อย่างไรคือ ‘ลำปางโมเดล’


เพิ่มเพื่อน    

 

    ช่วงนี้มีการพูดถึง “ลำปางโมเดล” ในการบริหารวิกฤติโควิดที่

            น่าสนใจหลายมิติ

            โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนขอฉีดวัคซีนถึงสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 223,976 คน

            ถือเป็นสัดส่วนการจองของประชาชนที่สูงอันดับสองของประเทศรองลงมาจากกรุงเทพฯ เท่านั้น

            ผมได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของคุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (อดีต “ผู้ว่าฯ หมูป่า” จากเชียงราย) ทางวิทยุจุฬาฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

            ได้ข้อสรุปของนักบริหารวิกฤติ (ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน) ที่ควรเป็นหลักการสำหรับทุกคนตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้นำชุมชน

            นั่นคือการวางเป้าหมายที่ชัดเจนและเขียนแผนที่เป็นขั้นเป็นตอน

            นำไปสู่การปฏิบัติตามแผนที่เรียกว่า Execution

            ด้วยการจัดทีมงานที่มีความสามารถ

            ระหว่างนำเอาแผนลงขั้นปฏิบัติก็ต้องประเมินทุกขั้นตอน

            ในการทำให้เกิดผลด้านปฏิบัติการนั้นจะต้องลงไปถึงจุดในท้องถิ่น ใกล้ชิดกับประชาชน ฟังเสียงชาวบ้านและนำมาปรับแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

            ในกรณีของจังหวัดลำปาง ผู้ว่าฯ บอกว่ากองกำลัง  “อสม.” (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) คือกำลังสำคัญในการลงถึงทุกครัวเรือน

            อสม.จะเป็นผู้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน อธิบายความจำเป็นที่ต้องขึ้นทะเบียนฉีดวัคซีน

            หากมีคำถามและข้อสงสัยของชาวบ้านต้องตอบตามความเป็นจริง

            ระหว่างทางก็อาจจะมีความเปลี่ยนแปลง

            ผู้นำที่มีความสามารถจะต้องพร้อมปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ได้ตลอดเวลา

            คุณภาพของความเป็นผู้นำอยู่ที่การสามารถสร้างทีมที่แข็งแกร่ง

            สำคัญที่สุดคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อผู้นำและทีมงาน

            “เราต้องเอาวัคซีนไปให้ประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องมาหาวัคซีน” คือหนึ่งในแนวทางการทำงานที่ทำให้เกิดความศรัทธาและร่วมมือจากประชาชน

            วิธีการทำงานต้องเน้นการวางแผนที่ลงถึงรายละเอียด

            เริ่มด้วยผู้ว่าฯ บอกว่าได้ศึกษาวิธีการแก้ไขของเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่เกิดการระบาดใหม่ๆ

            เมื่อได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของจีนแล้ว ก็มานั่งวิเคราะห์แนวทางของลำปางเองว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้าง

            พอลงมือทำหัวข้อที่สำคัญคือ การประเมินศักยภาพของจังหวัดเอง

            ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถในการฉีดต่อวัน  (ประเมินว่าประมาณ 6,100 คนต่อวัน)

            เมื่อประเมินความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวัน  ประเมินว่าจะต้องฉีดให้ได้ 70% ของประชากรของจังหวัด  (ประมาณ 7 แสนเศษๆ) ก็ตั้งเป้าเริ่มต้นที่ 2 แสนคน

            ต่อมาก็ลงมือเตรียมการและซักซ้อมความพร้อมในการฉีด วิธีการที่จะชักชวนประชาชน วิธีการที่จะลงทะเบียนและการจองนัด และเรื่องการสื่อสารให้ชัดเจน  ประเมินถึงประโยชน์และผลข้างเคียง

            “หมอพร้อม” ของส่วนกลางไม่ได้ใช้ได้กับทุกคน โดยเฉพาะลุงป้าน้าอาที่ไม่มี smartphone หรือบางจุดไม่มีอินเทอร์เน็ตพอ

            จึงต้องให้ อสม.และเจ้าหน้าที่เคาะประตูเพื่อช่วยชาวบ้านลงทะเบียน

            ในบางกรณีก็ขอเบอร์บัตรประชาชนมาช่วยลงให้

            Call Center สิบคู่สายเปิดตั้งแต่ 08.00 น. ถึงเที่ยงคืน

            “ลำปางพร้อม” ก็เป็น app ของจังหวัดเพื่อระดมข้อมูลป้อนเข้าสู่ “หมอพร้อม” อีกทางหนึ่ง

            ทีมงานจะต้องพร้อมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือร่วมใจไปในทางเดียวกัน ทั้ง อสม. โรงพยาบาล แพทย์  พยาบาล รวมทั้งประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่

            และที่สำคัญไม่น้อยคือ ภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมบริจาคสิ่งของและเงินทอง เพราะงบประมาณรัฐมีจำกัด

            “เราได้รับความร่วมมือจากเอกชนที่มาขอบริจาคและประสานด้านต่างๆ มากมายเลยครับ”

            อีกด้านหนึ่งคือ ต้องมีข้อมูลที่ครอบคลุมเรื่องการลงทะเบียน การฉีด ผลกระทบ ใบนัดการฉีด พร้อมแก้ปัญหาประจำวันได้

            “เราต้องไม่ทำงานแบบวันต่อวัน...ต้องทำงานอย่างเป็นระบบและมองภาพรวมด้วย”

            ขณะเดียวกัน ผู้นำต้องเข้าใจในรายละเอียด ลงพื้นที่ ทำให้เป็นตัวอย่าง ช่วยแก้ปัญหา ตัดสินใจ และเอาประชาชนเป็นหลัก สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น

            จากนั้นผู้นำต้องติดตามผล ประเมินสถานการณ์ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เป็นด้วยเหตุใด หากผิดเป้าจะแก้ไขอย่างไร

            ผู้นำในวิกฤติต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ที่สุด แต่ต้องไม่รองบประมาณอย่างเดียว

            เพราะเมื่อสร้างศรัทธาได้ จะมีผู้สนับสนุนตามมา

            ที่มองข้ามไม่ได้คือ จะต้องใช้วิธีการให้เหมาะสมกับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ และใช้หลายวิธีการเอาข้อมูลเข้าระบบเพื่อทราบแผนการฉีดตามเวลาที่แน่นอน

            หากจะมีการใช้วิธี Walk-in ก็จะเลือกใช้สถานที่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ

            ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์สรุปหลักคิดและปฏิบัติของทีมลำปางว่า

            “เรากินเงินเดือนของประชาชน ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงวัคซีน ไม่ควรให้ประชาชนต้องมาขอหรือต้องคีย์เข้ามา เราควรจะต้องเอาวัคซีนส่งให้ถึงบ้าน...เราจะเอารถไปรับมาฉีดถึงที่ครับ...”

            พอเกิดวิกฤติก็จะเป็นจังหวะของการพิสูจน์ว่าคนมีตำแหน่งสูงๆ ทั้งหลายมี “ความเป็นผู้นำ”  มากน้อยเพียงใด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"