หวังรัฐอัดโปรหนุนอุตฯ ยานยนต์ไทยผลิใบในธุรกิจ EV


เพิ่มเพื่อน    

 ปัจจุบันธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตขึ้นมาก เนื่องจากผู้คนให้ความใส่ใจเกี่ยวกับภาวะเรือนกระจก รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างหันมาสนใจเศรษฐกิจพลังงานที่ปราศจากมลพิษ เริ่มวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตออกมาแข่งขันกันในตลาดธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่กำลังมีความสนใจของผู้บริโภคทั่วโลก โดย ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) ได้คาดการณ์ว่าในอนาคตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตมากขึ้น ซึ่ง นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Krungthai COMPASS ระบุว่า การประเมินการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยคาดจะแตะล้านคันในปี 2571 หวังจะมุ่งสู่เศรษฐกิจพลังงานปราศจากการปล่อยมลพิษเข้ามาทดแทนในระยะยาว
    

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ทว่าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ากลับเติบโตอย่างมาก ตลอดจนผู้บริโภคให้สนใจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเช่นกัน โดยภาครัฐในต่างประเทศตื่นตัวในการแก้ไขประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงปารีส โดยเฉพาะนโยบายยกเลิกการขายยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE ควบคู่ไปกับการปรับตัวของผู้ผลิตชั้นนำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หันไปทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากยอดขายทั่วโลกสูงถึง 3.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 43%
    

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนให้จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกมีโอกาสแตะระดับที่ 25-45 ล้านคันได้จาก 10 ล้านคันในปัจจุบัน ภายในปี 2573 เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มียอดจดทะเบียนสูงขึ้นถึง 3 หมื่นคัน หรือขยายตัวถึง 13% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในส่วนอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าครึ่งหนึ่งของรถบนถนนในเมืองไทยจะเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า

คาดยอด EV ปี 71 ในไทยแตะล้านคัน

   นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ยอดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศ ปี 2563 อยู่ที่เพียง 1.9 แสนคัน หรือคิดเป็น 1% ของยานยนต์ทั้งหมด ยังอยู่ในช่วงแรกเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ ที่เริ่มใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในท้องถนน แต่ทว่าข้อได้เปรียบของไทยที่เป็นฐานผลิตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE มาอย่างยาวนาน และประกอบกับกลยุทธ์การทำตลาดของบริษัทแม่ในญี่ปุ่น ที่เป็นผู้ผลิตยานยนต์ OEM ในประเทศไทยที่ยังคงเน้นทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด ซึ่งจะเสริมสร้างให้ยอดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศมีโอกาสแตะถึง 1 ล้านคันได้ภายในปี 2571 หรือขยายตัวเฉลี่ยราว 24% ต่อปี จากยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 93% ของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด
    

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ชี้ว่ามาตรการภาครัฐที่จะสนับสนุนทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ และผู้บริโภค จะเป็นส่วนสำคัญทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีโอกาสที่จะต่อยอดให้เป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 100% และไฮบริดที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในอนาคตต่อไป

อุตสาหกรรมถึงฤดูผลัดใบ

 นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า การที่ประเทศไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด นอกจากจะช่วยรักษาตลาดผู้ผลิตในกลุ่มเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE ในประเทศ รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องในระยะปานกลางแล้ว ยังส่งผลที่ดีต่อผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า, ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตวัสดุน้ำหนักเบาและแข็งแรงอีกด้วย
    

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นถึงปานกลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยแบบดั้งเดิมจะถูกปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างเพื่อรองรับฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ความต้องการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE แบบเดิม ควบคู่ไปกับระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ยังเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ ส่วนระยะยาวปริมาณยานยนต์ที่ปราศจากการปล่อยมลพิษ (Zero Emission Vehicle) จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยตามกระแสเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังจะเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด (Green Economy) ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่มที่ผลิตเครื่องยนต์ (Engine) และระบบส่งกำลัง (Powertrain) ซึ่งจะมีมูลค่าตลาดที่เกือบสูงถึง 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 20% ของรายได้ของผู้ผลิตชิ้นส่วนในตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด
    

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และทิศทางการส่งเสริมด้วยการลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยดำเนินการส่งเสริมการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป และได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในส่วนของผู้ผลิต ด้วยการส่งเสริมการผลิตผลักดันผู้ผลิตและผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"