รัสเซียหนุนแผนอาเซียนแก้วิกฤติเมียนมา - ซูจีฉีดวัคซีนครบแล้ว


เพิ่มเพื่อน    

รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียยืนยันระหว่างเยือนอินโดนีเซียเมื่อวันอังคารว่า รัฐบาลรัสเซียสนับสนุนความพยายามทางการทูตของอาเซียนเพื่อยุติวิกฤติในเมียนมา และได้ส่งสารเดียวกันนี้ต่อผู้นำทหารของเมียนมาไปด้วย อีกด้านทนายความเผย นางอองซาน ซูจี ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบสองโดสแล้ว

เซอร์เกย์ ลัฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย (ขวา) ไหว้ทักทายลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน ขณะเยือนกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564 (Photo by Russian Foreign Press Service / Handout/Anadolu Agency via Getty Images)

    สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เซอร์เกย์ ลัฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย อยู่ระหว่างเยือนอินโดนีเซียเมื่อวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม โดยเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย เผยว่าเขาจะประชุมทางไกลกับเพื่อนรัฐมนตรีในกลุ่มอาเซียนด้วย

    ลัฟรอฟยืนยันที่กรุงจาการ์ตาว่า ฉันทมติ 5 ข้อที่กลุ่มอาเซียนเห็นพ้องกันนั้น ควรเป็นพื้นฐานสำหรับการหาทางออกแก่สถานการณ์ในเมียนมา "ในการติดต่อกับพวกผู้นำเมียนมา พวกผู้นำทหาร เราส่งเสริมจุดยืนของอาเซียน ซึ่งควรอยู่ในมุมมองของเรา โดยถือเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขวิกฤตินี้และนำสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ" ลัฟรอฟกล่าว

    รายงานรอยเตอร์กล่าวว่า ความคิดเห็นของรัฐมนตรีรัสเซียผู้นี้มีนัยสำคัญ และมีออกมาในช่วงยามที่กองทัพรัสเซียเกี่ยวพันอย่างล้ำลึกกับกองทัพเมียนมา ในขณะที่มหาอำนาจขนาดใหญ่ชาติอื่นๆ แซงก์ชันธุรกิจและพวกผู้นำเมียนมา ทั้งยังเรียกร้องให้ทั่วโลกห้ามการขายอาวุธแก่ประเทศนี้ หลังจากกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

    รัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาวุธให้รายใหญ่และช่วยฝึกกองทัพเมียนมา เป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ยอมรับคณะปกครองทหารของเมียนมา โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาพบกับพวกนายพลเมียนมาหลังการรัฐประหาร เดือนที่แล้วพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย พร้อมคณะผู้แทนของกองทัพ ก็เดินทางไปยืนกรุงมอสโกหลายวัน และแสดงสุนทรพจน์และให้สัมภาษณ์สื่อหลายครั้ง รวมถึงได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์

    รอยเตอร์ระบุว่า แผนของอาเซียนบรรลุความเห็นพ้องเมื่อเดือนเมษายน แต่กองทัพเมียนมายังไม่เผยให้เห็นความตั้งใจที่จะปฏิบัติตาม พวกนายพลเลือกที่จะเดินทางแนวทางของตนในการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยและประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างจากแผนของอาเซียนอย่างสิ้นเชิง สร้างความขัดเคืองแก่ชาติสมาชิกที่ตรงไปตรงมาที่สุดทั้งอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และสิงคโปร์

    ความพยายามของอาเซียนนั้นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาสานเสวนากัน, ให้แต่งตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียน, เปิดให้มีการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมมากขึ้น และยุติความรุนแรง

    ส่วนในเมียนมา โซ โซ วิน ทนายความของนางอองซาน ซูจี เปิดเผยในวันเดียวกันว่า นางซูจีและคณะทำงานส่วนตัวของนาง ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 โดสเรียบร้อยแล้วระหว่างอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ

    ทนายหญิงผู้นี้ไม่ได้เผยรายละเอียดว่า นางซูจีซึ่งมีอายุ 76 ปี ได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เมื่อใด หรือฉีดวัคซีนชนิดใด โดยเชื่อกันว่านางได้ฉีดเข็มแรกตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร

    รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า เชื่อว่ามีผู้ติดตามประมาณ 10 คนที่พักอยู่กับนางซูจีในบ้านที่นางโดนกักบริเวณ ในจำนวนนี้รวมถึงหน่วยอารักขาและคนครัว

    เมียนมามีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาก จากที่เคยพบผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 100 คนเมื่อต้นเดือนมิถุนายน แต่ในวันจันทร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 3,000 คน ยอดติดเชื้อสะสมของเมียนมาอยู่ที่ 168,374 คน เสียชีวิต 3,461 คน ทางการเมียนมากำลังพยายามจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม หลังจากได้วัคซีนที่อินเดียบริจาคให้ 1.5 ล้านโดส และอีก 500,000 โดสจากจีนเมื่อต้นปีนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"