ฉีดวัคซีนแบบ ‘ปูพรม’ ต้องปูแบบไหนจึงจะได้ผล?


เพิ่มเพื่อน    

     ผมได้ตั้งวงพูดคุยกับนายแพทย์และผู้รู้ในวงการเรื่องโควิด-19 ค่อนข้างถี่ในช่วงนี้เพื่อเรียนรู้และนำข้อมูลกับความเห็นมาสื่อสารกับประชาชน ในยามที่ทุกคนต้องการข้อเท็จจริงและแนวทางที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ มิใช่เพียงความรู้สึกหรือข่าวปล่อยข่าวลวง

            หนึ่งในคุณหมอที่ผมมีโอกาสได้สนทนาด้วยคือ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

            คุยแล้วได้ทั้งความรู้สาระและแนวทางวิเคราะห์ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

            วันก่อน คุณหมอนิธินำเสนอวิธีคิดที่สำคัญยิ่งในเฟซบุ๊กของท่าน ผมจึงขออนุญาตนำมาเล่าต่อเพื่อประโยชน์ของทุกท่านในภาวะที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันอ่าน ร่วมกันทำเพื่อเอาชนะสงครามกับโควิดให้ได้

            คุณหมอเขียนไว้บางตอนว่า

            ขณะนี้จะมีวัคซีนอะไร แค่ไหนไม่สำคัญเท่าระบบการบริหารจัดการฉีดวัคซีน

            การพูดหรือคิดหรือบ่นหรือด่าแบบเหมาๆ รวมๆ และไม่สร้างสรรค์ เป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์และไม่ทำอะไรดีขึ้นได้

            การจะบ่นจะว่าใครในเรื่องวัคซีน ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้เรื่องวัคซีนนะครับ......ขอสรุปเป็นเรื่องๆ สั้นๆ ตามนี้ เอาแต่ข้อเท็จจริง (facts) ไม่เอาตัวเลขให้ทุกคนสับสนครับ

            ๑.วัคซีนทุกชนิด ทุกยี่ห้อ จากทุกประเทศที่ใช้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นสามารถใช้ได้ผลทุกชนิด ได้ผลกับทุกสายพันธุ์...จะมากหรือน้อยกว่ากัน เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ (การเอาตัวเลขมาเปรียบเทียบกันตามที่เห็นๆ นั้น เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่มีหลักการทางสถิติหรือวิทยาศาสตร์ใดๆ ทำกัน ทำไม่ได้ครับ)

            ๒.การได้รับวัคซีน ไม่ว่าจะยี่ห้อใดๆ ดีกว่าไม่ได้ เพราะการได้รับวัคซีนทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อ เสี่ยงเข้าโรงพยาบาล เสี่ยงโดนใส่ท่อช่วยหายใจ เสี่ยงเสียชีวิต และเสี่ยงแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดที่คุณรัก มีน้อยกว่าไม่ได้วัคซีน

            ๓.ผลหรืออาการข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนเกิดขึ้นน้อยมากๆๆๆๆๆ ถึงมากที่สุดในทุกๆ ชนิดของวัคซีน มีโอกาสน้อยยิ่งกว่าการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งเสียอีก และที่แน่ๆ คือ มีโอกาสน้อยกว่าการเกิดอาการข้างเคียงแบบหนักๆ จากการติดเชื้อโควิด

            ๔.วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่อยู่ในตัวคนครับ.....รีบๆ ฉีดกันครับ อย่าไปเชื่อ “เขาว่า” ...การอ่านและแปลผลวิเคราะห์บทความวิจัยทางการแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือแปลได้อย่างตรงไปตรงมา การเลือกมาหนึ่งย่อหน้าแล้วสรุปให้คนหลงเชื่อหรือหวาดกลัว อันนั้นมั่วครับ ไม่มีเหตุผลใดๆ ทางสถิติหรือวิทยาศาสตร์ที่บอกได้ชัดเจนว่า วัคซีนชนิดไหนดีเลวต่างกันอย่างไรและเท่าไร

            อีกเรื่องหนึ่งที่คนเข้าใจผิดกันจริงจังคือ วัคซีนบางชนิดป้องกันบางสายพันธุ์ไม่ได้นั้น ดูจะเป็นการด่วนสรุปกันอย่างไม่มีหลักการเท่าไหร่นัก เพราะการจะวัดว่าวัคซีนใดป้องกันได้แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ต้องดูความรุนแรงของการแพร่กระจาย (Ro) ของไวรัสสายพันธุ์นั้นๆ ความหนาแน่นแออัดของประชากรและภูมิคุ้มกันหมู่ของประชากรในพื้นที่ที่เกิดการระบาดด้วย หากในพื้นที่มีการระบาดรุนแรง คือมีความชุกของไวรัสสูง มีประชากรในพื้นที่ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนมีภูมิต้านทานจำนวนน้อย ภูมิคุ้มกันหมู่ก็ไม่เกิด ให้วัคซีน (ที่ว่ากันว่า) มีประสิทธิภาพแค่ไหนก็ไม่ได้ผล

            ดังนั้น หลักการที่ว่าจะทำการฉีดวัคซีนแบบ “ปูพรม” เหมือนกันหมดทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ ๗๐% ของประชากรในประเทศ จึงเป็นความคิดที่ตื้นเกินไป ในสถานการณ์ปัจจุบันการฉีดวัคซีนให้ตรงเป้าคือต้องพิจารณาพื้นที่ที่มีการระบาดสูงกว่าที่อื่น มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีกลุ่ม (cluster) ของสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่าย ให้ได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่า ๗๐% ของจำนวนประชากรในพื้นที่นั้นๆ โดยเร็วที่สุด...การคิดแบบเหมาๆ รวมๆ ตื้นๆ ว่าต้องเหมือนกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศนั้นไม่เหมาะสมนักในเวลาที่เรายังมีวัคซีนไม่มากพอ และความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนยังไม่ดีพอ

            และที่สำคัญ ต้องคิดถึงการกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในการลงทะเบียน เพราะประชากรกลุ่มนี้ยังมีอยู่มากในพื้นที่ที่อยู่กันแออัดและมีการระบาดรุนแรง

            ช่วยกันนะครับคนไทยทุกคนช่วยกันไป เราต้องรอดปลอดภัย

            เข้าใจง่าย, ตรงประเด็นและนำไปปฏิบัติได้ทันที!.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"