บทเรียนจากประเทศที่ โควิดย้อนกลับแม้ฉีดวัคซีนแล้ว


เพิ่มเพื่อน    

 ทันทีที่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเป้าหมายจะเปิดประเทศใน 120 วัน ก็ย่อมต้องมีเสียงเตือนให้ระวังตั้งรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

            เพราะยังไม่มีประเทศไหนประกาศวันที่ "เปิดประเทศ" โดยที่ยังไม่มีการประกาศ "แผนฉีดวัคซีน" ที่ให้เกิด "ภูมิคุ้มกันหมู่" สำเร็จพร้อมๆ กัน

            นายกฯ ยอมรับว่าจะต้องพร้อมรับความเสี่ยงและแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน

            ความเสี่ยงที่ว่านี้ยังมีประเด็นที่บางประเทศ แม้เมื่อฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปถึง 60-70% ของประชากรแล้ว  พอเปิดประเทศแล้วก็ยังต้องย้อนกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง

            เพราะยอดคนติดเชื้อหวนกลับมาอย่างน่ากลัวอีกรอบหนึ่ง

            มีอย่างน้อย 7 ประเทศที่อยู่แถวหน้าของการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชน คือ อิสราเอล, ชิลี, อังกฤษ, บาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, หมู่เกาะเซเชลส์ และมัลดีฟส์

            มีประเทศเดียวคืออิสราเอลเท่านั้น ที่ไม่ต้องกลับไปใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอีก

            นอกนั้นทุกประเทศเจอบทเรียนที่ว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้รับรองว่าผู้คนจะไม่ติดเชื้ออีก

            และการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามานั้น มีความเสี่ยงที่จำเป็นต้องตั้งรับไว้อย่างระมัดระวังยิ่งนัก

            ชิลีกลายเป็นหนึ่งในกรณีศึกษา เพราะแม้จะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกกระจายให้ประชากร 75% แต่ก็ยังเจอการแพร่ระบาดของเชื้อระลอกใหม่

            ชิลีใช้วัคซีน Sinovac 17.2 ล้านโดส เท่ากับ  75% ของวัคซีนที่ประเทศนั้นใช้ทั้งหมด

            ที่เหลืออีก 25% เป็น Pfizer และ  AstraZeneca

            ขณะเดียวกันหมู่เกาะเซเชลส์ในมหาสมุทรอินเดีย ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนของตนในสัดส่วนสูงที่สุดในโลก

            ประชากรทั้งประเทศมี 97,000 คน ได้รับวัคซีน  Sinopharm ของจีนและ AstraZeneca (ใช้ชื่อ Covishield เพราะผลิตในอินเดีย) กว่า 63%

            ทำให้ทางการต้องปิดทั้งหมด 115 เกาะของประเทศนี้อีกรอบหนึ่ง เพราะเกิดความไม่แน่นอนขึ้นอย่างฉับพลัน

            อังกฤษเป็นอีกตัวอย่างที่ต้องปรับแผนอย่างกะทันหัน

            เดิมนายกฯ บอริส จอห์นสัน ประกาศ “วันอิสรภาพ”  (Freedom Day) อันเป็นวันที่จะยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดทั้งหลายไว้ที่สัปดาห์นี้

            แต่พอไวรัสสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) กระจายตัวในประเทศ ยึดครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา  (อังกฤษเดิม) รัฐบาลต้องประกาศเลื่อนไปเป็นวันที่ 19 กรกฎาคมหรือประมาณหนึ่งเดือน

            โดยไม่มีอะไรรับรองว่า พอถึงวันนั้นจะมีความเสี่ยงอะไรที่คาดไม่ถึงมาทำให้ต้องปรับแผนอีกหรือไม่

            สำหรับของไทยเราจุดทดสอบน่าจะอยู่ที่วันที่ 1  กรกฎาคมนี้ เมื่อเปิด Phuket Sandbox เพื่อทดสอบว่าหากเปิดทางให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในจำนวนที่ควบคุมได้และมีมาตรการกำกับดูแลพอสมควร จะมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการนำร่องไปสู่จังหวัดอื่นๆ ได้หรือไม่

            เกาะสมุย, เกาะพะงัน และเกาะเต่า กำหนดจะเดินตามภูเก็ตโดยเริ่มวันที่ 15 กรกฎาคม

            และหากการทดลองนี้ได้ผลก็จะกำหนดให้จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ เริ่มต้นเปิดประตูวันที่ 1 ตุลาคมนี้

            ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างยังต้องผ่านการทดลองว่าสอบผ่านมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

            สัญญาณด้านต่างๆ เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดนั้นยังไม่นิ่ง

            ตัวเลขคนติดเชื้อต่อวันยังสูงอยู่ในช่วง 3,000-4,000  คนต่อวัน และจำนวนคนเสียชีวิตก็ยังเป็นเลขสองหลักอยู่

            อีกทั้งคลัสเตอร์ของการแพร่เชื้อใน กทม.และจังหวัดใกล้เคียงกับบางจังหวัดยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมสงบง่ายๆ

            และพอเปิดให้นักเรียนกลับเข้าห้องเรียนในบางจังหวัด ก็มีรายงานว่าเด็กๆ ติดเชื้อกันหลายแห่งในหลายจังหวัด ทำให้ต้องปิดโรงเรียนอีกรอบหนึ่ง

            ความน่ากังวลคือยังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็ก และเมื่อเด็กติดเชื้อจากโรงเรียนแล้วก็จะนำไปสู่การแพร่เชื้อให้ผู้ใหญ่ในบ้านได้อีก

            ปัจจัยสุ่มเสี่ยงจึงมีอยู่รอบด้าน ล้วนเป็นตัวแปรที่อาจจะทำให้แผนการเปิดประเทศทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศเกิดความแปรปรวนได้ตลอดเวลา

            ดังนั้น “เป้าหมายเปิดประเทศใน 120 วัน” จึงไม่อาจจะเดินหน้าได้หากไม่มี “แผนยุทธการ” ที่เดินขนานกันไป...พร้อมรับความเสี่ยงและปรับตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา.

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"