วงรุนแรงเกินกว่าที่จะรับได้

            ที่ผ่านมา บทบาทของเอกชนในภาวะที่เกิดเหตุร้ายในบ้านเมืองก็มักจะเป็นลักษณะ “อาสาสมัคร” หรือเล่นบทเป็น “ผู้บริจาค” ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับการวางแผน, ตั้งเป้า,  ประเมินสถานการณ์, กำหนดกรอบเวลา และวางตัวผู้รับผิดชอบตามภารกิจที่เกิดจากการวิเคราะห์ร่วมกัน

            ครั้งนี้จะเห็นว่าข้อสรุปของที่ประชุมมีเนื้อหาสาระแห่งการ “บริหารวิกฤติ” ของมืออาชีพในหลายๆ มิติ

            บันทึกข้อสรุปของมาตรการที่ตกลงกันในที่ประชุมวันนั้นคือ บทบาทของเอกชนที่จะ Connect the Dots หรือการ “เชื่อมต่อจุดต่างๆ ให้ครบวงจร”

            นั่นสะท้อนว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการช่วยกันทำงาน  แต่ก็เป็นลักษณะ “ต่างคนต่างทำ” ขาดการวางเป้าหมายร่วมกัน ไม่มีการวางยุทธศาสตร์และการประเมินเพื่อแก้ไขจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องระหว่างทาง

            วิธีการบริหารวิกฤติของเอกชนกับราชการต่างกันตรงนี้

            ระบบราชการมี dots หรือจุดต่างๆ เยอะ กระทรวง ทบวง กรมต่างก็มีระเบียบและขั้นตอนของการทำงานที่ต่างกัน ต่างคนต่างมีการประเมินผลงานต่างกัน

            ที่สำคัญคือ ในหลายๆ ครั้งกลไกของรัฐเองก็แก่งแย่งหน้าที่การงานซึ่งกันและกัน

            อีกทั้งยังมีประเด็นงบประมาณที่เป็นตัวกำหนดความคล่องตัวและการประเมินผลงาน

            แม้จะมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการใหญ่ที่ดึงเอาตัวแทนจากกระทรวง ทบวง กรมมานั่งกันเต็มไปหมด แต่เมื่อมีมติออกมาแล้วลงไปถึงขั้นปฏิบัติ ก็ยังกลับไปสู่วงจรระบบราชการอยู่ดี

            ความไร้ประสิทธิภาพและไร้ทิศทางที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบของระบบราชการ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การบริหารวิกฤติไม่ตอบโจทย์แห่งวิกฤติที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ

            ในบางกรณีที่เราเห็นผลงานด้านการบริหารวิกฤติได้ดีพอสมควรนั้น หากสืบสาวราวเรื่องไปแล้วก็จะพบว่าเป็นเพราะความสามารถเฉพาะตน หรือเฉพาะกลุ่มก้อนในบางกระทรวงที่ได้รับการฝึกปรือและผ่านประสบการณ์มาเอง

            เขาและเธอเหล่านั้นมีความเป็นมืออาชีพในตัวเอง  และมีความสามารถพิเศษบางประการ เช่นการหลบหลีกระบบราชการบางรายละเอียดเพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายเฉพาะหน้าได้ดี

            เพราะพวกเขาและเธอเอาความเป็นมืออาชีพอยู่เหนือความเป็นข้าราชการแบบไทยๆ

            แต่นั่นเป็น “ข้อยกเว้น” มากกว่าที่จะเป็นพฤติกรรมธรรมชาติ

            แต่ประเทศเราจะฟันฝ่าวิกฤติ (หลังโควิด-19 ก็จะยังมีวิกฤติอย่างอื่นตามมาอีก) ได้จะต้องทำให้ “ข้อยกเว้น”  เหล่านี้กลายเป็น “ความปกติ” ให้ได้

            นั่นคือจะต้องใช้ “มืออาชีพ” ในการทำงานมากกว่าจะใช้ “ความเป็นข้าราชการ” มากำหนดวิธีการทำงาน

            อ่านผลสรุปของการประชุม 40 ซีอีโอวันนั้นแล้วจะเห็นว่า เขาจับเนื้อหาของวิกฤติเป็นประเด็นชัดเจน...พร้อมกับการวางเป้าหมาย, ตั้งกรอบเวลา, วางตัวผู้รับผิดชอบ และจัดหาทรัพยากรเพิ่มเติมที่จำเป็น

            ต่างกับการประชุมของราชการที่มีกรอบและแบบแผนตายตัว ทั้งไม่มีความคล่องตัวหรือความยืดหยุ่นที่จะปรับแผนให้สอดคล้องกับปัจจัยและตัวแปรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"