ตรวจแบบ Rapid Test แล้วทำไงต่อ?


เพิ่มเพื่อน    

     แน่นอนว่า เมื่อกระทรวงสาธารณสุขตัดสินใจผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้สามารถใช้เครื่องมือตรวจหาเชื้อโควิดแบบ Rapid Test หรือ “ตรวจไว” ก็ต้องมีคำถามทันทีว่า

            พร้อมที่จะรับจำนวนคนติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากน้อยเพียงใด?

            ผมทราบมาว่าผู้บริหารของ สธ.ก็มองเห็นประเด็นนี้ตั้งแต่ต้น จึงต้อง “คิดให้ครบวงจร” เพื่อเตรียมตั้งรับสถานการณ์ที่จะผันแปรไปอีกทางหนึ่ง

            เมื่อมีการตรวจมากขึ้นก็ต้องพบคนติดเชื้อมากขึ้นเป็นธรรมดา

            จึงจำเป็นต้องปรับกฎเกณฑ์ที่เคยกำหนดให้โรงพยาบาลที่ตรวจเจอคนติดเชื้อต้องรับไว้รักษา

            สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงมีประกาศของกระทรวงให้เปิดทางให้สถานพยาบาลที่ตรวจพบคนติดเชื้อสามารถใช้วิธี Home Isolation สำหรับคนที่มีอาการไม่หนัก เป็นการผ่อนคลายแรงกดดันของบุคลากรทางการแพทย์อีกทาง

            คุณหมอนิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตั้งประเด็นที่หลายคนเห็นตรงกันคือ สธ.มีมาตรการเตรียมรับมือไว้อย่างไร

            คุณหมอกังวลว่า สธ.ยังไม่ได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนไว้ว่า ในรายที่จะตรวจพบผลเป็นบวก (หรือผลเป็นลบก็ตาม) จะทำอย่างไร 

            เพราะหากไม่มีแนวปฏิบัติ “คอขวดในการรอก็จะไปอยู่ที่การรอเตียงแอดมิต แทนที่รอตรวจที่โอพีดี หรืออาจจะทำให้คนตื่นไปตรวจมากขึ้นโดยไม่จำเป็น (เช่น ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด หรือฉีดวัคซีนครบแต่สัมผัสวงที่สองหรือสาม หรือไม่มีอาการเลย แต่แค่อยากรู้) กลายเป็นไปแออัดกัน ไปรับเชื้อกัน วันที่ไปตรวจไม่มีเชื้อ แต่วันสองวันต่อมากลายเป็นมี (เพราะตรวจเร็วไป หรือไปรับเชื้อโรคในวันที่ไปตรวจ)”

            คุณหมอเสนอแนวปฏิบัติที่ต้องมีคร่าวๆ คือ

            1) ถ้าตรวจได้ผลบวกจาก Rapid Test ทำไงต่อ ได้ผลลบทำไงต่อ (ในภาวะรุนแรง การระบาดที่ต่างกันแนวทางก็ไม่เหมือนกัน ผู้กำหนดต้องเข้าใจเรื่อง Pre-test likelihood)

            2) การประชาสัมพันธ์สอนประชาชนให้เข้าใจว่า การดูแลสังเกตอาการที่ต้องมาตรวจ คืออะไร? สัมผัสอย่างใดที่เรียกว่าใกล้ชิด และควรมาตรวจวันไหน ระหว่างยังไม่ถึงเวลาที่ควรมาตรวจ อยู่ที่บ้านควรจะทำอย่างไร

            ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อม ต้นทุนตรงนี้จะมหาศาล รัฐบาลจะแบกไม่ไหว ไหนจะค่าตรวจ จำนวนเตียงที่ต้องเพิ่มขึ้น ทั้งเตียง hospitel รพ.สนาม จนถึงค่าอุปกรณ์เครื่องมือในไอซียู (ใครมีรายได้ตรงนี้กันบ้างไม่แน่ใจ) แต่คนทำงานหนักคือแพทย์ พยาบาล ซึ่งมีเท่าเดิม

            คุณหมอนิธิย้ำว่า ตราบใดที่ไม่มีมาตรการ...

            1) ลดคนเข้า รพ. ฝึกและสอนวิธีคัดกรอง คนที่ดูแลตัวที่บ้านได้ให้อยู่บ้าน และมีระบบติดตามให้พร้อม

            2) ป้องกันคนไม่มีอาการให้กลายเป็นคนมีอาการ (ซึ่งมีวิธีอยู่ อย่าปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูล)

            3) ป้องกันคนมีอาการน้อยไม่ให้กลายเป็นมีอาการมาก

            4) ลดคนมีอาการมากไม่ให้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ… อย่าแค่ตั้งรับ เราเพิ่มคนไม่ได้ อย่าบอกว่ารอวัคซีน เพราะวัคซีนกว่าจะเห็นผลต้องรอหลายเดือน

            และที่สำคัญต้องประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง ให้ความรู้ความเข้าใจคนว่า...

            1) เมื่อไหร่จำเป็นต้องมาตรวจ

            2) ถ้าจะให้มาเมื่อมีอาการ อาการอะไร หรือสัมผัสอย่างไรถึงควรมาตรวจ และควรมาวันไหน ระหว่างรอมาตรวจทำอย่างไร

            คุณหมอเตือนว่า ที่สำคัญอีกเรื่องคือการตรวจแบบไวนี้ถูกออกแบบมาให้เป็นการทำด้วยตัวเอง

            “ดังนั้นคนทำการตรวจร้อยครั้ง เรามีเทคนิเชียนช่วยทำร้อยคน แต่ถ้ามาทำในโรงพยาบาลเรายังมีคนทำเท่าเดิม กลายเป็นคอขวดที่คนตรวจ การตรวจทำพร้อมๆ กันไม่ได้เหมือนเครื่อง RtPCR ที่ทำพร้อมๆ กัน 90 กว่าราย (หรือมากกว่า) ใช้คน 4 คน ตรวจรอบแรกใช้เวลา 4 ชั่วโมง แต่รอบต่อๆ ไปใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ ถ้าเป็นการตรวจแบบไว (Rapid Test) การตรวจหนึ่งรายใช้เวลา 15-20 นาที (อ่านไม่ตรงเวลาผลอาจคลาดเคลื่อน) เทคนิเชียนหนึ่งคนต้องนั่งจ้องดูผลอย่างมากได้ 10 รายกว่าๆ และทำได้เป็นแบบอนุกรม”

            ถ้าคนอยากตรวจมาพร้อมกัน เป็นร้อยคนที่มาท้ายๆ ต้องรออยู่ดี แต่ถ้าจะให้ทำเองที่บ้าน (ซึ่งมันถูกออกแบบมา) เตรียมพร้อมให้การศึกษาหรือยังว่าจะกำจัดขยะเหล่านี้อย่างไร

            คุณหมอสรุปว่า

            “ผมว่าเรายังไม่มีแผนใดๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรม ปล่อยแบบนี้จลาจลแน่ เคอร์ฟิวก็เอาไม่อยู่ ตอนนี้ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแบบสร้างสรรค์ อย่าไปกดดันกัน อย่าใช้อารมณ์ตัดสิน ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ให้การศึกษาให้ทั่วถึง และตัวเลขที่จะช่วยตัดสินใจมีอยู่แล้ว แค่อยู่ต่างที่ต่างกรม เอาตัวเลขมาโชว์ The whole truth เพื่อที่ทำอะไร หรือมีมาตรการอะไรไป จะได้ประเมินผลลัพธ์ได้ และระหว่างทางต้องมีตัวชี้วัดด้วยเผื่อต้องปรับแผนระหว่างทาง”

            อย่าให้เป็นเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา...คือประกาศนโยบายใหม่โดยไม่มีแผนรองรับ

            และต้องตามแก้ปัญหากันทีละเรื่อง จนท้ายสุดก็ล้มเหลว!.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"