โควิดซ้ำเติมปากท้อง คนไทยอย่างสาหัสทุกวัย


เพิ่มเพื่อน    

      การระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 นำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจที่หนักหน่วงขึ้นอีกหลายด้าน

            ตัวเลขผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ของประเทศที่รัฐบาลเคยฝันไว้ว่าปีนี้จะโตได้ 4% นั้น เริ่มมีการประเมินใหม่ว่าอาจจะเหลือ 1.6% เท่านั้น

            บางสำนักบอกว่าเผลอๆ อาจจะเข้าขั้นติดลบด้วยซ้ำ  หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ

            รัฐมนตรีคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ยอมรับเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าโควิดมีส่วนซ้ำเติมคนไทย ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่ง และสถานะการเงินคนไทยจะเปราะบางยิ่งขึ้น

            คุณธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) แสดงความกังวลว่านักศึกษาจบใหม่จะตกงานกันเป็นจำนวนมาก

            ท่านเรียกมันว่า “ว่างงานแฝง” ที่สะท้อนผ่านข้อมูลจำนวนคนที่กำลังหางาน เฉพาะในเว็บไซต์  Jobthai.com ที่ล่าสุดมีผู้ฝากประวัติแสดงความจำนงต้องการงานทำ 1.87 ล้านคน ส่วนใหญ่จบปริญญาตรี

            คุณธนิตบอกว่า ถ้าหากพิจารณาเฉพาะนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ปีการศึกษา 2564 ที่เริ่มทยอยจบเดือนมีนาคมและเมษายนนี้อีก 520,000 คนที่อยู่ในช่วงการระบาดของโควิดระลอก 3 ซึ่งมีทั้งระดับ ปวช., ปวส. และ ปริญญาตรี

            ทั้งหมดนี้ต้องเผชิญกับปัญหาการหางานที่ยากลำบากขึ้นแน่นอน

            นอกจากนี้ คนตกงานหรือถูกลดงานตั้งแต่ระลอกที่ 1  และ 2 กับผู้ที่กำลังจะตกงานเพราะระลอกที่ 3 นี้ก็จะทำให้จำนวนคนตกงานทางตรงและทางอ้อมรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 6-7 ล้านคนทีเดียว

            รัฐมนตรีอาคมพูดถึงสถานการณ์ทางการเงินของคนไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 4 ประเด็น

            ข้อแรกคือ สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนคนไทยต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น

            โดยไตรมาส 3 ปี 62 สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่  78.9% ถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

            แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 63 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 86.60%

            สะท้อนถึงความเปราะบางของคนไทยเมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติ

            ข้อสองคือ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

            คาดว่าปี 66 สัดส่วนผู้สูงวัยจะอยู่ที่ 20% ของจำนวนประชากร

            สถิติปี 63 ชี้ว่าสัดส่วนผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปี อยู่ที่  11.60 ล้านคนแล้ว คิดเป็น 17.6%

            ข้อมูลปี 60 พบว่าผู้สูงอายุใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการเลี้ยงดูของบุตรหลาน 34.7%

            อีก 31% ต้องทำงานหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง

            มีเพียง 2.3% ที่ใช้รายได้จากเงินออม

            นี่คือภาวะ “เกษียณแล้วทุกข์

            ข้อน่ากังวลข้อ 3 คือ ภาวะการออมของคนไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

            ผลสำรวจการออมของครัวเรือนคนไทยปี 61 พบว่า  5.8 ล้านคน หรือ 27.1% ไม่มีการออม

            ส่วนอีก 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% มีการออมเงิน แต่วิธีการออมเงินนั้นพบว่า 38.9% มีพฤติกรรมใช้เงินก่อนออม

            อีก 38.5% มีการออมไม่สม่ำเสมอ

            ส่วน 22.6% มีพฤติกรรมออมก่อนใช้

            จึงจำเป็นต้องเสริมทักษะความรู้เกี่ยวกับการออมให้ประชาชน

            ข้อน่ากังวลที่ 4 คือ คนไทยมีทักษะความรู้ทางการเงินต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

            ด้วยเหตุนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 12 ปี 60-64 จึงได้มียุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และสร้างความเข้มแข็งการเงินฐานราก ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

            แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  ต้องสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค

            มุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำ

            กระจายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ

            ลดความยากจนข้ามรุ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถขยับฐานะ มีภูมิคุ้มกัน

            และได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน

            ปัญหาของสังคมไทยก่อนเจอกับวิกฤติโควิดนั้นหนักหนาอยู่แล้ว ยิ่งโดนซ้ำเติมโดยโรคระบาดครั้งนี้ด้วยแล้ว ต้องถือว่า “สาหัสสากรรจ์” ทีเดียว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"