เงินเฟ้อกระฉูด สูงสุดรอบ16ด. พณ.ยึดเป้าเดิม


เพิ่มเพื่อน    

  เงินเฟ้อ พ.ค.กระฉูด พุ่งสูงสุดรอบ 16 เดือน เหตุสินค้า 231 รายการจากสินค้า 422 รายการที่ใช้คำนวณพาเหรดปรับราคา “พาณิชย์” กัดฟันยันคงเป้าทั้งปีที่ 0.7-1.7% เหมือนเดิม  

        เมื่อวันศุกร์ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) ประจำเดือนพฤษภาคม 2561 ว่าอยู่ที่ 102.14 สูงขึ้น 0.56% เมื่อเทียบเดือน เม.ย.2561 และสูงขึ้น 1.49% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.2560 ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือน ม.ค.2560 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 1.55% และเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 11 เดือน โดยเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.) สูงขึ้น 0.89% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่หักอาหารสดและน้ำมันดิบออกเดือน พ.ค.เท่ากับ 101.95 สูงขึ้น 0.17% เทียบกับ เม.ย.2561 และสูงขึ้น 0.80% เทียบกับ พ.ค.2560 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 5 เดือน เพิ่มขึ้น 0.66% 
    น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 1.49% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 1.93% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 9.86% ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดรอบ 13 เดือน, ค่าโดยสาธารณะเพิ่ม 0.67%, หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่ม 5.94% และค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าและหอพักเพิ่ม 1.12% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 0.74% สินค้าสำคัญราคาแพงขึ้น เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งเพิ่ม 2.02% ผักสดเพิ่ม 5.47% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 1.37% นอกบ้านเพิ่ม 1.31% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 1.40%
    “เมื่อแยกรายการสินค้า 422 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่ามีสินค้าราคาสูงขึ้น 231 รายการ โดยสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น ข้าวสารบรรจุถุงเพิ่ม 2%, ถั่วฝักยาวเพิ่ม 30.70%, มะนาวเพิ่ม 17.89%, นมสดเพิ่ม 0.50%, นมเปรี้ยวเพิ่ม 0.73%, กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่มเพิ่ม 10.43%, กับข้าวสำเร็จรูปเพิ่ม 1.72%, ข้าวราดแกงเพิ่ม 1.08%, เครื่องแบบนักเรียนชายเพิ่ม 5.29%, เครื่องแบบนักเรียนหญิงเพิ่ม 6.21%, ก๊าซหุงต้มเพิ่ม 12.52%, ค่ากระแสไฟฟ้าเพิ่ม 2.62%, น้ำมันดีเซลเพิ่ม 14.65%, ค่าโดยสารเรือเพิ่ม 0.77%, บุหรี่เพิ่ม 12.17%, เบียร์เพิ่ม 1.22% และสุราเพิ่ม 0.37%”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว    
    ผู้อำนวยการ สนค.ยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2561 โดยคาดว่าจะขยายตัวตามกรอบที่ตั้งไว้ที่ 0.7-1.7% ภายใต้สมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 3.6-4.6% อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 55-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่จะปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบใหม่ หลังจากผ่านพ้นไตรมาส 2 ไปแล้ว โดยคาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับเพิ่มขึ้น 65-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
    “แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.คาดว่าจะยังคงปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากฐานเงินเฟ้อเดือนเดียวกันของปีก่อนติดลบ ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการตรวจสอบราคาสินค้า ยังไม่พบการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะชะลอตัวลง เพราะรัฐบาลได้มีมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม ส่วนการขึ้นค่าแรงงานไม่พบว่ามีผลต่อการปรับขึ้นของราคาสินค้า” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
    น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค.จะจับตาการใช้จ่ายของภาครัฐที่คาดว่าตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อเร่งการลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในต่างจังหวัดที่จะมีผลต่อกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น โดยยังคงประเมินว่าเงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ระดับใกล้เคียง 1% สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และขณะนี้สินค้าเกษตรก็เริ่มปรับราคาสูงขึ้น ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"