แผนฉีดวัคซีน Sinovac + AstraZeneca จากมุมมองชมรมแพทย์ชนบท


เพิ่มเพื่อน    

    เมื่อวานได้อ่านคำอธิบายของคุณหมออุดม คชินทร หนึ่งในปรึกษาของ ศบค. เรื่องแผนการรับมอบและฉีดวัคซีน

            วันนี้มาฟังด้าน “ชมรมแพทย์ชนบท” ที่คุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นำมาเล่าขานในเฟซบุ๊กของท่านเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

            ล่าสุดเมื่อวานนี้ คุณหมอแจ้งว่ากรมควบคุมโรคได้แจ้งยอดการส่งวัคซีน AstraZeneca มาแล้ว

            รอบแรก จำนวน 2.4 แสนโดส

            โดยเมื่อวานนี้ได้เริ่มส่งไป 58 จังหวัด จังหวัดละ 3,600 โดส

            ส่วนอีก 19 จังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกจะได้รับ AstraZeneca ตามมาภายในวันที่ 6 มิถุนายน ก่อนวัน Kickoff หนึ่งวัน

            ที่แน่ๆ คือทุกโรงพยาบาลมี Sinovac ไปร่วมขัดตาทัพก่อนเป็นอย่างน้อย

            เป็นจังหวะเดียวกับที่ WHO เพิ่งประกาศอนุมัติการใช้ในกรณีฉุกเฉินให้กับ Sinovac พอดีเช่นกัน

            ก่อนหน้านี้สองสามวัน คุณหมอสุภัทรได้ขึ้นข้อความด้วยพาดหัวว่า

            “แอสตร้าฯ มิถุนายน ความปั่นป่วนที่ ศบค.ไม่กล้าบอกความจริง”

            เนื้อหาบางตอนบอกว่า

            วันที่ 7 มิถุนายน 2564 วันแรกที่ kick off ฉีดวัคซีนตามที่ลงทะเบียนไว้ แล้วจะได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ไหม

            แล้ววันต่อๆ ไปด้วย จะได้ฉีดแอสตร้าฯ จริงไหม

            หรือจะกลายมาเป็นซิโนแวค นี่คือคำถามที่ปั่นป่วนมาก

            วัคซีนแอสตร้าฯ จากสยามไบโอไซเอนซ์นั้น เป็นความหวังสำคัญยิ่ง

            แต่เพราะเป็นวัคซีน lot แรก การผลิตย่อมมีอุปสรรค ความชำนาญก็ยังมีไม่มาก ผลิตแล้วก็ต้องนำไปตรวจรับรองโดยบริษัทแม่ด้วย เมื่อพบความเบี่ยงเบนของค่าต่างๆ ก็ต้องนำกลับมาแก้ไขให้ได้ตามมาตรฐาน

            แม้ทำเต็มที่แต่ก็ยังล่าช้าและมีจำนวนน้อยกว่าที่คาดการณ์

            ในสัญญาการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าฯ นั้น ตกลงไว้ว่า จะมีส่งมอบวัคซีนในสิ้นไตรมาส 3 คือมิถุนายน ซึ่งแปลว่าส่งมอบใน 1-30 มิถุนายน ก็ไม่ได้ผิดสัญญา

            ส่วน 7 มิถุนายนนั้น เป็นเรื่องที่ ศบค.กำหนดเอง เพื่อลดเสียงก่นด่าเรื่องทำไมไม่มีวัคซีนให้ฉีด

            เมื่อผลิตวัคซีนได้น้อยและช้ากว่าที่ตั้งธงไว้ การระบาดก็รุนแรง ความต้องการฉีดพุ่งสูง

            จึงเป็นมิถุนา.แห่งความโกลาหล

            แผนการกระจายวัคซีนตอนนี้สร้างความปวดหัวแก่ รพ.อย่างมาก เพราะเปลี่ยนโผแทบทุกวัน

            ด้วยข้อมูลที่จำกัด เข้าใจว่า วัคซีน lot แรกในเดือนมิถุนายนนี้ จะสามารถส่งมอบล็อตแรกได้ที่ 1.8 ล้านโดส จากความต้องการใช้แอสตร้าฯ 5 ล้านโดส

            โจทย์ที่สำคัญคือวัคซีนจำนวนนี้ควรจัดสรรไปฉีดให้ใคร แล้ววัคซีนที่ขาดไปจะทำอย่างไร

            ต้องขอบอกก่อนว่า วัคซีนนั้นเป็นของหายาก กำลังการผลิตทั้งโลกมีจำกัด บริษัทต้องส่งตามยอดการจองที่สั่งไว้ก่อน การซื้อด่วนๆ นั้นก็มีได้บ้าง แต่ได้ราคาแพงและจำนวนน้อย 

            ซึ่งปัจจุบันเราก็ได้ด่วนมาเฉพาะซิโนแวคเท่านั้น

            อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ก็ต้องมีวัคซีนแอสตร้าฯ มาฉีดให้กับคนไทย

            นี่คือความอยู่รอดครั้งสำคัญของรัฐบาล

            แผนสองจึงเกิดขึ้น วัคซีนแอสตร้าฯ จากเกาหลีคือคำตอบสุดท้าย

            ข่าววงในบอกว่ารัฐบาลจ่ายหนัก สั่งด่วนมาจากเกาหลี 5 แสนโดสมาแก้ขัดให้ทัน 7 มิถุนายนนี้ และสั่งซิโนแวคมาอีกมากกว่า 3 ล้านโดส สำหรับใช้แทนแอสตร้าฯ ที่ขาดหายไป 

            คนที่ลงทะเบียนไว้ส่วนหนึ่งจะได้รับการเชิญชวนให้ฉีดซิโนแวคแทน

            เมื่อแอสตร้าฯ มีน้อย ปรากฏการณ์เชิญชวนแกมบังคับให้โรงพยาบาลฉีดจากขวดละ 10 โดสให้ได้ 12 โดส จึงเกิดขึ้น เพื่อรีดวัคซีนให้เพิ่ม 20%

            อย่างน้อยเสียงก่นด่าก็ลดลง 20%   

            และเพื่อลดแรงต้านจากบุคลากรการแพทย์ ทาง ศบค.จะสั่งซื้อ low dead space syringe ส่งมาพร้อมกับวัคซีนแอสตร้าฯ ด้วย เพื่อให้การสูญเสียที่เกิดขึ้นแน่ในเข็มฉีดยาให้มีน้อยที่สุด

            ยอดการจัดสรรขวดวัคซีนแอสตร้าฯ และแบบรายงานการฉีดที่ ศบค.จะส่งมานั้น จึงคิดที่ 12 โดสต่อขวด ไม่ใช่ 10 โดส

            เช่น หากมีกลุ่มเป้าหมาย 6,000 คน จะได้วัคซีน 500 ขวด ไม่ใช่ 600 ขวด นี่คือนโยบาย บ่นได้แต่ต้องทำ

            ในขณะวัคซีนยังมีน้อย บรรดา ส.ส. และคนมือยาวก็ยังพยายามจะตัดวัคซีนล็อตใหญ่ไปฉีดจังหวัดหรือบริษัทตนเอง ประกันสังคมก็ตัดไป 1 ล้านโดสให้กับโรงงาน การระบาดหนักในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ควรได้วัคซีนก่อนเพื่อยุติการระบาด นี่ขนาดนายกฯ ประยุทธ์ยึดอำนาจ สธ.ลงมาบัญชาการเองก็ยังไม่กล้าฟันธง

            ข่าวว่ามีการชง ศบค.ให้เอาวัคซีนแอสตร้าฯ 1.8 ล้านโดสนี้ ฉีดปูพรมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อยุติการระบาด

            เพราะเข็มแรกของแอสตร้าฯ ก็เกิดภูมิแล้วถึง 80% ในขณะที่ซิโนแวคเข็มแรกเกิดภูมิน้อยกว่า

            ประดุจการระดมรถดับเพลิงมาฉีดจุดที่มีไฟไหม้ใหญ่ ไม่ใช่แยกเอารถดับเพลิงที่มีน้อยไปฉีดแถวบุรีรัมย์ ชลบุรี

            แต่นายกฯ ไม่กล้าสั่งทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

            การระบาดในไทยจึงจะยังทรงและทรุดเช่นนี้ต่อไปอีกหลายเดือน

            นี่คือข้อมูลและแนววิเคราะห์จาก “ชมรมหมอชนบท” ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สำคัญในการช่วยแก้วิกฤติโควิดครั้งนี้ด้วย

            สถานการณ์ปรับเปลี่ยนได้ทุกวัน ความสำเร็จหรือล้มเหลวของปฏิบัติการครั้งนี้จึงอยู่ที่ความสามารถในการบริหารความผันแปรที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

            รัฐบาลส่วนกลางจะต้องฟังเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างเร่งด่วน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"