หมอตะโกนดังๆ ‘รับไม่ไหวแล้ว’!


เพิ่มเพื่อน    

ตัวเลขคนติดเชื้อและเสียชีวิตที่ ศบค.แถลงประจำวัน ว่าน่ากลัวแล้ว ตัวเลขจริงๆ สูงกว่านี้พอสมควร

            นายแพทย์อาวุโสหลายท่านยืนยันว่าระบบสาธารณสุขของประเทศวันนี้ “รับไม่ไหวแล้ว”

            จำเป็นต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ทั้งเรื่องวัคซีนและการ “ล็อกดาวน์” ที่เข้มข้นกว่าที่ทำอยู่ปัจจุบัน

            ช่วงนี้ผมติดตามแนวทางวิเคราะห์ของคุณหมอหลายท่านที่อยู่กลางสมรภูมิรบกับโควิดอย่างใกล้ชิด

            ไม่มีดรามา, ไม่มีอคติ, ไม่เสียดสี ประชดประชัน และไม่มองจากมุมของตนแต่เพียงด้านเดียว

            จำเป็นอย่างยิ่งครับที่เราจะต้องเอาที่เป็นสถิติและตัวเลขของจริง พร้อมข้อเสนอทางสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การแก้วิกฤติระดับชาติอย่างจริงจัง

            คุณหมออนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

            ค้นข้อมูลการนอน รพ.และ รพ.สนามใน กทม.จากเว็บไซต์ฝ่าวิกฤติโควิด 19 ของ กทม.มาวิเคราะห์

            พบกับข้อมูลการนอน รพ.และ รพ.สนามย้อนหลังถึงแค่ 13 พ.ค.64 และข้อมูลการรักษาหายรายวัน มีย้อนหลังถึง 27 มิ.ย.64 แค่ 10 วัน และไม่มีข้อมูลผู้ป่วยอาการหนักและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ก็พอทำให้เห็นภาพบางอย่างได้

            รูปที่ 1 แสดงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 นอน รพ.และ รพ.สนามใน กทม. ระหว่าง 13 พ.ค.-6 ก.ค.64

            มีผู้ป่วยนอน รพ.ทั้งหมดเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากประมาณ 1 หมื่นราย เป็น 2 หมื่นราย

            โดยผู้ป่วยนอน รพ.สนามเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจาก 4,803 ราย เป็น 11,778 ราย 

            ส่วนผู้ป่วยนอน รพ.ทั่วไปเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จาก 5,383 ราย เป็น 8,221 ราย เนื่องจากผู้ป่วยรายใหม่ใน กทม.เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละประมาณ 1 พันคน เพิ่มเป็นเฉลี่ยวันละเกือบ 2 พันคน

            รูปที่ 2 แสดงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้รับไว้ใน รพ.รายวันใน กทม. ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-6 ก.ค.64 ในช่วง 10 วัน โดยใช้การคำนวณจากสูตรง่ายๆ ตามนี้

            ผู้ป่วยไม่ได้รับไว้ใน รพ. = ผู้ป่วยรายใหม่ - ผู้ป่วยรักษาหาย - เสียชีวิต

            คุณหมอบอกว่าตัวเลขอาจจะไม่ตรงทั้งหมดในแต่ละวัน เพราะกว่าผู้ป่วยจะได้รับการนอน รพ.ตอนนี้ใช้เวลาหลายวัน

            แต่จะเห็นว่าวันที่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านและเสียชีวิต

            ทำให้มีผู้ป่วยสะสมที่ไม่ได้รับไว้ใน รพ. 8 วัน มีเพียง 2 วันเท่านั้นที่ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ 

            ที่น่าห่วงก็คือผู้ป่วยไม่ได้รับไว้ใน รพ.สะสม 10 วัน จำนวนทั้งสิ้น 2,164 ราย เฉลี่ยวันละกว่า 200 ราย 

            ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่น่าจะต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านรอเรียกตัว หรือ รพ.ให้ใช้การดูแลที่บ้านแบบ home isolation หรือบางคนอาจไปรักษาในจังหวัดอื่นๆ

            ข้อมูลนี้แสดงว่าศักยภาพการรักษาพยาบาลของ รพ.และ รพ.สนามใน กทม.ตึงมือกันจริงๆ

            ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ในเวลาอันสั้น

            คงต้องมีการรอที่บ้าน หรือปรับใช้มาตรการดูแลที่บ้านแบบ Home isolation อย่างจริงจัง

            คำแนะนำที่สำคัญจากคุณหมออนุตตรคือ

            ตอนนี้ทุกคนโดยเฉพาะชาว กทม. คงต้องดูแลตนเองอย่างเต็มที่

            มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวนมากที่ไม่รู้ว่าติดเชื้อมาอย่างไร แม้ได้ป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว

            ตอนนี้คงต้องเข้มกันมากขึ้นจริงๆ คิดเสมอว่าทุกคนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา อาจมีเชื้อนำโรคโควิด-19 มาถึงเราได้

            ขอให้หลีกเลี่ยงที่ชุมชน ล้างมือกันบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น อย่างถูกต้อง

            “ทนอึดอัดกันหน่อย แล้วก็รีบไปรับวัคซีนเมื่อถึงคิวนัด และคงต้องเข้าใจว่าถ้าเกิดติดเชื้ออาจต้องรอคอยการนอน รพ.ตามคิวที่ รพ.จะสามารถรับได้ครับ” คุณหมอเตือนอย่างจริงจัง

            และเสริมว่าขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์หน้างานทุกคนที่ทำงานกันอย่างยาวนานต่อเนื่อง ไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคน ฝ่าฟันวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน

            หมอบอกว่า “ตึงมือกันจริงๆ” ยังเบาไป

            เพราะสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องการจะบอกกับเพื่อนร่วมชาติทั้งหลายอย่างตรงไปตรงมาคือ

            “รับไม่ไหวแล้วครับ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"