17ปีที่รอคอย'พิพิธภัณฑ์สึนามิ'เสร็จสมบูรณ์แล้ว


เพิ่มเพื่อน    


             เหตุการณ์เกิด"สึนามิ"คลื่นยักษ์ถล่มประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547  หรือเมื่อเกือบ 17 ปีที่แล้ว  เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง  จุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร  ขนาดความรุนแรง 8.9 ริกเตอร์

 
             แผ่นดินไหวครั้งนั้น ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก ไม่รับแรงสั่นสะเทือนที่แม้แต่คนกรุงเทพฯ ยังรู้สึกได้  เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติยิ่งใหญ่ครั้งนั้น ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์โลก

 

 
            หลังเกิดเหตุการณ์ 12 ปี ทางการไทยโดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดงบประมาณของปี 2560 จำนวน 64.8 ล้านบาท เพื่อจัดสร้างพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ  โดยเป็นงบผูกพัน  2 ปี  โดยเลือกพื้นที่ ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์   หลังจากนั้นจึงมีการดำเนินการออกแบบ จัดสร้าง รวมถึงการจัดซื้อเรือประมง 2 ลำที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดมาเกยตื้น  มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแสดง  ซึ่งล่าสุดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว รวมทั้งการจัดภูมิทัศน์โดยรอบพิพิธภัณฑ์ด้วย

 


          นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัย  สึนามิ ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา  เพื่อเป็นสถานที่ที่รำลึกเหตุการณ์ พิบัติภัยแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547   ซึ่งแต่เดิมคนไทยไม่เคยประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาก่อน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้  ยังเป็นสถานที่เก็บหลักฐานของเหตุการณ์ และยังแสดงถึงความร่วมมือของคนไทย และคนทั่วโลก ที่เดินทางมาร่วมรำลึกทุกปี   ซึ่งขณะนี้การดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิและงานปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม .อยู่ระหว่างจัดทำแผนดำเนินงานและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ  ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯได้ในเดือนธันวาคม 2564



"พิพิธภัณฑ์สึนามิ  ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยเป็นศูนย์รวมกิจกรรมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงอย่างยั่งยืน"รมว.วธ.กล่าว


พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิสร้างบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ โดยอาคารจัดแสดงหลักเป็นอาคารชั้นเดียว ด้านหน้าออกแบบเป็นเส้นโค้งในรูปแบบของคลื่น และมีช่องเปิดรับแสงเป็นทรงกลมแบบฟองคลื่นกระจายตามความยาวของอาคารทำให้ภายในอาคาร เกิดที่ว่างคล้ายท้องคลื่นยาวตลอดห้องจัดแสดง โดยมีหอเตือนภัยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เป็นแลนด์มาร์กที่ให้ผู้มาเยี่ยมเยียนสามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพได้โดยรอบ


ตัวพื้นที่โครงการฯแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่  1.ส่วนจัดแสดงภายนอกอาคาร จัดแสดงเรือประมง 2 ลำ ที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดพาเข้ามาจากชายฝั่งเหลือร่องรอยยังคงเป็นวัตถุพยานที่สำคัญของเหตุการณ์ในครั้งนั้น 2.ส่วนบริการ ภายในมีพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ให้บริการข้อมูล ส่วนขายของที่ระลึก ห้องน้ำบริการประชาชน โดยมีห้องมัลติมีเดียจัดฉายวิดีทัศน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยสึนามิ เป็นการนำเข้าสู่เนื้อหาการจัดแสดงนิทรรศการ

 
3.ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงที่ร้อยเรียงเรื่องราวประกอบวัตถุจัดแสดงซึ่งเก็บรวบรวมจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26ธันวาคม 2547   โดยลำดับของการจัดแสดงโซนที่ 1 สัณฐานของบ้านน้ำเค็ม โซนที่ 2 เรื่องเล่าจากผู้ประสบภัย โซนที่ 3 ความรู้เบื้องต้นธรรมชาติของสึนามิ โซนที่ 4 เล่าเรื่องจากวัตถุ โซนที่ 5 และ 6 เป็นเรื่องราวต่อเนื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากภัยพิบัติในด้านการเรียนรู้และป้องกัน ส่วนสุดท้ายโซนที่ 7 เป็นบ้านพื้นที่ที่เปิดให้ชุมชนสามารถเข้าใช้สอยในกิจกรรมของชุมชน และ4.พื้นที่สนับสนุนอื่นๆ เช่น ลานจอดรถและพื้นที่ภูมิทัศน์โดยรอบอาคาร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"