ธปท.คาดโควิดรอบ3ทุบใช้จ่ายทรุดกระทุ้งรัฐเร่งฉีดวัคซีนหนุนเศรษฐกิจ!


เพิ่มเพื่อน    

 

15 พ.ค. 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ถือว่ารุนแรงกว่าในระลอกก่อน ๆ หน้าอย่างชัดเจน จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน อัตราการแพร่เชื้อที่สูงขึ้น จำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าการระบาดในระลอกดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับการระบาดในระลอกอื่น ๆ โดยเฉพาะระลอกแรก เพราะมาตรการของภาครัฐที่ไม่เข้มงวดเท่า ยังสามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บางส่วน แต่ก็คาดว่าการระบาดในระลอกที่ 3 จะมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ อยู่ที่ 1.4-1.7% ต่อจีดีพี ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อ ซึ่งสูงกว่าในระลอกที่ 2 ซึ่งมีผลกระทบอยู่ที่ 1.2% ต่อจีดีพี ขณะที่ระลอกที่ 1 มีผลกระทบสูงสุดที่ 2.2% ต่อจีดีพี

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเติบโตได้ดี หลายประเทศมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา โดยเฉพาะสหรัฐฯ รวมถึงความต้องการบริโภคในหลายประเทศที่เพิ่มขึ้น หลังจากถูกอั้นจากการระบาดในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกตามไปด้วย แต่การส่งออกที่ขยายตัวดีนั้น ยังส่งผลต่อเนื่องสู่ตลาดแรงงานในวงจำกัด โดยยังไม่เห็นการจ้างงานรายใหม่เพิ่มขึ้นในภาคการผลิต มีเพียงชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างตลาดแรงงานที่การจ้างงานในภาคส่งออกมีสัดส่วนไม่สูงมาก โดยในระยะข้างหน้าคาดว่าการส่งออกจะส่งผลดีต่อการจ้างงานในภาคการผลิตบ้าง

“สถานการณ์โควิด-19 ระลอกปัจจุบัน จะเห็นว่า การระบาดยังมีความไม่แน่นอนสูง จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันที่ยังอยุ่ในระดับสูง ผันผวน มีคลัสเตอร์ต่าง ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ อีกทั้งการระบาดในระลอกที่ 3 ยังมีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายเร็วเข้ามา แต่ก็มีประเด็นเรื่องความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน ซึ่งหลาย ๆ ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อภาพการประเมินเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าให้เปลี่ยนแปลงไปได้” นางสาวชญาวดี กล่าว

นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและยืดเยื้อ จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและความเชื่อมั่น โดยจากข้อมูลเร็ว พบว่า ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของการระบาดในระลอกที่ 3 ปรับลดลงค่อนข้างเร็ว ขณะที่ความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ สะท้อนจากอัตราการเข้าพักในโรงแรม ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ พบว่า มีการยกเลิกการจองห้องพักค่อนข้างมาก โดยในเดือน เม.ย. 2564 อัตราการเข้าพัก อยู่ที่ 18% ส่วนในเดือน พ.ค. นั้น คาดว่าอัตราการเข้าพักอาจจะไม่ถึง 10% สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวไทยที่ลดลงเยอะ ตรงนี้จะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นอาจต้องใช้เวลากว่าที่สถานการณ์ต่าง ๆ จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ

ทั้งนี้ การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ถือเป็นประเด็นสำคัญ โดยปัจจัยที่จะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันหมู่ ได้แก่ 1. สัดส่วนประชากรที่ต้องได้รับวัคซีน ปัจจัยของสายพันธุ์ไวรัส และประสิทธิผลของวัคซีน และ2. ความเร็วของการได้รับวัคซีนของประชาชน มาจากอุปทานของวัคซีน ความสามารถในการกระจายและฉีดวัคซีนให้ได้ตามที่กำหนดไว้ รวมถึงความเต็มใจของประชาชนที่จะรับวัคซีน ซึ่งความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนของไทยในปัจจุบันอาจยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากยังจัดหาวัคซีนได้ไม่มาก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนโดสต่อวัน โดยยอดฉีดสะสมจนถึงวันที่ 11 พ.ค. 2564 อยู่ที่ 1.9 ล้านโดส

นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า ธปท.ได้จัดทำสมมติฐานการฉีดวัคซีนต้านโควิดที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงปี 2564-2565 ไว้ 3 กรณี โดย กรณีที่ 1. หากสามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาส1/2565 ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีปีนี้ให้มีโอกาสขยายตัวได้ 2% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 1.2 ล้านคน ส่วนในปี 2565 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 4.7% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15 ล้านคน

กรณีที่ 2. หากจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 64.5 ล้านโดสภายในปีนี้ คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาส 3/2565 ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีปีนี้ ขยายตัวได้ 1.5% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 1 ล้านคน ส่วนในปี 2565 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 2.8% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12 ล้านคน และกรณีที่ 3.หากจัดหาและกระจายวัคซีนได้น้อยกว่า 64.5 ล้านโดสภายในปีนี้ คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาส 4/2565 ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ 1% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 8 แสนคน ส่วนในปี 2565 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 1.1% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน

“วัคซีนถือเป็นพระเอกสำคัญในตอนนี้ ซึ่งหากทำได้เร็ว ก็จะมีผลดีในเรื่องการเปิดประเทศ ส่วนสมมติฐานที่จัดทำขึ้นยังไม่รวมปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาเพิ่มไม่ว่าจะช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ หรือปีหน้า ที่จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวได้ดีกว่านี้ และตัวเลขดังกล่าวยังไม่ใช่การปรับประมาณการเศรษฐกิจจาก ธปท. ซึ่งการปรับประมาณเศรษฐกิจไทยในรอบของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีขึ้นอีกครั้งในเดือนมิ.ย.นี้” นางสาวชญาวดี กล่าว
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"