โวเช็กบิลเผด็จการ! เพื่อแม้วร่วมวงพรรคเด็กฉีกรธน./จับตาศาลชี้กม.ลูก-คำสั่งตู่


เพิ่มเพื่อน    


     จับตา “ศาลรัฐธรรมนูญ” เคาะกฎหมายลูก ส.ส.และคำสั่งหัวหน้า คสช.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ “หัวเขียง” เชื่อมีสะดุดแน่ “อนาคตใหม่” ประกาศชงฉีกรัฐธรรมนูญหาเสียงต่อ โวรอพิสูจน์ในการเลือกตั้ง “วัฒนา” ไม่รอช้าขอโหนด้วย  ลั่นนอกจากรื้อทิ้งแล้วต้องเช็กบิลด้วย “ลูกบรรหาร” มาครึ่งทาง ดีเก็บไว้ มีส่วนสร้างปัญหาก็ปรับปรุง ยกสมัย ”เติ้ง” ก็เคยทำมาแล้ว
     ในวันพุธที่ 30 พฤษภาคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมในเวลา 13.30 น. เพื่ออภิปรายและนำไปสู่การวินิจฉัย 2 เรื่องที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1.ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231(1) ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45 หรือไม่ และ 2.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. จำนวน 27 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสาม และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... มาตรา 92 วรรคหนึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่ 
     โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เชื่อมั่นว่า การวินิจฉัยความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อประเด็นการใช้สิทธิแทนผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ และการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะการพิจารณาของ สนช.ทั้ง 2 ประเด็นนั้น เป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการส่งศาลให้วินิจฉัยนั้น เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ก่อนกระบวนการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเท่านั้น
     “หากเกิดกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า 2 ประเด็นดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาที่กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งในปี 2562 เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวสามารถนำกลับมาแก้ไขรายประเด็นได้ เช่น กรณีการอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ ในการใช้สิทธิเลือกตั้งที่ถูกมองว่าไม่เป็นโดยตรงและลับ สามารถแก้ไขโดยตัดส่วนดังกล่าวออก” นพ.เจตน์กล่าว
     ด้านนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ยังเดาไม่ออกว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่เชื่อว่าอาจสะดุด โดยเฉพาะเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและทุพพลภาพในการใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะในแง่กฎหมายเขียนไว้สั้นๆ ว่า ต้องทำโดยตรงและลับ ซึ่งหมายถึงต้องลงคะแนนเองและไม่ให้คนอื่นรู้ ดังนั้นจึงไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ที่มีผู้รู้ทางกฎหมายมากมายทำไมจึงทำเหมือนต้องการสร้างให้เป็นอุบัติเหตุหรือให้มีปัญหาเกิดขึ้นหรือไม่ 
     “สุดท้ายแล้วศาลจะวินิจฉัยอย่างไรนั้น ไม่ทราบจริงๆ ไม่อยากชี้โพรงให้กระรอก หรือเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เพราะเรื่องนี้คนเป็นผู้ที่ทำให้เกิดปัญหา เมื่อคนสร้างปมขึ้นมาเอง ย่อมรู้อยู่เต็มอกว่าจะต้องแก้ปมอย่างไร แต่ทำไมจึงแกล้งทำเป็นไม่รู้” นายประยุทธ์กล่าว
ยันเสนอฉีก รธน.ต่อ
     สำหรับการประกาศฉีกรัฐธรรมนูญของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)นั้น น.ส.พรรณิการ์ วานิช ว่าที่โฆษกพรรค อนค.สัมภาษณ์พีซทีวี ว่าไม่กังวลใดๆ โดยเฉพาะเมื่อ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาพูดแล้ว ว่าตอนนี้ยังไม่ถือว่าเป็นช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง การที่พรรคการเมืองจะหาเสียงหรือนำเสนอนโยบายต่างๆ เป็นเรื่องทางการเมืองที่สามารถทำได้ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้เขียนช่องทางการแก้ไขไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว หากนำเสนอเป็นแนวนโยบายหรืออุดมการณ์ของพรรคการเมือง ไม่น่าจะมีปัญหา ถ้าเป็นการเสนอแก้โดยใช้ระบบของกฎหมายคงอยู่ในกรอบทำได้อยู่และสามารถนำเสนอต่อประชาชนได้ ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะสนับสนุนหรือไม่ ต้องรอดูในการเลือกตั้ง
     น.ส.พรรณิการ์กล่าวต่อว่า ถือเป็นเรื่องปกติเมื่อใกล้เข้าสู่วันเลือกตั้ง พรรคการเมืองจำเป็นที่ต้องแสดงจุดยืนในด้านต่างๆ เพื่อที่จะนำไปสู่นโยบายหาเสียงในอนาคตอันใกล้ที่จะมาถึงนี้ เราก็ดีใจที่ กกต.พูดด้วยว่า การเมืองไทยควรปรับเข้าสู่สภาวะปกติได้แล้ว ซึ่งสิ่งเดียวที่ขัดขวางความปกติที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น คือ คำสั่ง คสช.ที่ยังไม่ปลดล็อกทางการเมือง ซึ่งไม่ได้ส่งผลแต่พรรคอนาคตใหม่ แต่ยังเป็นอุปสรรคมากกับการทำงานของทุกพรรคการเมือง อย่างน้อยการที่ กกต.ออกมารับรองว่าเราสามารถทำได้ แน่นอนว่าเราก็จะทำต่อไป
     “การพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้พูดแค่วันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา เราพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญบางข้อที่เป็นปัญหา แต่ทั้งฉบับมีปัญหา ชัดเจนว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีปัญหาเรื่องการลดทอนหลักการความเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้เหลือเพียงสังคมสงเคราะห์ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังมีปัญหาเรื่องการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง รวมทั้งที่มาของรัฐธรรมนูญก็มาโดยไม่ชอบธรรม การลงประชามติครั้งที่ผ่านไปไม่มีความเป็นประชาธิปไตย” น.ส.พรรณิการ์ระบุ
     ว่าที่โฆษกพรรค อนค.ยังกล่าวว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราต้องแก้ไขด่วน มิเช่นนั้นเราก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ เชิงนโยบายได้เลย เพราะฉะนั้นโครงหลักก็คือแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งคำว่าฉีกอาจทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจ เหมือนพาเรากลับสู่ยุคของการรัฐประหาร แต่ย้ำว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นในยุคที่เราคาดหวังว่าจะทำ แต่ในอดีตที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็ทำเช่นนี้มาแล้ว ไม่ต้องกลัวการฉีก เพราะสิ่งที่ต้องกลัวยิ่งกว่าคือการรัฐประหาร 
     ขณะที่นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรค พท.โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ผมขอฉีกด้วยคน” ว่า คงไม่สายไปถ้าจะขอแสดงความยินดีกับพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งทุกท่านที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหารพรรค และขอเป็นแนวร่วมในอุดมการณ์ที่จะต่อสู้กับเผด็จการเพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน
วัฒนาประกาศร่วมวงฉีก
     “ผมเห็นด้วยกับนโยบายที่จะสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนอกจากไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังใช้กลโกงทุกวิถีทางเพื่อให้ผ่านประชามติ ประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งตัวผมเองเคยถูก คสช.ใช้กำลังอุ้มตัวไปควบคุมในค่ายทหาร และปัจจุบันยังถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เพราะประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่หัวหน้า คสช.ออกมาประกาศจะจับทุกคนที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่กลับส่งทหารออกไปเผยแพร่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญได้ จึงเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกโฆษณาว่าปราบโกง แต่ผ่านประชามติแบบโคตรโกง” นายวัฒนาโพสต์
นายวัฒนายังระบุว่า กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนนั้น ต้องเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยโดยผ่านประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นต้องเอาตัวเผด็จการทั้งหลายมาลงโทษ หลายคนถามว่าเผด็จการมีมาตรา 44 นิรโทษฯ ตัวเองไว้ยังสามารถเอาตัวมาลงโทษได้หรือ ขอยืนยันอีกครั้งว่า การนิรโทษกรรมคุ้มครองเฉพาะการกระทำที่สุจริตและเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น การลุแก่อำนาจ การละเมิดหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน หรือการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ไม่อาจถือได้ว่าสุจริตหรือทำไปเพื่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ จึงเป็นการกระทำที่กฎหมายไม่คุ้มครอง เมื่ออำนาจกลับมาเป็นของประชาชนเมื่อไรคนพวกนี้ติดคุกได้แน่นอน
     ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าเห็นด้วยกับการแก้ไข แต่อะไรที่ดีก็คงไว้ ส่วนใดที่มีข้อจำกัดก็ควรแก้ไขให้เป็นไปตามครรลอง เป้าหมายของรัฐธรรมนูญทุกฉบับคือ ทำให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้แล้วจะเขียนรัฐธรรมนูญไว้เพื่ออะไร ดังนั้นคนทำงานการเมืองอ่านรัฐธรรมนูญ 2560 จะทราบดีว่ามีเรื่องยากในทางปฏิบัติอยู่มาก โดยเฉพาะระบบภายในของพรรคการเมือง ระบบเลือกตั้ง หรือแม้แต่กลไกต่างๆ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีความยากลำบากสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
     นายวราวุธชี้ว่า การชูการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องขัดกฎหมาย ส่วนใครจะคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สมบูรณ์แล้ว ก็เป็นสิทธิที่สามารถคิดเห็นได้ แต่ในความเห็นมองว่ามีข้อจำกัดที่ต้องแก้ไขอยู่ ซึ่งในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เคยทำและพิสูจน์มาแล้ว โดยการแก้ไขมาตรา 211 รัฐธรรมนูญ 2534 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างจนได้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นฉบับที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุด โดยในตอนนั้นก็มีคนค้านมากมาย แต่ทุกพรรคการเมืองก็ผ่านขั้นตอนนั้นมาได้ เราเคยแสดงให้สังคมโลกเห็นมาแล้วว่า การทำรัฐธรรมนูญ ถ้าไปด้วยกันเราก็ทำได้
     “รัฐธรรมนูญก็เหมือนบ้าน ถ้าเราสร้างบ้านมาแล้วหลังคารั่ว กระจกไม่ดี ก็ควรต้องซ่อมหรือปรับปรุงกันไป อะไรที่ดีก็ควรเก็บไว้ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดก็คือ หยิบวิธีที่สังคมไทยเคยมีประสบการณ์และพิสูจน์มาแล้วว่าเราสามารถทำให้รัฐธรรมนูญเพอร์เฟกต์ได้ และต้องทำด้วยวิธีที่เป็นที่ยอมรับ ให้คนไทยทุกภาคเข้ามามีส่วนร่วม ชูธงเขียวด้วยกัน เหมือนพรรคชาติไทยในอดีต ฉะนั้นวันนี้ผมเชื่อมั่นใจว่าถ้าทำด้วยกันเราต้องทำได้อีกครั้ง” นายวราวุธย้ำ
แนะแนวคุยพรรคการเมือง
     ขณะที่นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการ ชทพ. กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ระบุถึงการเชิญพรรคการเมืองมาพูดคุยหารือกับแม่น้ำ 5 สายเรื่องการเลือกตั้ง โดยต้องรอดูผลกฎหมายลูก ว่าเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเลื่อนวันนัดหารือกับพรรคการเมืองออกไป เพราะที่ผ่านมามีหลายพรรคการเมืองแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการพูดคุยหารือ เพื่อให้รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ซึ่งการพูดคุยนั้นไม่สามารถที่เคาะวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้ เพราะกฎหมาย 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ยังไม่เสร็จ จึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลเลื่อนวันพูดคุยกับพรรคการเมือง 
     “ถ้าเรียกพรรคการเมืองมาพูดคุยแล้ว แต่ไม่สามารถระบุวันเลือกตั้งได้ชัดเจน ก็อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพรรคการเมืองก็ได้ ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลเองก็ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.” นายนิกรกล่าว
     นายนิกรเสนอว่า อยากให้แบ่งการพูดคุยออกเป็น 2 ประเด็น คือประเด็นการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งหากจะเรียกพรรคการเมืองไปพูดคุยในส่วนนี้คงทำไม่ได้ เพราะกฎหมายลูก 2 ฉบับยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ในส่วนที่รัฐบาลกับพรรคการเมืองสามารถพูดคุยได้นั้น เป็นประเด็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลน่าจะเรียกพรรคการเมืองเข้าไปพูดคุยได้ เพื่อได้เจอกันครึ่งทาง ให้รัฐบาลได้ปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมบางส่วนที่สามารถทำได้ ให้พรรคการเมืองได้เตรียมกำหนดกฎเกณฑ์ นโยบายพรรค เตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง เพราะหากช้าไปกว่านี้ พรรคการเมืองก็ทำอะไรลำบาก ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องคุยเลยก็ได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบการเลือกตั้งที่อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะกว่าจะรอให้กฎหมายเสร็จ ถึงจะเรียกพรรคการเมืองมาพูดคุยนั้น ต้องบอกว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หมดแล้ว  
     เมื่อถามถึงการเลื่อนวันนัดคุยกับพรรคการเมือง จะส่งผลให้โรดแมปวันเลือกตั้งเลื่อนไปด้วยหรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า คิดว่าน่าจะไม่กระทบ เพราะโรดแมปรัฐบาลกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว คือจะเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2562 ซึ่งหากเลื่อนไปก็ไม่ยอม และเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ 
     วันเดียวกัน ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้รับวีซ่าจากประเทศอังกฤษเป็นเวลา 10 ปี ว่าไม่ทราบข้อเท็จจริง ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ถ้าเป็นความจริงแปลว่าอังกฤษเข้าใจว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีแรงจูงในทางการเมือง จึงให้วีซ่าเข้าออกประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาผู้แทนทางการทูตของประเทศต่างๆ เข้ามาเก็บข้อมูลและข้อเท็จจริงด้วยตนเองในประเทศไทยอยู่แล้ว จึงไม่มีใครไปบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือตบตาต่างประเทศได้ว่าสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกระทำเกิดจากมูลเหตุทางการเมือง จึงทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังเดินทางไปประเทศต่างๆ ได้ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"