ยุทธศาสตร์ตั้งรับ ‘กรกฎาฯ อันตรายยิ่ง’


เพิ่มเพื่อน    

ต้องยอมรับว่าเรามาถึงจุดที่ต้องประกาศว่า เดือนกรกฎาคมนี้เป็น “เดือนอันตรายอย่างยิ่ง” สำหรับวิกฤติโควิด-19 แล้ว

            คุณหมอหลายท่านที่ผมสนทนาด้วยยืนยันตรงกันว่า เราไม่อาจจะชะลอการระบาดได้อีกต่อไป

            แต่เราสามารถจะลดจำนวนการเสียชีวิตได้

            คุณหมออนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย รายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นวันแรกที่ผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล (สีเหลือง  30,145 ราย) กลับมามีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลสนาม (สีเขียว 29,793 ราย) แล้ว

            หลังจากที่โดน รพ.สนามแซงไปเมื่อ 18 พ.ค.64  โดยมีอัตราการรับไว้ใน รพ.เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่  19 มิ.ย.64

            ทำให้มีผู้ป่วยรักษาอยู่ในระบบรักษาพยาบาลเกือบ 6  หมื่นคนแล้ว สูงกว่าช่วงที่เคยสูงสุดในช่วง มิ.ย.เกือบหมื่นคน

            คุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แห่งชมรมแพทย์ชนบท เตือนว่าเมื่อเราชะลอการระบาดไม่ได้ก็ต้องมีการใช้ยุทธศาสตร์เร่งด่วน

            นั่นคือสิ่งที่คุณหมอเรียกว่า “กรกฎาคมเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุทั่วไทยให้ได้ 70%”

            ประเมินว่าในเดือนนี้จะมีวัคซีนเท่าไหร่

            แอสตร้าเซนเนก้าน่าจะส่งมอบที่ 5 ล้านโดส 

            นอกจากนี้จะมีแอสตร้าฯ บริจาคจากญี่ปุ่นอีก 1 ล้านโดส 

            อเมริกาบริจาคไฟเซอร์อีก 1 ล้านโดส

            เติมด้วยซิโนแวคอีก 3 ล้านโดส

            เดือนกรกฎาคมนี้ประเทศไทยก็จะมีราว 10 ล้านโดส

            หากแนวโน้มเป็นเช่นที่เห็น จำนวนผู้เสียชีวิตที่เมื่อวานอยู่ที่ 50 คนต่อวันอาจจะกระโดดไปที่ 100 คนต่อวัน

            คำถามคือ เราควรใช้วัคซีนที่มีไม่มากไปที่คนกลุ่มใด จึงจะเกิดผลดีที่สุดต่อการสู้ภัยโควิด

            คุณหมอสุภัทรบอกว่า ที่ผ่านมาการกระจายวัคซีนนั้นใช้ยุทธศาสตร์ “รักพี่เสียดายน้อง”

            คือจัดให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคผ่านหมอพร้อม

            จัดให้ประกันสังคมไปกระจายด้วย

            จัดให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยไปจัดสรรกันเอง

            จัดสรรให้เมืองท่องเที่ยวเพื่อเตรียมเปิดเมือง 

            จัดสรรให้พื้นที่ระบาดหนักคือกรุงเทพฯ แต่กลับเทไปผิดกลุ่มไปทางไทยร่วมใจ จนวัยรุ่นได้ฉีดก่อนพ่อแม่ปู่ย่าที่บ้าน 

            “นี่คือยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนแบบไม่มียุทธศาสตร์”

            จึงต้องมาปรับแผนปฏิบัติการใหม่

            โดยต้องเข้าใจก่อนว่า 70% ของผู้เสียชีวิตนั้นมีอายุมากกว่า 60 ปี

            ธรรมชาติของโรคโควิดนั้น คนอายุมากจะป่วยหนักและมีโอกาสเชื้อลงปอด เกิดอาการปอดบวมสูงกว่าคนอายุน้อย

            ดังนั้นหลายประเทศจึงใช้ยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนไปตามอายุ

            ตัวอย่างประเทศอังกฤษ เขาก็ใช้แอสตร้าฯ ฉีดผู้สูงอายุ ไล่ตั้งแต่คนอายุ 90 ปีขึ้นไป

            พอหมดก็มาระดมฉีดคนที่อายุ 80 ปีขึ้นไป 70 ปีขึ้นไป ลงมาเรื่อยๆ

            จนปัจจุบันไล่ฉีดจนมาถึงคนหนุ่มสาวแล้ว

            ผลก็คือแม้อังกฤษยังมีการระบาดพอสมควร พบการติดเชื้อราววันละ 27,000 คน แต่เสียชีวิตเพียงวันละ  20 คน ทั้งนี้เพราะผู้สูงอายุของอังกฤษได้ฉีดวัคซีน 80-90% แล้ว

            คุณหมอเสนอว่าประเทศไทยก็ควรทำเช่นนี้

            วัคซีน 10 ล้านโดสที่มีแม้จะไม่มาก แต่ก็ไม่น้อยหากใช้อย่างมียุทธศาสตร์

            ผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) ทั่วไทยมี 12 ล้านคน  ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนวัคซีนที่ไทยมีในเดือนกรกฎาคมนี้ 

            หากตั้งเป้าหมายว่าในทุกจังหวัดผู้สูงอายุต้องได้รับวัคซีนเข็มแรกไม่น้อยกว่า 50% ก็ใช้วัคซีนเพียง 6 ล้านโดส 

            และในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ระบาดหนักเช่น กทม.  ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจตั้งเป้าเพิ่มให้เป็น 70% ในเดือนกรกฎาคม (ย้ำว่าในเดือนกรกฎาคม)

            สำหรับ กทม.พื้นที่ระบาดหนัก มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.6 ล้านคน ได้รับวัคซีนไปแล้ว 3.5 แสนคน เหลืออีก 1.25 ล้านคนที่ยังไม่ได้วัคซีน

            หากตั้งเป้าหมายฉีดผู้สูงอายุใน กทม.สัก 1 ล้านคนในเดือนกรกฎาคมก็ย่อมจะไม่ยาก

            คุณหมอจึงประกาศว่า

            “ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเสนอว่า เดือนกรกฎาคมคือเดือนที่มีความหมายในการลดการตายจากโรคโควิด ด้วยการระดมฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปให้มากที่สุด ให้ได้ 70% เป็นอย่างน้อย ผู้สูงอายุทุกคนไม่ควรต้องรอคิวหมอพร้อมในเดือนถัดๆ ไปอีกแล้ว รัฐบาลต้องเปิดช่องทางด่วนให้ผู้สูงอายุทุกคนที่ประสงค์ฉีดวัคซีน ต้องได้ฉีดวัคซีนในเดือนกรกฎาคม

            นี่คือยุทธศาสตร์สำคัญหนทางเดียว ที่เราจะลดอัตราการตายให้ลดลงครึ่งหนึ่งให้จงได้”

            ผมวิเคราะห์ตัวข้อมูลจากแหล่งต่างๆ สรุปได้ว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์อย่างเร่งด่วนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"