ทสม.ชายแดนเวียงแหง แนวร่วมเชียงใหม่ ลด PM2.5


เพิ่มเพื่อน    

 

 

 

     “ ไฟป่าปีนี้ เราจะต้องเอาจริงเอาจัง เพราะปีที่ผ่านมา สถานการณ์ไฟป่า ฝุ่นควันปี 2563 อำเภอเวียงแหง เกิดจุดความร้อน 805 จุด มากสุดในพื้นที่ตำบลเมืองแหง 584 จุด และเป็นพื้นที่อันดับต้นๆ ของโลกที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดในรอบปี และนโยบายของจังหวัดเชียงใหม่มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะการสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่สำคัญท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่การจัดทำแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร  โดยมีเป้าหมายร่วมกัน ต้องลดจากปีที่ผ่านมาให้ได้ร้อยละ 25 ของจังหวัดเชียงใหม่ ” นายชานนท์ ดวงมณี  ปลัดอำเภอเวียงแหง  ที่ปรึกษาเครือข่ายทสม. ตำบลเมืองแหง กล่าว

            อำเภอเวียงแหง  อำเภอชายแดนไทย – พม่า พื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ด้วยระยะทาง ไป – กลับ  360 กิโลเมตร ใช้เวลาการเดินทาง  3  ชั่วโมง หลายคนอาจจะคิดว่า ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่  เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งของทุกปีเกิดปัญหาไฟป่า หรือไฟในพื้นที่เกษตรคำถามคือ ด้วยระยะทางที่ไกล ควันจากการเผาในพื้นที่อำเภอเวียงแหงจะไปปกคลุมทั่วเมืองเชียงใหม่ได้หรือไม่เช่นเดียวกับหลายๆอำเภอที่มีชุมชนอยู่ใกล้ชิดกับป่าและอยู่ในป่า แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป

     3-4 ปีที่ผ่านมานั้นปัญหา ไฟป่า ฝุ่นควันไม่ใช่มาจากพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่ป่าอย่างเดียวเท่านั้น แต่มาจากทุกแหล่งกำเนิด ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวแปรที่ทำให้ไม่สามารถวางแผนในการบริหารจัดการไฟหรือเชื้อเพลิงได้ในหลายๆพื้นที่ แม้ว่าจะมีนโยบายหรือมาตรการจังหวัดเชียงใหม่ลงมาในระดับพื้นที่ ตั้งแต่มาตรการห้ามเผา  การจัดทำแผนการเผาโดยกำหนดโซนและช่วงเวลาการเผา ซึ่งสามารถทำได้ในระดับหนึ่งในการแก้ไขปัญหา แต่ยังมีเงื่อนไข ข้อจำกัดที่จะต้องนำมาวางแผน ออกแบบการทำงานร่วมกัน 

         ลำพังหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและการใช้นโยบายหรือมาตรการในระดับจังหวัดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถดำเนินการที่จะแก้ไขปัญหาได้ ชุมชนและท้องถิ่น จึงเป็นฐานรากสำคัญที่เผชิญกับสถานการณ์ปัญหา ย่อมรู้ดีว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน พื้นที่แบบไหนที่ควรจะจัดการอย่างไร ใครรับผิดชอบ จะกำหนดบทบาทภารกิจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายในการจัดการร่วมกันอย่างไร 

        เช่นเดียวกับที่อำเภอเวียงแหง  การขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่มิได้เริ่มต้นจากศูนย์แต่มีเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่ขับเคลื่อน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2546 โดย “เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน” จากปัญหาความขัดแย้งด้วยความเห็นต่างในแนวทางการพัฒนาโครงการของรัฐ ความไม่ชัดเจนในแนวเขตที่ดินทำกินกับแนวเขตป่าไม้  นำมาซึ่งการจัดทำฐานข้อมูลเป็นเครื่องมือในการประสานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่  เกิดกลไกร่วมในการจัดการตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ

       “เมื่อเริ่มทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน ก็ทำให้เรามีวิธีคิดในเรื่องของการสร้างความร่วมมือ สร้างความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งเป็นงานที่ยากที่จะให้คนทุกคนมาฟังและร่วมมือกันทำงานและเดินไปด้วยกัน อย่างชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ  การทำงานตรงนี้ก็ไม่สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ ป่าไม้ก็เหมือนกัน การที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปไล่จับชาวบ้านโดยไม่มีการพูดจากันก่อน กลับกลายเป็นว่ายิ่งมีการลักลอบแผ้วถางป่าเพิ่มมากขึ้น มากกว่าที่เจ้าหน้าที่มาจับและเราทำงานในแนวทางนี้เราลงไปหาชาวบ้านจริงๆ และเอาเจ้าหน้าที่ลงไปพร้อมๆกัน มีการพูดคุยกันจนเกิดการยอมรับและให้ความร่วมมือ มันเกิดประโยชน์มาก เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาได้ดี  " แววใจ สมเตียม เลขานุการเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน      

      การดำเนินงานของเครือข่ายฯ ส่งผลป่าเพิ่มขึ้นจากการคืนพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์  พื้นที่แปลงคดีและพื้นที่ที่เป็นต้นน้ำ   แปลงคดีและการจับกุมลดลง  ไฟป่าและไฟในพื้นที่เกษตรลดลง  ท้ายสุดความร่วมมือมากขึ้นเกิดการยอมรับจากหน่วยงานในพื้นที่ เมื่อมีกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ รวมไปถึงไฟป่า เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปขับเคลื่อนการทำงาน อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2560  มีความพยายามของเครือข่ายฯที่จะทำให้สถานะความเป็นเครือข่ายเป็นทางการมากขึ้น จึงผลักดันให้สมาชิกเครือข่ายฯ เข้าไปเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. ทั้งอำเภอ รวม  14 หมู่บ้าน 3 ตำบล

      ทสม. ตำบลเมืองแหง หนึ่งในพื้นที่ ทสม.ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศและเป็นสมาชิกเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน เป็นกลุ่มองค์กรเครือข่ายที่อาสาดูแลรักษาทรัพยากรในหมู่บ้าน มีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันของชุมชนทั้งปี ไม่เฉพาะช่วงฤดูที่ต้องจัดการไฟเท่านั้น  ตั้งแต่การทำแนวกันไฟ  ลาดตะเวน   ปลูกป่า ทำฝายชะลอน้ำ  การเฝ้าระวังพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านจัดการเรียกว่า “ป่าชุมชน” รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากป่าที่มีระเบียบกติกา ข้อตกลงร่วมของคนในชุมชน รวม 6 หมู่บ้าน  พื้นที่ป่า  7,002  ไร่   9 งาน  276  ตารางวา

 

      ในปีที่ผ่านมา ภายหลังจากชุมชนได้ดำเนินกิจกรรมทั้งการจัดการป่าและปฏิบัติการจัดการกับไฟป่าและไฟในพื้นที่เกษตร ได้สรุปบทเรียน วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาหลักๆ ร่วมกันเพื่อที่จะวางแผนในปี  2564 ต่อไปนั้น พบว่า ไฟในพื้นที่ป่า   ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างตำบล หมู่บ้าน รวมถึงพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ทำให้การแบ่งเขตรับผิดชอบที่โยนกันไป โยนกันมาส่วนใหญ่ที่เรียกว่า “พื้นที่สูญญากาศ” ที่ไม่มีเจ้าภาพร่วมในการจัดการ เมื่อเกิดไฟขึ้นในพื้นที่ป่า ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว

      บางพื้นที่มีความเปราะบาง ด้วยสภาพป่าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะป่าสน ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อเพลิง ที่ไม่สามารถควบคุมได้  บางส่วนเป็นภูเขาหน้าผาสูงชันไม่สามารถที่จะเข้าไปจัดการได้ทั่วถึง ส่วนหนึ่งมาจากการล่าสัตว์ของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงหรือในหมู่บ้าน ทำให้เกิดการใช้ไฟโดยไม่จำเป็นเกิดขึ้นมาในพื้นที่ป่าและลุกลามกระจายไปทั่วพื้นที่ป่า และส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ไฟลุกลามจากพื้นที่เกษตรของชุมชนโดยรอบทำให้เกิดไฟลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่าไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน     

     “ ไฟป่าเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์แล้งจัดมีนาคม – เมษายน ด้วยสภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าสน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของการเกิดไฟเป็นอย่างดี และด้วยที่ตั้งหมู่บ้านและสภาพป่าเป็นพื้นที่สูงชัน 1,000 - 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีลมแรงเป็นระยะ ทำให้ไฟกระจายตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะลูกสนที่หล่นลงมาเมื่อเจอไฟไหม้จะกลิ้งจากที่สูงลงที่ต่ำ ทำให้เกิดการกระจายตัวของไฟไปในวงกว้างและรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญ การใช้ Hotspot มากำหนดจุดของการควบคุมหรือเป็นพิกัดให้เจ้าหน้าที่ลงไปปฏิบัติการนั้นกลายเป็นจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน เพราะส่วนหนึ่งไฟที่ลุกลามจากป่าเข้าไปในพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ชาวบ้านจะกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จุดไฟจากพื้นที่เกษตรเข้าพื้นที่ป่า ยังเป็นประเด็นที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ปีที่ผ่านมา มีหลายหมู่บ้านในเครือข่ายฯ สามารถควบคุมไม่ให้เกิดไฟขึ้นได้”  นายบุญ ปู่หลู่   ประธาน ทสม.ตำบลเมืองแหง กล่าวเพิ่มเติม

         ส่วนไฟในพื้นที่เกษตร  ส่วนหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่ามาจากความไม่ชัดเจน ในการใช้มาตรการห้ามเผาห้วง 60 วัน ทำให้การเผาในพื้นที่ของเกษตรกรไม่สามารถจัดการเผาเศษวัสดุได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นต้องใช้สารเคมีเข้ามาจัดการพื้นที่ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูง  ผลผลิตที่ได้ไม่ได้คุณภาพ รวมทั้งช่วงเวลาการเผากับมาตรการห้ามเผาไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะพืชที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟ เช่น ไร่ข้าวโพด เป็นต้น

“การเกิดไฟในพื้นที่เกษตร ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยมีปัญหามากนัก   แต่หากจะมีส่วนหนึ่งมาจากชุมชนไม่ได้มีการวางแผนการเผา ที่ผ่านมาต่างคนต่างเผาในพื้นที่ของตนเอง และไม่มีการทำแนวกันไฟในพื้นที่เกษตร เมื่อมีมาตรการห้ามเผาจึงเกิดการลักลอบการเผาในพื้นที่เกษตร ลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า” นายศรีดา สันนิถา คณะกรรมการ ทสม. ตำบลเมืองแหง บ้านกองลมม. 2  กล่าว

       ปีนี้  2564  เครือข่ายทสม. ตำบลเมืองแหง  ได้รวมพลังกันอีกครั้ง วางแผนการจัดการไฟทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร ที่สอดคล้องกับแนวทางนโยบายของจังหวัดเชียงใหม่ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนโดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดการเกิดไฟให้ได้ร้อยละ 25 จากพื้นที่เผาไหม้ในปี 2563 ทั้งหมด = 1,384,078 ไร่ เป้าหมายพื้นที่เผาไหม้ในปี 2564 ทั้งหมด = 1,038,058.5 ไร่และแนวทางที่เป็นธงร่วมกันของเครือข่ายฯ คือ การขยายเครือข่ายทสม. ให้ครอบคลุมทั้งอำเภอ ในการจัดการป่าชุมชนและขึ้นทะเบียน ตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน  2562 ให้สิทธิชุมชนชอบด้วยสิทธิตามกฎหมาย โดยมีหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ให้การสนับสนุน และปีนี้เช่นกัน เครือข่าย ทสม.ตำบลเมืองแหง ได้รับโอกาสการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย ทสม.ในการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัจากกองทุนสิ่งแวดล้อมจับมือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดรูปธรรม

          จากการดำเนินงานและมีบทเรียนและประสบการณ์ในปี 2563   จึงนำมาสู่การวางแผนการบริหารจัดการไฟทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในปี 2564 โดยการประสานความร่วมมือทั้งส่วนของเครือข่ายฯ  ทสม.กับส่วนท้องถิ่น อำเภอเวียงแหง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เดือน มกราคม เป็นต้นมา โดย

       1. การจัดเวทีทำความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางนโยบายจังหวัดเชียงใหม่กับแนวทางที่จะดำเนินการสอดคล้องกับพื้นที่โดยมีศูนย์สั่งการไฟป่าอำเภอเวียงแหง เป็นกลไกกลางในการประสาน การส่งต่อข้อมูลจากจังหวัดลงมาในระดับพื้นที่  รายงานสถานการณ์พื้นที่ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันทั้งการรายงานกิจกรรมแนวกันไฟ  ลาดตะเวน และบริเวณจุดที่เกิด  Hotspot  เพื่อให้หน่วยงานหรือหมู่บ้านที่ดูแลพื้นที่เข้าถึงการดับไฟได้อย่างรวดเร็ว  

     2.จัดทำแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (ชิงเผา) โดยโซนเหนือกำหนดให้ดำเนินการเผาในช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ผ่านระบบ app จองการเผาและผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจังหวัดที่จะอนุญาตให้เผาในช่วงวันและเวลา  เมื่อถึงช่วงเวลาการจัดการเชื้อเพลิง (มีนาคม – เมษายน)ดังกล่าว จะมีคณะกรรมการหมู่บ้าน  เจ้าของพื้นที่ (หากเป็นการดำเนินการในที่ดินทำกิน) เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในพื้นที่ร่วมในการเฝ้าระวังในขณะที่ดำเนินการจัดการเชื้อเพลิงเพื่อป้องกันไฟลุกลาม

    3. ลาดตะเวน เฝ้าระวังไฟโดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่เป็นรอยต่อระหว่างหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ  โดยมีการวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ เขตรับผิดชอบของ     4.ปฏิบัติการดับไฟ เมื่อเกิดไฟลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า โดยมีทสม. และหน่วยงานองค์กรในพื้นที่ร่วมกันของแต่ละหมู่บ้านเข้าดำเนินการ สับเปลี่ยนหมุนเวียนดับไฟทั้งกลางวันและกลางคืน

       ท้ายสุดการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจากการวางแผนตั้งแต่ต้นทางและความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้ไฟในปี 2564 ลดลงจาก 708 จุด  ตั้งแต่วันที่  1 มกราคม - 30 เมษายน 2564 เหลือเพียง  176 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 24.97 %  

          ถือเป็นพลังขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม.ตำบลเมืองแหงจากนี้ไป โดยมีเป้าหมายร่วมกันทำให้ผืนป่าที่ชุมชนจัดการ ดูแลรักษานั้น ได้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

                “ ป่าที่เราดูแลรักษาทุกวันนี้  พื้นที่รวม  600 กว่าไร่ แต่ก็ร่วมกันเฝ้าระวังไม่ให้ไฟเข้าพื้นที่ป่า เนื่องจากป่าชุมชนเป็นแหล่งต้นน้ำที่หมู่บ้านเราต้องอาศัยน้ำจากห้วยเมี่ยง ทำเป็นระบบประปาภูเขาดึงน้ำเข้ามาใช้เพื่อการอุปโภค บริโภคในชุมชน   เป็นแหล่งอาหาร โดยเฉพาะเห็ด หน่อไม้ ที่ชุมชนนำมาบริโภคในครัวเรือน บางครอบครัวเก็บหาเพื่อนำมาจำหน่ายแต่ต้องอยู่ในระเบียบของชุมชน เพราะบ้านป่าไผ่ของเรานั้น  ทุกคนที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า จะต้องเป็นสมาชิกป่าชุมชน โดยเสียค่าธรรมเนียมปีละ 100 บาทเข้ากองทุนป่าชุมชนและหากมีการทำกิจกรรมเกี่ยวกับป่าชุมชนหรือด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน หากสมาชิกคนใดที่เข้าร่วมกิจกรรม จะได้รับคูปอง ธนาคารความดี 1 กิจกรรมต่อหนึ่งใบ สะสมมากสิ้นปีคณะกรรมการจะมีการมอบรางวัลให้เป็นขวัญและกำลังใจ "  นางเฉลิมชัย  โปธา  ประธานป่าชุมชนบ้านป่าไผ่ และคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ตำบลเมืองแหง กล่าว 

      ประธานป่าชุมชนคนเดิมย้ำด้วยว่า ป่าชุมชนบ้านป่าไผ่มีแผนที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งศึกษาธรรมชาติเนื่องจากภายในพื้นที่ป่ามีจุดสำคัญๆ อาทิเช่น  ดงมะกอก  ดงกล้วยไม้ โดยเฉพาะกระเช้าสีดา มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่ป่า ดงสมุนไพร  และดงที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ฉะนั้นทุกปีสมาชิกทุกคนในชุมชน สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเฝ้าระวังไฟเพื่อไม่ให้ไฟเข้า และร่วมกิจกรรมการจัดการป่าทุกปี

 

 

                       

           


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"