เมื่อเจอสายพันธุ์ ‘เจ้าพ่อเบอร์ 1’ ก็ต้องปรับแผนฉีดวัคซีนครั้งใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

         ช่วงนี้ผมคุยกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะประเด็น “ยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน” เพื่อวิ่งแข่งกับการแพร่เชื้อที่ยังหนักหน่วงอยู่ในหลายจุด

            ความเห็นของนายแพทย์ส่วนใหญ่ตรงกันว่า จะต้องไล่ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุด

            และต้องมีปริมาณวัคซีนมากขึ้น...ยี่ห้อเพิ่มขึ้น ไม่พึ่งพิงเฉพาะที่เรามีอยู่ในขณะนี้

            ชาร์จที่ผมนำมาให้ดูมาจาก Our World in Data ที่รวบรวมข้อมูลมากมายหลายเรื่อง รวมถึงประเทศไหนฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าไหร่

            ณ สัปดาห์ที่แล้ว หากนับสัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสแล้ว ไทยเราอยู่อันดับที่ต่ำมากแม้เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรา

            จึงต้องมีการตอกย้ำหนทางเดียวที่จะต่อสู้กับโควิดได้คือ การปรับแผนการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วและกว้างขวางที่สุด

            ยิ่งเมื่อมีการยืนยันว่า สายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ได้เจาะเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ก็ยิ่งต้องเร่งฝีเท้าในการฉีดวัคซีน

            และต้องแสวงหาหนทางที่จะนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ที่สามารถต่อกรกับสายพันธุ์ที่คุณหมอบางคนเรียกว่าเป็น  “เจ้าพ่อ” (เพราะรุนแรงและรวดเร็ว)

            คุณหมอมานพ พิทักษ์ภากร แห่งศิริราชมีความเห็นในเฟซบุ๊กของท่านว่า

            “มีข่าวว่า B.1.351 (South African variant) มาเยือนเมืองไทยแล้ว สายพันธุ์นี้ป้วนเปี้ยนแถวชายแดนใต้มาเป็นเดือนเนื่องจากมีการระบาดในมาเลเซีย

            ขออย่าให้เข้ามาระบาดถึงใจกลางเมืองหลวงแบบ  B.1.617.2 (Indian variant) นะครับ

            เพราะวัคซีนที่ได้ผลกับสายพันธุ์นี้มีแค่ Pfizer (และอาจรวมถึง Moderna ด้วย) ที่ 75%, J&J ที่ 64-66% และ  Novavax ที่ 60.1% (สำหรับ non-HIV)

            ส่วน AstraZeneca เหลือแค่ 10.4% สำหรับ Sinovac  ถ้าเทียบระดับ antibody ที่ขึ้นหลังฉีดแล้วคาดว่าคงแทบไม่ได้ผลเช่นกัน

            อาจถึงเวลาที่ภาครัฐจะต้องเปลี่ยนนโยบาย เร่งนำเข้า  Pfizer, Moderna และ J&J vaccine มาให้เพียงพอและครอบคลุมประชากรครับ ถ้าปล่อยให้ B.1.351 ระบาดนี่อาจดูไม่จืดเลย

            สาเหตุหลักที่ทำให้ B.1.351 ดื้อต่อวัคซีนและ antibody  มาก คือการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484 บน spike protein  ที่เป็น E484K คือเปลี่ยนกรดอะมิโนจาก glutamate ไปเป็น  lysine มีผลทำให้ antibody จับกับ spike protein ได้ยาก  นอกจากนี้การกลายพันธุ์ในตำแหน่งอื่นที่สำคัญคือ N501Y  ที่เหมือนกับสายพันธุ์ UK ทำให้เชื้อจับกับตัวรับบนผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น แถมยังเจอ K417N ซึ่งทำให้เชื้อจับกับเซลล์ได้ดีขึ้นด้วย

            ในปัจจุบัน B.1.351 เป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีนและ  antibody ที่สุด รองลงมาคือ P.1 หรือสายพันธุ์ Brazil ซึ่งมี  E484K เช่นกัน

            ส่วนสายพันธุ์ India ที่ก่อนหน้านี้ระบาดคือ B.1.617.1  มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกันแต่เป็น E484Q ทำให้ดื้อบ้างแต่ไม่เท่ากับ B.1.351 แต่สายพันธุ์อินเดียที่ระบาดหนักในขณะนี้ และเพิ่งพบในบ้านเราคือ B.1.617.2 ไม่พบ  E484Q ซึ่งคาดว่าสายพันธุ์นี้ไม่น่าจะดื้อต่อวัคซีน”

            คุณหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แห่งคณะแพทยศาสตร์  รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย บอกว่า

            “สายพันธุ์ที่ทั่วโลกมีการจับตาอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกาใต้

            พบว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้น เป็นสายพันธุ์ 'เจ้าพ่อเบอร์ 1'

            สายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดในไทยตอนนี้นับว่า 'เด็กอนุบาล'

            เพราะสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้นมีความสามารถในการแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการรุนแรง และผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าสายพันธุ์ดังกล่าวดื้อต่อวัคซีนแทบทุกชนิด

            แต่ในเมื่อเราขณะนี้เรามีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และ วัคซีนซิโนแวค ก็ขอให้รัฐบาลเร่งปูพรมฉีดในประชากรอย่างรวดเร็ว ใครพร้อมขอให้ฉีดได้เลย”

            มาถึงจุดนี้ไทยเราเข้าสู่ช่วง “ศัตรูประชิดติดตัว” แล้ว  จำเป็นต้องทบทวนทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีโดยพลัน  เพราะเราแพ้สงครามครั้งนี้ไม่ได้เป็นอันขาด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"