ก่อนระบบสาธารณสุข จะเข้าขั้น ‘ล่มสลาย’


เพิ่มเพื่อน    

ชาร์ตนี้จะเห็นตัวเลขคนป่วยอาการหนักจากโควิด-19 และที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

                สะท้อนถึงวิกฤติของระบบสาธารณสุขที่กำลังเข้าใกล้จุดที่คนไทยเคยกลัวกันเมื่อเห็นสภาพที่น่ารันทดในหลายๆ ประเทศในการแพร่ระบาดระลอกหนึ่งและสอง

                เช่นภาพคนไข้อาการหนักต้องนอนอยู่ริมทางเดินของโรงพยาบาลเพราะคนไข้ล้น

                เช่นข่าวที่หมอน่าต้องตัดสินใจจะช่วยเฉพาะคนไข้ที่มีโอกาสรอดมากกว่าเท่านั้น เพราะถึงจุดต้อง “เลือกว่าจะช่วยชีวิตได้กี่คน” ในภาวะความขาดแคลนและแรงกดดันอย่างหนัก

                วันนี้ จากที่ผมได้พูดคุยกับคุณหมอในสมรภูมิรบหลายๆ ท่าน สถานการณ์ของบ้านเราเข้าใกล้จุดนั้นแล้ว

                รายงานของ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เมื่อวันพฤหัสบดี แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาขณะนี้

                รายงานนั้นบอกว่า ที่ประชุม ศบค. เสนอแนวทางการขยายเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง

                (สีเหลือง สีแดง) ใน กทม. และปริมณฑล เพื่อแก้ไขสถานการณ์ผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น

                1.ปรับพื้นที่โรงพยาบาลรัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยบางแห่ง

                เพื่อรองรับเตียงผู้ป่วยระดับสีแดง เพิ่มขึ้น 

                2.ระดมบุคลากรจากทุกภาคส่วน ดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรง

                อาทิ บุคลากรทหาร บุคลากรสาธารณสุขจากต่างจังหวัด แพทย์จบใหม่

                3.เพิ่มทีมสอบสวนโรค ในการลงพื้นที่ คัดกรอง สอบสวนโรค

                4.กำลังพิจารณาเรื่องของ Home Isolation ในกลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย (สีเขียว)

                โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จะช่วยกันระดมสรรพกำลัง เพิ่มศักยภาพการจัดหาเตียงให้แก่ผู้ป่วยอาการรุนแรง

ใน กทม.และปริมณฑล ให้เพียงพออย่างสุดกำลัง

                วันเดียวกันนั้น ผมได้คุยกับ พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ยืนยันว่าเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ “รับไม่ไหวแล้ว”

                ท่านเขียนไว้เฟซบุ๊กของท่านตอนหนึ่งว่า

                “เห็นตัวเลขการระบาดของโควิด-19 รายวันที่ไม่มีแนวโน้มลดลง คงเหนื่อยใจกันทุกคนนะครับ

                ในส่วนที่ผมสนใจคือปัญหาการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และเป็นการดูแลที่ต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างมาก รวมทั้งเป็นเตียงที่ยากในการเพิ่มจำนวนได้อีก

                ผมลองทำกราฟดูแนวโน้มอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจทั่วประเทศในรอบ 2 เดือน ระหว่างวันที่ 24 เมษายน ถึง 23 มิถุนายน 2564 จะเห็นว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังสงกรานต์ ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า

                แต่หลังจากนั้นตัวเลขที่รายงานค่อนข้างคงที่ พอบริหารจัดการได้ แต่ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา แนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยอาการหนักกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 1,209 ราย เป็น 1,526 ราย แต่จำนวนผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจกลับไม่เพิ่มขึ้น อยู่ที่ประมาณ 400 กว่าราย 

                อันนี้อาจเกิดจากมีการใช้ high flow มากขึ้นแทนการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือแต่ละ รพ.ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจในเตียงผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยเสียชีวิตไปก่อนที่จะสามารถใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะตอนนี้เตียงสำหรับผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มแล้วก็ได้

                 พวกเราคงต้องป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ นอกจากป้องกันไม่ให้เป็นโควิด-19 แล้ว ก็ยังต้องดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยหนักด้วย เพราะเตียงผู้ป่วยอาการหนักด้วยโรคอื่นๆ ด้วย 

                โดยเฉพาะที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจน่าจะมีปัญหามากทีเดียว โดยเฉพาะใน กทม.และปริมณฑล หน้างานทุกคนรู้ว่าสภาพเตียงผู้ป่วยหนักของแต่ละโรงพยาบาลตึงมือจริงๆ และไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มาก เนื่องจากบุคลากรทุกส่วนของโรงพยาบาลต่างๆ ตอนนี้ก็ทำงานกันจนจะไม่ไหวแล้ว

                ป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยการอยู่บ้าน เลี่ยงที่ชุมชน อย่าไว้ใจใครทั้งสิ้น ทั้งคนแปลกหน้าและคนที่เรารู้จักดี คิดเสมอว่าทุกคนมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้เรา ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และหมั่นสังเกตอาการ ไข้ หวัด เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น... ถ้ามีอาการให้รีบไปตรวจคัดกรอง และถ้าเกิดติดเชื้อขึ้นมาก็รีบติดต่อเพื่อให้ได้นอนโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ตั้งแต่ยังไม่มีอาการหรืออาการน้อย เรื่องวัคซีนก็อย่าลืมไปฉีดเมื่อนัดฉีดได้นะครับ

                โควิด-19 รอบนี้ไม่ใช่แค่การต่อสู้ช่วงสั้นๆ แต่คงเป็นการต่อสู้แบบมาราธอนครับ ไม่รู้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ตั้งรับรักษาพยาบาลอยู่ หรือประชาชนที่ดูแลตัวเองจะหมดแรงก่อน ถ้ากรรมการกลางไม่สั่งให้หยุดพักเพื่อเติมแรงก่อนจะหมดแรงกันทั้งสองฝ่าย

                ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นต้องลงมาบัญชาการรบด้วยการฟังความจริงจากนักรบแนวหน้าของเรา และปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับความจริง

                หากท่านทำไม่ได้ ก็ต้องเปิดทางให้คนอื่นเข้ามาทำแทน

                เพราะเราไม่อาจจะปล่อยให้ระบบสาธารณสุข “ล่มสลาย” ได้เป็นอันขาด.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"