เนรมิต'สวนผักในเมืองกรุง'เพื่อสร้างอาหารคน กทม.


เพิ่มเพื่อน    

คนในชุมชนพื้นที่ กทม.ลงแรงสร้างพื้นที่เกษตรกลางเมืองสู้โควิด

 

     ในกรุงเทพมหานครมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่ซุกซ่อนตามชุมชนต่างๆ ทั้งรอการขายเพื่อก่อสร้างตึกรามบ้านช่องหรือปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นรกครึ้มไม่เป็นระเบียบบ้าง กลายเป็นที่เทกองขยะบ้าง แต่พื้นที่ว่างในชุมชนถึง 30 แห่ง ย่านกลางเมืองของ กทม. และปริมณฑล  สวนกระแสความเป็นเมืองที่ทุกตารางเมตรกลายเป็นป่าคอนกรีต เต็มไปด้วยหมู่บ้าน หอพัก ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนผักสีเขียว

     บนที่ดินถูกเนรมิตเป็นพื้นที่สวนอาหาร ออกแบบแบ่งพื้นที่ปลูกผัก ทั้งชะอม มะนาว ขิง ข่า กระชาย ขมิ้น กะเพรา กระถิน กล้วย ผลไม้ตามฤดูกาล พื้นที่ที่เหลือยังใช้ปลูกผักยืนต้นพุ่มเตี้ย ปลูกไม้ดอก มีบึงบัวขนาดใหญ่เป็นวิวสวยงาม ที่เก็บใช้ประโยชน์ได้ ในแต่ละแปลงมีชายหญิงแต่งกายชุดลำลองแบบเกษตรกรเดินไปมาในสวน นั่นคือ คนในชุมชนที่ตกงานจากโควิด คนรายได้น้อย

ปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างใน กทม. สร้างแปลงเกษตรปลูกพืชผักไว้กิน

 

         การฟื้นพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นไร่สวนแห่งใหม่ในเมืองนี้ เข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. เล่าว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับชุมชนเมืองและสุขภาวะของประชาชน เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้มีผู้ตกงาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่รับจ้างรายวัน ทำงานโรงงาน และผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเงินสำรอง มีหนี้นอกระบบ กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน

          จากปัญหาความเดือดร้อนนี้ เธอบอก สสส. ได้สานพลังเครือข่ายสวนผักคนเมืองเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ริเริ่มโครงการส่งเสริมเกษตรในเมือง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารที่ถือเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตสุขภาวะให้กับชุมชนเมือง ภายใต้ชุดโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ ที่ สสส. สนับสนุนโครงการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาดระลอกล่าสุด

     สำหรับโครงการส่งเสริมเกษตรในเมือง เน้นสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชน ปรับพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ว่างในชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษ ปัจจุบันได้นำร่องปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดใน 6 จังหวัด 30 ชุมชน ประกอบด้วย จ.กรุงเทพฯ 19 ชุมชน จ.ปทุมธานี 3 ชุมชน จ.สมุทรปราการ 3 ชุมชน จ.สมุทรสาคร 2 ชุมชน จ.ชลบุรี 2 ชุมชน และจ.นนทบุรี 1 ชุมชน

ผลผลิตจากสวนผักในชุมชนกรุงเทพฯ

 

     พื้นที่ว่างมีทั้งขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก แต่ละที่ดินมีลักษณะดินแตกต่างกัน บางพื้นที่ปลูกต้นไม้ไม่มีระเบียบ การสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้กลางกรุง จึงมีทีมพี่เลี้ยงช่วยออกแบบ แนะนำวิธีปรับพื้นที่ และเข้าไปสอนให้ชุมชนมีทักษะการทำเกษตรพึ่งพาตัวเอง จับจอบจับเสียม ลงมือเพาะปลูกทำฟาร์มใหม่

     “ สวนผักในเมืองจะสร้างแหล่งผลิตอาหารด้วยตัวเองเพื่อลดรายจ่ายรายวัน มีพืชผักปลอดสารเคมีไว้รับประทานสร้างภูมิเป็นเกราะป้องกันโรค ขณะนี้มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำในโครงการฯ แล้วทั้งสิ้น 495 คน โดยภายในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขยายไปให้ถึง 1,000 คน เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนเมืองทั่วประเทศ “ เข็มเพชร กล่าวและว่าสวนเหล่านี้ทำเกษตรปลอดภัย ทั้งยังเหมาะกับการเป็นแหล่งเรียนรู้

 

สวนผักในเมืองช่วยให้ท้องอิ่ม เหลือแบ่งปัน

 

     หลักการง่ายๆที่ใช้ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก สวนเหล่านี้จึงเป็นสวนผักปลอดภัย วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ประธานสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า โครงการส่งเสริมเกษตรในเมือง มีแนวคิดเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้  ขั้นตอนการทำงานมีดังนี้ 1.จัดหาผู้เชียวชาญด้านเกษตรปลอดสารมาเป็นทีมพี่เลี้ยง 2.จัดการออกแบบพื้นที่ วางผังแปลงผักร่วมกับแกนนำในชุมชน

         3.จัดอบรมให้ความรู้และฝึกปฏิบัติ 3 ตั้งแต่ปรับปรุงดิน เพาะต้นกล้า ขยายพันธุ์พืช ย้ายต้นกล้า ดูแลบำรุงรักษา โดยเน้นปลูกพืชผักยืนต้นอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่อง ยาวนาน ดูแลง่าย พร้อมเปิดอบรมทางเลือกอื่นๆ เช่น เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลาดุก การแปรรูปผลผลิต การทำดินหมัก ปุ๋ยหมัก สามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความชอบ และ 4.จัดเก็บผลผลิตแก่ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชน โดยส่วนหนึ่งแบ่งปันไปสู่ผู้ป่วย ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็ก และกลุ่มแรงงานข้ามชาติในชุมชนอีกกว่า 2,000 คน ได้กิน

ทำเกษตรในเมืองเปลี่ยนจากพื้นที่ว่างเปล่าเป็นแหล่งอาหารสมบูรณ์ของชุมชน

 

        ประธานสวนผักคนเมืองผู้นี้ ยังกล่าวอีกว่า การสร้างสวนผักในเมืองจนสำเร็จ มาจากแกนนำอาสาสมัครจากชุมชนที่ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ทำเกษตรในเมืองจากพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นแหล่งอาหารชุมชนได้  ประคบประหงมพืชผักที่ปลูก เรียนรู้การขยายพันธุ์ทำให้ผลผลิตดีในตอนนี้

         “  บางชุมชนสามารถประสานสำนักงานเขต กทม. อปท. เพื่อขอสนับสนุนวัตถุดิบ เช่น ดินหมัก ปุ๋ยหมัก ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ และที่น่าดีใจ ขณะนี้ชุมชนสามารถเก็บผลผลิตรอบแรกได้แล้วหลังจากใช้เวลาเพียงแค่ 2 เดือน ทำให้ลดความเปราะบางด้านอาหารได้ ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตกี่ระลอก “ วรางคนางค์ กล่าวทิ้งท้ายแนวคิดการสร้างพื้นที่อาหารในเมืองที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนและแนะนำให้กับชุมชนที่สนใจ โดยสามารถสอบถามข้อสงสัยและติดตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สวนผักคนเมือง”  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"