ศบค.กังวลตัวเลขติดเชื้อกทม.ลดลงจริงหรือไม่ เหตุสวนทางผู้ป่วยอาการหนัก


เพิ่มเพื่อน    

30 เม.ย.64 - พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,583 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,579 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,366 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 213 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 65,153 ราย หายป่วยสะสม 36,254 ราย อยู่ระหว่างรักษา 28,696 ราย อาการหนัก 871 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 250 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 15 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 6 ราย อยู่ใน กทม.ถึง 9 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 203 ราย ทั้งนี้ จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรกวันที่ 30 เม.ย. คือ กทม. 417 ราย สมุทรปราการ 138 ราย ชลบุรี 131 ราย เชียงใหม่ 66 ราย นนทบุรี 50 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 151,117,679 ราย เสียชีวิตสะสม 3,179,187 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อ กทม.ที่ลดลงเหลือ 417 ในวันที่ 30 เม.ย. เราต้องมาดูว่ามันลดลงจริงหรือไม่ เพราะถ้าไปดูจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ เสียชีวิต รวมถึงผู้ป่วยในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงยังคงเพิ่มอยู่ ดังนั้น นี่คือวิกฤติของเรา เราจำเป็นต้องลดตัวเลขผู้ติดเชื้อลง และถ้าไปดูการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีประวัติเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงในรอบเดือน เม.ย. พบว่ามีทั้งสิ้น 7,755 ราย อยู่ใน กทม.ถึง 6,828 ราย มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด 831 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 68 ราย จำนวนคนที่มีภูมิลำเนา 831 รายนี้หรือไม่ที่ไปแพร่เชื้อในช่วงสงกรานต์

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมอีโอซีกระทรวงสาธารณสุข มีการรายงานตัวเลขการค้นหาเชิงรุกใน กทม. ตั้งแต่วันที่ระหว่าง 5-29 เม.ย. มีการค้นหาทั้งในสถานประกอบการ สถานบันเทิง ประชาชนเดินเข้ามา ตลาด ชุมชน รวมทั้งสิ้น 28,022 ราย พบเชื้อ 1,273 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.54 และการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกสถานที่ต่างๆ ระหว่างวันที่ 27-30 เม.ย. ตรวจไปแล้วทั้ง 5,300 ราย เฉพาะชุมชนคลองเตยตรวจไปแล้ว 1,000 ราย พบติดเชื้อแล้วถึง 67 ราย ดังนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุกตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค. และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผอ.ศปก.ศบค.มองว่าสิ่งที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องคู่สายต่างๆ รวมถึงการใช้ศูนย์กีฬานิมิตรบุตรในการคัดแยกผู้ป่วย การค้นหาเชิงรุกต้องทำโดยเร็ว ต้องบูรณาการฝ่ายรักษาและฝ่ายควบคุมโรค ต้องช่วยกัน เรามีเวลาไม่นาน ต้องจัดการให้ได้  

เมื่อถามว่า ศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยที่ศูนย์กีฬานิมิตบุตรทำงานอย่างไร ถ้าประชาชนรู้ว่าติดเชื้อไปสถานที่ดังกล่าวได้เลยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เจตนาของการตั้งศูนย์ดังกล่าว เนื่องจากมีประชาชนที่ติดเชื้อโทรศัพท์หาเตียงไม่ได้ ไม่มีที่ไป บางคนเริ่มมีอาการจึงให้เขามาตรวจที่ศูนย์นี้เพื่อคัดแยก หากมีอาการหนักมากจะส่งต่อไปให้โรงพยาบาล อีกทั้งศูนย์ดังกล่าวยังระดมบุคลากรทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการแต่ไม่หนักมากได้ด้วย เพื่อให้การดูแลเบ็ดเสร็จในที่เดียว วันนี้เปิดวันแรก มีการสนับสนุนจากภาคเอกชน เปิดสายด่วน 02-0791000 จำนวน 40 คู่สาย ใครที่รอการแอดมิด ไม่มีคนติดต่อไป สามารถโทรศัพท์เข้ามาได้เลย นายกฯระบุว่าถ้ามีความต้องการจำนวนมากและจำเป็นให้เปิดไปเลยสี่มุมเมือง เราต้องหาเคสให้ได้ และมีเตียงรองรับ การดำเนินการตรงนี้ทุกภาคส่วนช่วยกัน เป็นนโยบายการรวมศูนย์การให้บริการ

 เมื่อถามว่า ขณะนี้คนสับสนเรื่องการลงทะเบียนจองคิววัคซีน และแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมที่จะมีการเปิดลงทะเบียนวันแรกในวันที่ 1 พ.ค. จะยังพร้อมใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เป็นความท้าทายของกระทรวงสาธารณสุขในการจัดการแอปพลิเคชั่นดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนรับวัคซีนดำเนินได้ 3 ทาง คือ ไปที่โรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิการรักษา หรือบอก อสม.ให้ลงทะเบียนให้ หรือลงทะเบียนที่แอปพลิเคชั่นหมอพร้อมสำหรับคนที่มีสมาร์ทโฟน เพื่อลดการเดินทาง แต่อย่างไรก็ตาม การเริ่มลงทะเบียนวันที่ 1 พ.ค.ผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมถือเป็นระบบใหม่ ซึ่งทุกระบบถ้าทุกคนเข้าไปใช้พร้อมกันจะเป็นปัญหา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องรีบลงทะเบียนทันที เพราะไม่ได้เปิดให้ลงทะเบียนวันเดียว สามารถทยอยลงทะเบียนได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"