พิทักษ์"บางกระเจ้า"สู่ป่ากลางเมืองใหญ่ที่สุดในเอเชีย


เพิ่มเพื่อน    

     

 คุ้งบางกะเจ้า นับว่าเป็นแหล่งโอโซนใหญ่ในเมือง ที่ใกล้กรุงเทพฯมากที่สุด เพราะยังมีสภาพเป็นป่าธรรมชาติ สามารถพบต้นไม้ที่ขึ้นตามป่าชายเลนหลายชนิด มีความหลากหลายทางชีวภาพ และถือเป็นแหล่งผลิตโอโซนลำดับที่ 7 ของโลก เปรียบได้กับปอดของคนกรุงเทพ จึงนับเป็นแหล่ง Blue Carbon ที่สำคัญ นอกจากนี้ยังเคยได้รับการยกย่องจากนิตยสาร ไทม์ส (Times)ให้เป็น The BestUrban Oasis of Asia 

บรรยากาศในคุ้งบางกระเจ้า

การอนุรักษ์บางกระเจ้า ให้มีสถานะปอดกลางเมือง ทำให้มีการพัฒนากฎเกณฑ์ในการดูแลรักษาบางกระเจ้าขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำหนดให้พื้นที่ ต.ทรงคนอง ต.บางกระสอบ ต.บางน้ำผึ้ง ต.บางยอ ต.บางกะเจ้า และต.บางกอบัว อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จำนวนพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ ให้เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดขอบเขตเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและการประกอบพาณิชยกรรม

 

ได้กำหนดมาตรการห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร เช่น การสร้างโรงแรมหรืออาคารชุด กำหนดหลักเกณฑ์การก่อสร้าง และการวัดความสูงของอาคาร พร้อมทั้งกำหนดมาตรการห้ามกระทำการหรือกิจกรรม เช่น การถมหรือปรับสภาพลำกระโดง คู คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งมีผลทำให้ตื้นเขินหรือเปลี่ยนทิศทางน้ำ หรือทำให้น้ำไม่อาจไหลได้ตามปกติหรือตามธรรมชาติ เว้นแต่การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำของทางราชการ

ล่าสุดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดินหน้าปฏิรูป 6 เรื่องหลัก ภายใต้แผนพัฒนา 5 ปีแรก ด้วยงบเบื้องต้นกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท  ได้ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 55% ซึ่งสำหรับโครงการพัฒนาป่าในเมือง โครงการคุ้งบางกระเจ้า เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก โดยตั้งเป้าให้บางกระเจ้าเป็นป่าในเมืองเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

 

ด้วยชื่อเสียงของบางกระเจ้าในฐานะปอดของคนกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนริ่มสนใจและอยากไปสัมผัสบางกระเจ้ามากขึ้น ทำให้ในปี2547 ทางชุมชนได้ตัดสินใจเปิดพื้นที่ให้บางกระเจ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยว  โดยเฉพาะมีการเปิดตลาดบางน้ำผึ้งในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ผู้คนหลั่งไหลไปเที่ยวบางกระเจ้าอย่างมากมาย  คนในชุมชนมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นกอบเป็นกำ แต่แม้เศรษฐกิจในชุมชนจะดีขึ้น แต่กลับพบว่า การเข้ามาของนักท่องเที่ยว ทำให้ในพื้นที่มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางระเจ้าระบุว่า ปัจจุบันนี้ในเวลา1 สัปดาห์ บางระเจ้ามีปริมาณขยะเฉลี่ยมากถึง 8,000 กิโลกรัมต่อวัน  ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปริมาณเฉลี่ยเดิมที่ 4,500 กิโลกรัมต่อวัน 

 

การเริ่มต้นวิ่งเก็บขยะ หรือ Plogging  ที่บางกระเจ้า ที่ริเริ่มโดยกลุ่ม Blue Carbon Society องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร โดยมีเป้าหมายลดปริมาณขยะในบางกระเจ้่าที่เพิ่มมากขึ้น 

 สัดส่วนขยะที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ ถุงพลาสติก 40% ขยะอินทรีย์ 26% ขยะรีไซเคิล (แก้ว และกล่องนม) 24% ขยะมูลฝอยทั่วไป 8% และขยะอันตราย 2% บางกะเจ้าจึงมีความเสี่ยงต่อการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ และเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศทาง และอาจส่งผลไปสู่ระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทะเลอีกด้วย        

ปัญหาขยะในบางกระเจ้า ที่เป็นผลพวงจากการท่องเที่ยวที่คึกคัก ทำให้องค์กรภาคเอกชน" บลูคาร์บอนโซไซตี้ (Blue Carbon Society)"ชวนพนักงานกลุ่มบริษัทดีที และเชลล์ฮัท พร้อมผู้สนใจ คนในชุมชนกว่า 300 คน ได้ทำกิจกรรมวิ่งเก็บขยะ – Blue Plogging  ณ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ สมุทรปราการ (คุ้งบางกะเจ้า) เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาขยะที่คุ้งบางกระเจ้า ซึ่งแม้จะเป็นขยะบนบกในวันนี้ แต่ก็มีโอกาสที่จะไหลลงสู่ทะเลกลายเป็นขยะทะเลได้  โดยเฉพาะขยะพลาสติกซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างมาก 

ดร. ชวัลวัฒน์ และคุณทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blue Carbon Society กล่าวว่า การวิ่ง plogging หมายถึง Jogging + Picking up หรือ Plocka Upp ในภาษาสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่จัดการวิ่งประเภทนี้ในปี 2559 ก่อนจะได้รับความนิยมไปทั่วโลก นับเป็นการวิ่งจ็อกกิ้งไปพร้อมๆกับการเก็บขยะ  มีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพของผู้วิ่งและส่วนรวมคือชุมชนสะอาด และในการทำกิจกรรมครั้งนี้ Blue Carbon Society ได้ขอให้ผู้วิ่งจากกลุ่มบริษัทดีทีและเชลฮัทนำถุงพลาสติกเก็บขยะและกระบอกน้ำมาเองจากบ้าน เพื่อไม่สร้างขยะพลาสติกเพิ่มจากการจัดกิจกรรม โดยได้ประสานกับบริษัทคัดแยกขยะรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด เพื่อมารับขยะไปคัดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธี นอกจากนั้น ยังมีคูลเลอร์จัดวางตามจุดให้ผู้วิ่งเติมน้ำใส่กระบอกน้ำได้ตลอดเส้นทางอีกด้วย

" ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ชุมชนบางกระเจ้า และทุกฝ่ายต้องเริ่มต้นดูแลและฟื้นฟูพื้นที่บริเวณคุ้งบางกะเจ้า ให้ลดความเสี่ยงต่อปัญหาปริมาณขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่เราทำคือการรณรงค์ ให้มีการลดขยะบนบกเพื่อป้องกันขยะไหลลงสู่ทะเล ถือเป็นปฐมบทแห่งการดูแลรักษา ฟื้นฟูระบบนิเวศทาง ทะเลและชายฝั่ง  ซึ่งจากข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลถึงกว่า 1 ล้านตันต่อปี  ลองคิดดูว่าโดยเฉลี่ย 1 คน วิ่งเก็บขยะได้ประมาณ 2 กิโลกรัมภายในครึ่งวัน ถ้าคนไทยทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคน ช่วยกันวิ่งเก็บขยะ ก็จะช่วยลดปริมาณขยะได้มากถึง 120 ล้าน กิโลกรัม นี่คือพลังสังคมที่เราอยากปลุกให้ทุกคนลุกขึ้นมาปกป้องท้องทะเลร่วมกัน"

 

ด้านทิพพาภรณ์กล่าวว่า การตระหนักปัญหาขยะบนบก ที่อาจจะไหลลงสู่ทะเล  นับเป็นการต่อชีวิตยืดอายุสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ทั้งเต่าทะเล พะยูน โลมา แมงดาทะเล ให้อยู่ในท้องทะเลอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเมื่อสัตว์ทะเลเหล่านี้ไม่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกในทะเล ก็จะอยู่ในระบบนิเวศท้องทะเลอย่างสมดุล ทำให้มีพื้นที่ Blue Carbon เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นโดยปริยาย

ปริมาณขยะที่เก็บได้ 

หลายคนอาจสงสัยว่าบางกระเจ้าจะเป็นป่ากลางเมืองได้อย่างไร แต่ถ้าได้มีโอกาสไปเยือนสักครั้ง ก็จะรู้ว่าบางกระเจ้ามีป่ากลางชุมชน "สวนป่าเกดน้อมเกล้า " ที่มีขนาดพื้นที่ 1,200 ไร่ หรือประมาณ 10% ของพื้นที่บางกระเจ้า นับเป็นป่าชุมชนที่อยู่ภายในต้การดูแลของสำนักป่าาชุมชน กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ลุงสมาน เสถียรบุตร ผู้อาวุโสของชุมชน แกนนำอนุรักษ์บางกระเจ้า

สมาน สถียรบุตร ผู้อาวุโสแกนนำของกลุ่มรักษ์บางกระเจ้า  เล่าถึงที่มาของป่าชุมชนในบางกระเจ้าว่า ในสมัยรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศให้บางกระเจ้าทั้งเกาะเป็นป่าสงวน และให้ชุมชนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมมาหลายร้อยปี อพยพออกไป แต่ระหว่างนั้นพอดี นายกำพล วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ไปที่บางกระเจ้าและแนะนำให้ชาวบ้านถวายฎีกาต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงรับฏีกาไว้และทำให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9ก็ทรงแนะนำให้ชาวบ้านที่ต้องการอพยพออกไป ขายที่ดินให้กับกรมป่าไม้ ซึ่งที่ดินที่ชาวบ้านขายปัจจุบันกลายเป็นป่าชุมชน "สวนเกดน้อมเกล้าฎที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้    

แหนสีเขียวปกคลุม บึงน้ำกร่อย ที่อยู่ในป่าชุมชนขนาด1,200 ไร่ ของบางกระเจ้า 

สภาพ3น้ำ มีทั้งน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อยที่ล้อมรอบบางกระเจ้า  มีทั้งบึงน้ำกร่อย น้ำจืดในพื้นที่เดียวกัน เป็นระบบนิเวศที่มีความผสมผสาน ทำให้บางกระเจ้ามีความอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่อดีต ชาวบ้านมีอาชีพทำสวนผลไม้ ซึ่งพบว่าบางกระเจ้ามีพืชพื้นเมือง 35วงศ์ 72สกุล 81ชนิด และมะม่วงน้ำดอกไม้เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของบางกระเจ้า ลุงสมานเล่าว่า ต้องยกความดีให้กับสภาพน้ำกร่อย   ซึ่งเป็นนิเวศที่ทุกอย่างไม่ว่าพืชหรือสัตว์ต้องพึ่งพาอาศัย  ต้นไม้ก็ต้องอาศัยเพื่อเพิ่มรสชาติ  ของผลไม้ ยิ่งสัตว์น้ำ ทั้งสัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำเค็ม ล้วนต้องมาวางไข่ที่น้ำกร่อย อย่างกุ้งก้ามกราม เวลาวางไข่ก็มาวางรอบเกาะที่เป็นน้ำกร่อย พอโตถึงจากไปสู่ทะเล  พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นแหล่งบริบาลสัตว์น้ำ แต่เมื่อ2-3 ปีที่ผ่านมา มีคนรู้ว่าตรงแถบนี้เป็นที่วางไข่ของกุ้งก้ามกราม ก็เอายามาโรยล้วจับ  แต่ได้กุ้งไม่ถึงเปอร์เซ็นต์เพราะกุ้งจะตายก่อนจับได้ 

 

"น้ำกร่อยเหมือนเป็นกรดอ่อนๆ อย่างเพาะปลากัดก็จะติดง่าย ไข่ไม่ค่อยฝ่อ ปูทะเลถ้าไข่วางน้ำจืดจะฝ่อหมดด้วยเหมือนกัน ต้องมาวางไข่ที่น้ำกร่อย สัตว์พวกนี้อยู่ตามป่าชายเลนตัวเล็กๆเต็มไปหมด ปลากระบอกถ้าไปหาที่น้ำธรรมดาน้ำจืดไม่มี แต่ลูกปลาจะมาอยู่ตามป่าชายเลนริมแม่น้ำพอน้ำเค็มมา เขาก็ไปลงทะเล  พอเริ่มจะวางไข่ก็มาที่นี่อีก สมัยก่อนผมเด็กๆ ตกปลากระพงขาวๆ ตัวใหญ่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสิบๆโล ชาวบ้านก็เอากุ้งก้ามกราม เกี่ยวเบ็ด รอสักพักก็ได้ เดี๋ยวนี้มีแต่น้อยลง เทียบกับตอนเด็กๆพวกปลาทะเล ปลากระพง ปลาอุก อะไรพวกนี้ เราตกแถวนี้แหล่ะ "ลุงสมานเล่าความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่บางกระเจ้า

 

 

วันเวลาที่ผ่านพ้นไป ทำให้บางกระเจ้ามีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วงหลังๆที่บางกระเจ้าบูมขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะขึ้น ก็ทำให้คนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมขายที่ อพยพไปอยู่ที่อื่น ลุงสมานเล่าว่า ทุกวันนี้มีคนบางงกระเจ้าดั้งเดิมอยู่อาศัยเพียง 50% เท่านั้น อีกทั้ง กฎหมายผังเมืองบางกระเจ้าก็ปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ จากเดิมที่บังคับให้เจ้าของที่ดินสามารถปลูกพักที่อยู่อาศัยได้ 75%ของพื้นที่ดินที่ครอบครอง แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเป็นให้ปลูกบ้านได้เพียง 25% ของพื้นที่เท่านั้น  ที่เหลือต้องปลูกต้นไม้ให้เป็นพื้นที่สีเขียว และยังห้ามสร้างตึกสูง หรือสูงได้ไม่เกิน 15เมตร ก็ทำให้บางคนรู้สึกโดนบีบบังคับ 

ป้ายแสดงบอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายทางชีวภาพ และพันธุ์ไม้น้ำกร่อยดั้งเดิมที่อยู่ในบางกระเจ้า

"กฎผังเมืองบังคับอย่างที่บอก ชาวบ้านอย่างผมคิดว่า ไม่แฟร์ บังคับโน่น บังคับนี่ แต่ไม่เคยมาสนับสนุนอะไรเลย เราทำสวนมีศัตรูพืช มีด้วง มีขโมย แต่ไม่เคยช่วยอะไรเราเลย "

 

ลุงสมาน  ยืนยันว่าแม้จะมีบางสิ่งบางอย่างในบางกระเจ้าจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่เขาจะไม่อพยพไปอยู่ที่อื่นแน่นอน ทุกวันนี้ ยึดอาชีพขาวสวนที่เป็นอาชีพตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เพาะปลูกไม้หายาก ที่ลุงสมานบอกว่า ไม่ขายให้ แต่ให้เลย เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ดั้งเดิม  

ดอกหางนกยูงสีส้ม ที่ร่วงหล่นบนพื้นในบริเวณป่าชุมชน 

"แต่ก่อนคนพื้นเพที่นี่อยู่คล้ายๆพี่น้อง ผมสมัยเด็กๆเราทำอาหารแบ่งกันทุกบ้าน บ้านอื่นเขาก็มาแบ่งเรา แลกเปลี่ยนอย่างนี้ประจำ ทุกวันนี้เหลือแต่พี่น้องแล้วที่แลกเปลี่ยนกัน เหลือแค่นี้แล้ว เพื่อนบ้านมาใหม่ ไม่รู้จักกันเลย วัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปเยอะ ต่างชาติ ก็เยอะ แต่ผมจะไม่หนีไปไหน อยู่ที่นี่แหล่ะ เพราะที่นี่เป็นบ้านผม".

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"