'All Thailand' 3 โปรเจ็คจัดการพลาสติกใช้แล้วที่ยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

โครงการ  Eco Digiclean Klongtoei การจัดการพลาสติกในชุมชนคลองเตย

 

 

 

     ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นปีละ 2 ล้านตัน แต่มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพียง 5 แสนตัน สะท้อนภาพชัดเจนว่า ไทยสอบตกในการจัดการปัญหาขยะพลาสติก   ซึ่งการเร่งรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้ว ให้นำกลับมาใช้ใหม่ ถือเป็นแนวทางสำคัญ ที่จะช่วยลดปริมาณขยะประเภทนี้ ที่กำจัดย่อยสลายยาก  และการนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ ยังทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ"เศรษฐกิจสีเขียว"ที่เป็นเทรนด์กระแสโลก  ผลพลอยได้ที่สำคัญอีกประการคือ เป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ลดปัญหาโลกร้อนไปในตัว  
      การขับเคลื่อนสร้างระบบบจัดการพลาสติก จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมในประเทศเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญ  ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ PPP Plastics และ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) เปิดตัว “โครงการ ALL_Thailand เพื่อการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน” มีเป้าหมายพัฒนาต้นแบบและนวัตกรรมในการนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ประโยชน์และป้องกันพลาสติกเหล่านั้นหลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม ผ่านการพัฒนา 3 โครงการย่อยในประเทศไทย ได้แก่โครงการ Eco Digiclean Klongtoei  , โครงการ Rayong Less-Waste (ระยองลดขยะ) และโครงการ Paving Green Roads  ระยะเวลารวม 2 ปี
     ทั้ง 3 โปรเจ็ค จะผลักดันเป็นต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้น และครอบคลุมเรื่องระบบและนวัตกรรมที่จะช่วยนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนก่อนขยายผลระดับประเทศ


     นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  โครงการในครั้งนี้สอดคล้องกับโรดแมฟจัดการขยะพลาสติกของไทย จะทำให้เกิด Business Model ในการจัดการขยะ และสามารถนำไปขยายผล ในวงกว้าง เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ สภาฯ มี 45 กลุ่มอุตสาหกรรม มีสมาชิกทั่วประเทศ และมี 9 สถาบัน ในความรับผิดชอบ
     “ เรามีความพร้อมดำเนินโครงการเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการขยะให้ครบวงจร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกใช้แล้วในรูปแบบต่างๆ   เช่น  นำพลาสติกใช้แล้วในงานสร้างถนนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โครงการนี้คาดหวังไทยมีแนวทางจัดการขยะพลาสติกตลอด Supply Chain สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model  และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย สอดคล้องกับทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคต “ นายสุพันธุ์ กล่าว

 

 


      ALL Thailand ลุย  3 โครงการย่อย  ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics อธิบายจุดเด่นแต่ละโครงการว่า  โครงการ  Eco Digiclean Klongtoei นำเทคโนโลยีดิจิตอลช่วยบริหารจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เช่น สร้าง Application ช่วยบริหารจัดการขยะ การพัฒนาถังขยะรูปแบบใหม่กึ่งอัตโนมัติช่วยแยกขยะประเภทพลาสติก เพิ่มมูลค่าของขยะพลาสติก 
          ส่วน Rayong Less-Waste  จะเป็นการขยายโมเดลการจัดการขยะระดับชุมชนและท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนไปให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดระยอง มีเป้าหมายที่จะสร้างชุมชนตัวอย่างใน 68 เทศบาลของจ.ระยอง ทำให้เกิดรายได้ อาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไปหลุมฝังกลบในระยองที่นับวันจะมีพื้นที่ลดน้อยลง 

 

ถนนสีเขียว   Paving Green Roads 


      ถัดมาโครงการศึกษาวิจัยถนนสีเขียว   Paving Green Roads   ดร.วิจารย์ บอกว่า โครงการนี้นำพลาสติกใช้แล้วมาเป็นส่วนผสมในถนนยางมะตอยอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้ยางมะตอย และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับหลายประเทศ 
      “ ในไทยเราได้ร่วมทำงานกับคณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของการทำถนนที่มีส่วนประกอบของพลาสติกใช้แล้ว ทั้งด้านอากาศและน้ำ รวมทั้งคุณสมบัติความแข็งแรงทนทาน และศักยภาพในการนำถนนพลาสติกที่ถูกรื้อถอนกลับมารีไซเคิล เพื่อสร้างเป็นถนนใหม่ ซึ่งจะมีการทดสอบ ถอดบทเรียน และติดตามความก้าวหน้างานวิจัย นวัตกรรมนี้จะเป็นอีกทางเลือกสร้างถนนของบ้านเราในอนาคต “ ประธาน PPP Plastics เผย
      เจค็อบ ดูเออร์  ซีอีโอ  AEPW  กล่าวว่า  ทั้ง 3 โครงการเป็นตัวอย่างของกิจกรรมในพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ต่างกันเมื่อมารวมกันภายใต้โครงการ ALL_Thailand จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อม ช่วยกระจายความรู้ สร้างความเข้าใจ ขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในชุมชน เพราะหลักการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและหยุดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมต้องได้เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วม
        หลายบริษัทเห็นความสำคัญของปัญหามากมายที่เกิดขึ้นจากพลาสติกใช้แล้ว พยายามค้นหานวัตกรรมลดขยะ  นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า  ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี  ตระหนักถึงผลกระทบของพลาสติกใช้แล้วที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาขับเคลื่อนการทำธุรกิจ เน้นบริหารจัดการพลาสติกตลอดทั้งวงจรอย่างรับผิดชอบผ่าน 3 ด้านหลัก คือ  การสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน, การประยุกต์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ครอบคลุมทุกมิติของการทำธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างองค์กรและกับทุกภาคส่วน ร่วมสร้างการเติบโตให้กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน
        ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร AEPW แก้ปัญหาเพื่อลดปริมาณพลาสติกที่ใช้แล้วบนฐานของการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เรานำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคในรูปแบบที่หลากหลาย และพร้อมให้ความร่วมมือศึกษา พัฒนาการวิจัย และนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะพลาสติกให้สอดคล้องกับแนวทาง BCG  บริษัทจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้วอย่างเป็นระบบ และส่งผลให้โครงการนี้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ในการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายใน ปี 2570

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"