‘เป้าประจัญบาน 120 วัน’ จะสำเร็จต้องมี ‘แผนยุทธการ’


เพิ่มเพื่อน    

คำประกาศของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะเปิดประเทศใน 120 วัน เป็นหัวข้อวิเคราะห์ที่มองได้จากหลายมุม

            มุมแรกคือ เสียงเชียร์ว่าผู้นำในยามวิกฤติต้องกล้าตั้งเป้าให้ชัดเจน

            อีกมุมหนึ่งคือ คำถามว่า “เสี่ยงเกินไปหรือไม่”

            มุมกลางๆ คือ ถ้าจะให้บรรลุเป้าจะต้องมี “แผนปฏิบัติการ” ที่เดินขนานไปกับการวางเป้าหมาย

            เช่นแผนการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน และให้แน่ใจว่าจะสามารถทำได้ตามแผนที่ประกาศเอาไว้

            อีกทั้งต้องให้แน่ใจว่า วัคซีนที่กำลังจะฉีดให้ประชาชนจากนี้ไปจะต้องสู้กับการกลายพันธุ์ของไวรัสได้

            นอกจากนั้นจะต้องมีมาตรการที่ชัดแจ้งว่า จะสามารถกดตัวเลขคนติดเชื้อและเสียชีวิตประจำวันให้ลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ

            นั่นแปลว่าจะต้องควบคุมคลัสเตอร์การแพร่เชื้อทั้งในเมือง, โรงงาน, ตลาด และชุมชนที่เปราะบางทั้งหลายได้

            นายกฯ ประกาศเมื่อวันพุธที่แล้ว วันต่อมาก็มีคำอธิบายจากรองนายกฯ และรัฐมนตรีพลังงาน สุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ ว่าให้เริ่มนับตั้งแต่ 1 กรกฎาคมปีนี้ ไม่ใช่วันที่  16 มิถุนายน อันเป็นวันที่นายกฯ ประกาศผ่านทีวีรวมการเฉพาะกิจฯ

            ต่อมาอีกหนึ่งวัน โฆษกสำนักนายกฯ ก็ออกมาบอกว่า คำประกาศของนายกฯ ไม่ใช่เป็นการ “เคาต์ดาวน์” หากแต่เป็นเพียง “หลักการ” ที่ให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อม

            ต่อมาอีกหนึ่งวัน นายกฯ ก็ขึ้นเฟซบุ๊กชี้แจงสิ่งที่ท่านพูดเองและที่รองนายกฯ และโฆษกแถลงเสริมต่อว่า

            “ผมขอตอกย้ำอีกครั้ง ให้ทุกหน่วยงานและทุกคนที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้มีใครตั้งต้นด้วยข้อจำกัดที่คิดว่าเป้าหมายนี้จะทำไม่ได้...”

            ท่านบอกว่าขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อวิ่งไปให้ถึงเส้นชัยคือเป้าหมาย 120 วันให้ได้

            “เราต้องมีเป้าหมายที่จริงจัง ชัดเจน...แน่นอนครับว่าอาจจะมีปัจจัยภายนอกที่มารบกวนเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งมอบวัคซีน เรื่องสายพันธุ์ใหม่ๆ หรือเรื่องอื่นๆ แต่เราทุกคนต้องทำให้เต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายของเราให้ได้ครับ”

            พออ่านคำอธิบายเพิ่มเติมของนายกฯ คนไทยก็คงต้องปรับความเข้าใจอีกครั้ง

            ให้เข้าใจว่า 120 วันนั้นคือ “เป้าหมาย” ส่วนระหว่างทางจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงอะไรบ้างนั้นยังบอกไม่ได้  ต้องแก้กันไปตามสภาพความเป็นจริงที่จะเผชิญ

            เบื้องหลังของการตัดสินใจประกาศ “เป้าหมาย 120  วัน” เป็นอย่างไรยังไม่แน่ชัด

            นายกฯ ได้ฟังความเห็นของทั้งฝ่ายแพทย์, เศรษฐกิจ,  สังคมและความมั่นคงเพียงใด ก่อนที่จะประกาศ “เซอร์ไพรส์” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนหรือไม่ ก็ไม่กระจ่างนัก

            ใน “มุมมองและทัศนะแพทย์ชนบท” ที่คุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เขียนขึ้นเฟซบุ๊กของท่านในประเด็นนี้นั้น มีหลายมิติที่น่าสนใจ

            ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

                "ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมทีมงานกุนซือของนายกฯ ประยุทธ์ ที่สามารถแก้เกมทางการเมืองได้ดี เบี่ยงประเด็นจากที่คนนับวัคซีนว่าวันนี้วัคซีนจะมาไหมมากี่่โดส มาเป็นการนับวันถอยหลังเตรียมเปิดประเทศแทน

                16 มิถุนายน 2564 นายกฯ แถลงเป้าหมายของประเทศได้อย่างแหลมคมว่า ..ตั้งเป้าเปิดประเทศใน 120  วัน เราก็ไม่สามารถรอจนทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2  โดสกันทั่วหน้าก่อน...

                จากเดิมที่ทุกคนเข้าใจเอง โดยรัฐบาลไม่ได้ประกาศว่าน่าจะเปิดประเทศได้ในช่วงหลังปีใหม่ 2565 เพราะเราฉีดวัคซีนกันครบ 2 เข็มแล้ว ครั้งนี้ทีมงานนายกฯ ขยับเวลาแห่งความหวังให้เร็วขึ้นมาอีก 2 เดือน

                ด้วยชุดคิดพยุงเศรษฐกิจและเห็นว่าช่วงตุลาคมนั้นตามแผนเดิมของรัฐบาล คนส่วนใหญ่ราว 60% จะได้วัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว แล้วบางส่วนก็ได้ 2 เข็มไปบ้างแล้ว

                ข่าววงในสุดๆ บอกว่า การแถลงข่าวของนายกฯ ประยุทธ์ต่อเรื่องการเปิดประเทศ 120 วันในครั้งนี้ กุนซือที่ชงเรื่องมาจากสายเศรษฐกิจในนามของ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีสภาพัฒน์เป็นเลขาฯ ใหญ่ และที่น่าสนใจคือ การตัดสินใจครั้งนี้ของนายกฯ ประยุทธ์ แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสายสาธารณสุขเองก็รู้เรื่องพร้อมประชาชน!!

                นายกฯ อาจจะคิดว่าถ้าปรึกษาพวกหมอๆ แล้วคงไม่ได้เปิดประเทศเดือนตุลาคมเป็นแน่แท้

                คำถามใหญ่ที่สำคัญคือ 120 วันเปิดประเทศนี่คือเป้า  แต่แผนปฏิบัติการไปสู่เป้าหมายนี้คืออะไร มีไหม อย่างไร  เรายังไม่เห็นและไม่มีใครเห็น คงต้องให้เวลารัฐบาลอีกสักนิด

                อย่างไรก็ตาม ตามหลักวิชาการ การเปิดประเทศจะล้มหรือรุ่งปัจจัยสำคัญคือ เราสามารถควบคุมโรคจนไม่มีการระบาดใหญ่ในรอบเดือนตุลาคมเป็นต้นไปได้หรือไม่

                การระบาดใหญ่จะมาจาก 2 เหตุคือ วัคซีนมีไม่มากพอ  และมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ สองปัจจัยสำคัญด้านระบาดวิทยา

                หัวใจของการเปิดประเทศจึงอยู่ที่จำนวนวัคซีนที่จะได้ฉีดกันอย่างทั่วหน้าไหมอยู่ดี

                ทีมงานรัฐบาลก็รู้ว่า จำนวนวัคซีนคือปัจจัยชี้ขาด

                แอสตร้าฯ ไทยแลนด์ในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปจะส่งได้ 10 ล้านโดสตามที่รัฐบาลระบุไว้จริงไหม ซึ่งคงต้องลุ้นอย่างหนัก

                ดังนั้น ช่วงนี้จึงเห็นความพยายามที่จะนำเข้าวัคซีนเพิ่มขึ้น มีการเจรจาขอซื้อซิโนแวคเพิ่มอีก 28 ล้านโดส เร่งรัดนำเข้าไฟเซอร์เพื่อเด็กนักเรียน เป็นต้น

                และหากมีการระบาดระลอกใหม่ที่มาจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามา วัคซีนที่เราฉีดไปอาจไม่สามารถสร้างภูมิป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้เต็มที่ ก็จะเกิดพีกการระบาดขึ้นมา

                ดังนั้นการป้องกันการเข้ามาของเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาตามแนวชายแดนจึงสำคัญมากๆ

                นายกฯ กำลังสื่อสารเพื่อสร้างความหวัง แต่นั่นอาจไม่ใช่ความจริง ถ้าวัคซีนไม่พอและมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์"

            ถ้าบรรดาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจกับคณะหมอๆ และทีมจากด้านสังคมได้มีโอกาสปิดประตูถกแถลงให้มี “แผนยุทธการ” เพื่อลงรายละเอียดว่าจะบรรลุเป้าสำคัญนี้อย่างไร ประชาชนคงจะอุ่นใจและเชื่อมั่นมากกว่านี้แน่นอน.


 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"