ปลื้มฟิตช์!คงความเชื่อมั่น นํ้ามันแพงเงินเฟ้อเพิ่ม1.25


เพิ่มเพื่อน    

นายกฯ พอใจสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch ให้ไทย BBB+ อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ  สะท้อนภาพความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก ขณะที่เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.64 เพิ่ม 1.25% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่มีอัตราชะลอตัวลง น้ำมันยังเป็นปัจจัยหลัก คาดครึ่งปีหลังยังขยับเพิ่มต่อ พร้อมปรับสมมติฐานคำนวณเงินเฟ้อใหม่ แต่เป้ายังอยู่ที่ 0.7-1.7% ค่ากลาง 1.2%    
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 5 กรกฎาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลจาก  Fitch Ratings (Fitch) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สะท้อนความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ที่ได้รายงานไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่  BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย  (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable  Outlook) สะท้อนภาพความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย
    ทั้งนี้ การจัดอันดับของ Fitch Rating มีตัวชี้วัดจาก1.ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ซึ่งสะท้อนภาพความแข็งแกร่งของการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ และเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง  ซึ่งแม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และ
    2.ภาคการเงินต่างประเทศ (External  Finance) ที่ยังคงมีความเข้มแข็ง และส่งผลต่อการจัดอันดับความเชื่อถือของประเทศไทย โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง  เพียงพอสำหรับใช้จ่ายถึง 10.8 เดือน ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Peers) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.3 เดือน นอกจากนี้คาดว่าในปี 2564 ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะยังคงเกินดุลที่ร้อยละ  0.5 ต่อ GDP และจะเกินดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
    นายอนุชากล่าวว่า Fitch ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า  รัฐบาลไทยจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็ง  สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2  ของปี 2564 Fitch เชื่อมั่นว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าและการเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 เนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวและรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น จะทำให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลง
    “รัฐบาลพึงพอใจกับการจัดอันดับและเสนอมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว และพยายามเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างกว้างขวางครอบคลุม รวมถึงการเปิดจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง (Phuket  Sandbox) ไปแล้ว เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว จากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และจะเริ่มเปิดพื้นที่อื่นๆ ที่มีความพร้อมต่อไป เช่น เกาะสมุย, เกาะพะงัน,  เกาะเต่า ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ตามนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรี” นายอนุชากล่าว
     ด้านนายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า  ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มิ.ย.64 เท่ากับ  99.93 เทียบกับเดือน พ.ค.64 เพิ่มขึ้น 0.38%  เทียบกับ มิ.ย.63 เพิ่มขึ้น 1.25% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่เพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.89%  ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่าดัชนีอยู่ที่ 100.47 เพิ่มขึ้น  0.02% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.64 และเพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.63 และเฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 0.27% 
          สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัวสูงขึ้น มาจากการสูงขึ้นของราคาพลังงาน 8.95% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นสูงถึง 27.60% และยังมีการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกร เพราะเกิดโรคระบาด, ไข่ไก่ มีการปลดแม่ไก่, ผลไม้สด มีความต้องการเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ, เครื่องประกอบอาหาร และน้ำมันพืชที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และการลดลงของอาหารสดบางประเภท เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด ที่เป็นปัจจัยทอนให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวและไม่เพิ่มสูงเร็วเกินไป ขณะที่สินค้าในหมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ 
    โดยในเดือน มิ.ย.64 มีสินค้าที่ราคาเพิ่มสูงขึ้น 226  รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, ค่าน้ำประปา, เนื้อสุกร, ไข่ไก่,  น้ำมันพืช, ข้าวราดแกง, เงาะ, ไก่ย่าง, ถั่วฝักยาว, ลดลง  135 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า, ข้าวสารเจ้า, ข้าวสารเหนียว, ผักชี, พริกสด, หอมแดง, ต้นหอม, ฟักทอง, ชะอม  เป็นต้น และไม่เปลี่ยนแปลง 69 รายการ
     นายวิชานันกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง  2564 คาดว่าไตรมาส 3 จะขยายตัว 2.13% ไตรมาส 4 ขยายตัว 2.37% เพราะยังคงได้รับอิทธิพลจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกและภาคการผลิตที่ต่อเนื่องกับการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จะไม่ขยายตัวมากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังเป็นข้อจำกัดที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 
          ทั้งนี้ ผลจากการที่สมมติฐานเปลี่ยนไป กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับสมมติฐานประมาณการเงินเฟ้อปี 2564 ใหม่ โดยคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 0.7-1.7% ค่ากลาง 1.2% มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) 1.5-2.5% จากเดิม 2.5-3.5% น้ำมันดิบดูไบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  จากเดิม 55-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จากเดิม 29-31  บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"