นโยบายสาธารณะ เรื่อง AI


เพิ่มเพื่อน    

 

AI เป็นคำฮิตติดเทรนด์ในยุคนี้ หน่วยงานจำนวนมากทั้งรัฐและเอกชนต่างก็อยากนำ AI มาใช้งาน เพราะเชื่อว่า AI เป็นอะไรที่นำสมัย สามารถพัฒนาองค์กรไปชนิดหน้ามือหลังมือ แต่แท้จริงแล้วความเข้าใจนี้เป็นเพียงส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำเท่านั้น !!

 

ส่วนที่สำคัญยิ่งยวด คือ ข้อมูลที่นำมาสร้าง AI ที่ต้องเข้าใจคัดเลือกให้ถูกและดูแลมาตั้งแต่กระบวนการสร้างเนื้อข้อมูล เพราะไม่เช่นนั้น จะเป็น garbage-in-garbage-out คือ ข้อมูลผิดมาสอน AI ก็ได้ AI แบบซื่อบื้อออกมา

 

นอกจากเรื่องข้อมูลที่ดี ตั้งแต่ขั้นการได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพแล้ว ยังต้องเข้าใจว่า AI ถูกสอนให้ฉลาด (ที่สุด) ตามกรอบของข้อมูลที่ใช้สอนมัน ณ เวลานั้น !! แปลว่าวันหนึ่งหากบริบทเปลี่ยน ประสิทธิภาพการตัดสินใจของ AI ยอมเปลี่ยนไป เช่น นำข้อมูล GPS ของตำแหน่งรถเมล์มาใช้ทำนายเวลาเข้าป้าย ซึ่งข้อมูล GPS นั้นเก็บมาจากบริบทจราจร (ก่อนโควิด) พอหลังโควิดทุกอย่างย่อมผิดเพี้ยนไป หรือ เก็บข้อมูลมาจากโครงข่ายถนน ณ วันนี้ ผ่านไป 3 ปี มีทางด่วน มีถนนสายใหม่ มีรถไฟฟ้า ห้างร้านกิจกรรมต่าง ๆ ตามข้างทางเปลี่ยนไป เช่นนี้ AI ที่ฉลาดในสถานการณ์อดีตย่อมไม่ฉลาดอีกต่อไป  การบริหารข้อมูลตรงนี้เป็นความท้าทายในการออกแบบอย่างมาก  ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ในการทำงานจริง อาศัยเพียงทฤษฏีหรือหลักวิชาการย่อมไม่เพียงพอ 

 

แม้มีหลายประเด็นเป็นสิ่งท้าทายในการนำ AI มาใช้ แต่รัฐบาลก็มิได้ท้อถอย กล่าวคือ มีการนำแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์เข้าไปเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ (เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564) โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แนวปฎิบัตินี้เน้นสร้างความปลอดภัยและน่าเชื่อถือของ AI  เช่นนี้นับเป็นเรื่องดีเพราะจะได้มีกรอบตั้งต้นในการนำมาใช้งาน

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าแนวปฎิบัติมากๆ คือ การนำ AI ไปใช้งานอย่างพอดี อย่างเข้าใจ เช่น การคัดเลือกผู้มีสิทธิรับความช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐ เคยมีผู้กล่าวว่าต้องใช้ AI มาทำการคัดเลือก อันที่จริงตรงนี้ไม่จำเป็นเลย เพราะแค่ผูกสูตรใส่เงื่อนไขธรรมดาก็คิดได้แล้ว ความท้าทายไม่ใช่การใช้ AI แต่เป็นการได้มาซึ่งข้อมูลในมิติต่าง ๆ (เกี่ยวกับผู้ขอรับสิทธิ์) ที่มักมีอยู่แต่กลับไม่ได้มา ได้มาแต่ไม่ทันสมัย ทันสมัยแต่ไม่เป็นความจริง หรือ อาจถึงขั้นไม่มีข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลที่พร้อมใช้อยู่เลย    

 

ตัวอย่างซึ่งจำเป็นต้องใช้ AI คือ การยืนยันตัวบุคคลแบบออนไลน์  ทุกวันนี้เวลาประชาชนไปติดต่อราชการจะต้องพกบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วยเสมอ หรือไม่ก็ต้องถ่ายสำเนาและเซ็นต์รับรองว่าสำเนานั้นเป็นของจริงยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ (และเก็บเอกสารไว้เป็นหลักฐาน) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบโดยดูว่าหน้าในบัตรและหน้าคนที่มาติดต่อนั้นตรงกัน  ส่วนการยืนยันตัวบุคคลแบบออนไลน์ เช่น เราใช้สมาร์ทโฟนอยู่ที่บ้านเปิดกล้องโชว์หน้า ถ่ายภาพนิ่งหรือวิดีโอส่งไป ฝั่งปลายทางก็จะใช้ AI ตรวจสอบหน้าบนบัตรกับหน้าในวิดีโอว่าตรงกันหรือไม่ พร้อมด้วยอาจให้กรอกข้อมูลจำเพาะเพิ่มเติมบางอย่าง เช่น เลขรหัสเลเซอร์หลังบัตร เพื่อประกอบการพิจารณา เช่นนี้ ถือเป็นการนำ AI มาช่วยลดเวลาการเดินทางและบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และปัจจุบันเริ่มมีการนำมาใช้บ้างแล้ว เช่น แอ๊พเป๋าตังค์ 

 

การใช้ AI ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรก็มี เช่น

  1. การนำ AI มาสร้างเป็น Chatbot คุยโต้ตอบเพื่อล่อลวงประชาชนเวลามาใช้บริการ หรือสอบถามข้อมูลเพื่อหลอกล่อเอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ
  2. การนำ AI มาใช้สร้างวิดีโอ หรือ ภาพถ่ายปลอมของบุคคลเพื่อใช้กล่าวร้ายว่าบุคคลนั้นได้กระทำการหรือพูดจาใด ๆ ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวไม่ได้กระทำ
  3. การใช้ AI ไปเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลที่เผยแพร่อยู่ในอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาใช้ในการส่งโฆษณาขายสินค้าและบริการที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม หรือ ถึงขั้นใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้แฮ๊คเกอร์ไปจาะข้อมูลเพิ่มเติมและเข้าถึงบัญชีอีเมล รหัสผ่าน บัญชีธนาคาร หรือ อื่น ๆ อีกภายหลัง 

 

ตัวอย่างที่อื้อฉาวกันในต่างประเทศแล้วเช่น Facebook-Cambridge Analytica “scandal” ซึ่งเป็นกรณีข้อมูลคนอเมริกันกว่า 87 ล้านคน (ที่ใช้ Facebook) ถูกนำไปป้อนให้กับ AI เพื่อใช้ปลุกปั่นสร้างทัศนคติทางการเมืองให้เป็นไปในแนวทางที่ผู้กระทำต้องการ [3] อย่างไรก็ตาม ต่อมามีข่าวว่า คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Trade Commission) ได้เรียกปรับเงิน Facebook ที่กระทำผิดจรรยาบรรณครั้งนี้ ถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ [4]

แล้วนโยบายสาธารณะเรื่อง AI ควรเน้นอะไร ?  

ตามที่กล่าวแล้ว การใช้ AI ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าจริงเป็นเรื่องท้าทายและบางครั้งสุ่มเสี่ยง จึงควร สร้างสิ่งแวดล้อม (สมัยนี้เรียกกะบะทราย Sandbox) ให้คนมาทดลองทำลองเล่น และที่สำคัญคือต้องมีข้อมูลให้เล่น ซึ่งอาจจะใช้วิธีรับบริจาคก็ได้

ตัวอย่างการรณรงค์ บริจาคข้อมูลที่เก๋ไก๋ทันสมัย เช่น โครงการ Mozilla Common Voice [1] ที่รับบริจาคเสียงของคนทั่วโลกเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสอน AI ให้เข้าใจได้ว่ามนุษย์พูดว่าอะไร  โครงการดังกล่าวดูแลโดยมูลนิธิชื่อ Mozilla โดยจัดทำเว็บไซต์สำหรับให้ผู้คนเข้ามาทำการอ่านข้อความต่าง ๆ ตามที่กำหนดบนหน้าจอแล้วบันทึกเสียงของตนส่งเข้าไปเก็บในระบบ หลังจากนั้นข้อมูลทั้งหมดก็ถูกรวบรวมตรวจสอบความถูกต้องโดยอาสาสมัครอีกกลุ่ม  ก่อนจะนำมาเปิดให้เป็นของสาธารณะใครก็สามารถดาวน์โหลดไปใช้กับงาของตนได้ ซึ่งปัจจุบัน (19 มิถุนายน 2564) มีคนไทยที่บริจาคเสียงภาษาไทยแล้วกว่า 7,200 คน รวมเป็นเวลาเสียงพูดกว่า 115 ชั่วโมง ตรงนี้เมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ ก็ยังนับว่าห่างไกลกันมาก เพราะมีผู้บริจาคถึงกว่า 72,000 คน รวมเป็นเวลาเสียงพูดกว่า 1,900 ชั่วโมง

ประเทศจะเดินหน้าได้เร็วเมื่อกำลังคนที่ขับเคลื่อนประเทศไม่ต้องเสียเวลาแก้ปัญหาเดิมซ้ำ ๆ ต้องลดต้นทุนเวลาที่ใช้รวบรวมข้อมูล ต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์แรงๆ ให้ใช้ลอง AI ต้องเอาตัวจริงงานจริงพร้อมเจ็บจริงมาโชว์จริง และที่สำคัญคือสร้างกลไก ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรุ่งเรือง ที่เกิดการปฎิบัติจริง สร้างวัฒนธรรมที่นับถือคนทำงานและไม่มัวนั่งวิจารณ์หรือเล่นวาทะกรรม คงพอเห็นภาพ ว่านโยบายสาธารณะที่ถูกที่ควรน่าจะเป็นอย่างไร

มนต์ศักดิ์  โซ่เจริญธรรม

ผู้บริหารข้อมูลระดับสูง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

[email protected]; 0991042104

[1] https://commonvoice.mozilla.org/th

[2] https://www.mozilla.org/en-US/

[3] Chan, Rosalie. "The Cambridge Analytica whistleblower explains how the firm used Facebook data to sway elections". Business Insider. Retrieved May 7, 2020.

[4] "Facebook to be fined $5bn for Cambridge Analytica privacy violations – reports | Facebook | The Guardian". amp.theguardian.com. July 12, 2019. Retrieved July 13, 2019.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"