โควิดระลอก 3 ว่าหนักแล้ว แต่ก็ต้องพร้อมสำหรับระลอก 4!


เพิ่มเพื่อน    

    กระทรวงการคลังบอกว่าเงินกู้ก้อนใหม่อีก 500,000  ล้านบาทจะช่วยดันให้ผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ของประเทศขยับขึ้น 1.5-2.5%

            ในความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้

            เพราะมีปัจจัยหลายด้านที่อาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล

            หรือหากการใช้เงินไม่ตรงเป้า ขาดประสิทธิภาพ ก็อาจจะเข้าทำนอง “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ก็เป็นได้

            ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาวะวิกฤติโควิด-19 อย่างนี้ต้องปรับกันเดือนต่อเดือนเลยทีเดียว

            สัปดาห์ก่อน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพยากรณ์ว่า พอเจอโควิดระลอก 3 การขยายตัวของจีดีพีปีนี้อาจจะเหลือเพียง 1.5-2.5% เท่านั้น

            ต่อมาอีกไม่กี่วัน ศูนย์วิจัยของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งก็ทำนายว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศปีนี้อาจจะโตได้เพียง 0.8-1.6%

            สำนักไหนที่เคยให้อัตราโตอยู่ระหว่าง 3-4% ก็มีอันต้องถอยร่นไปตั้งหลักใหม่

            เพราะภัยคุกคามจากโควิดกำลังโหมกระหน่ำ โดยยังไม่รู้ว่าจะหนักหน่วงมากขึ้นอีกเพียงใด หรือจะยาวนานอีกเท่าไหร่

            สภาพัฒน์บอกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563

            โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

            ส่วนศูนย์วิจัย “กรุงไทย คอมพาส” ระบุการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงอุปสงค์ (ปริมาณความต้องการ) ในประเทศค่อนข้างมาก

            ทำให้ประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสำหรับปีนี้จะลดลงเหลือ 0.8-1.6% เทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ที่  2.5% กรณีไม่มีการระบาดระลอก 3

            โดยประเมินมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจอาจสูงถึง  400,000-580,000 ล้านบาท

                ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ ข้อเสนอแนะประเด็นบริหารนโยบายเศรษฐกิจช่วงปี 2564 มีหลายข้อที่น่าสนใจ ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนยังต้องประเมินกันทุกขั้นตอนจากนี้ไป

            ข้อเสนอมีดังนี้

            1.การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศเพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงระลอกใหม่  โดยการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างเคร่งครัด และการเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีนให้ประชาชนอย่างครอบคลุมทั่วถึง

            รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุขให้เพียงพอต่อการรองรับการแพร่ระบาด และการเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่ประชาชนในการรับการฉีดวัคซีน

            2.การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ควบคู่ไปกับการพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติม และมีมาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานผ่านมาตรการรักษาระดับการจ้างงานให้แก่ผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการสร้างงานใหม่และมาตรการพัฒนาทักษะแรงงาน และการพิจารณาดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง

            3.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้แก่สินค้าที่มีศักยภาพ และการเร่งรัดยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม หาทางใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค  (RCEP) ควบคู่ไปกับการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญๆ รวมทั้งการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาและเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ๆ และ การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต

            4.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ด้วยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง เร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุน และส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 10 จังหวัด  และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญๆ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและภาคบริการที่สำคัญๆ

            5.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

            6.การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

            7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ

            หกข้อแรกค่อนข้างจะท้าทายสำหรับระดับนโยบาย

            แต่ที่ยากที่สุดน่าจะเป็นข้อสุดท้าย

            ผมไม่แน่ใจว่าสภาพัฒน์กำลังจะบอกให้ใครเป็นคนรับผิดชอบ!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"