บิ๊กตู่ยัวะสนช.สะลึมสะลือไล่กลับไปนอนบ้าน


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" ยัวะ 2 สนช.หลับในห้องประชุมสภา ไล่ไปนอนที่บ้าน ขู่ใครหลับคราวหน้าไม่ตั้งเป็นอะไรอีก คาดเป็นตำแหน่ง ส.ว. ขณะที่ "ชาลี จันทร์เรือง" ไม่แก้ตัว แต่ครวญเพิ่งทำบอลลูนหัวใจมา  พรรคเพื่อไทยได้ทีขย่ม เรียกร้องให้คืนเงินเดือนจากภาษีประชาชน 

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลับระหว่างนายกฯ ชี้แจงร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 62 จำนวน 3 ล้านล้านบาทว่า เขาหลับ เขาง่วงหรือเปล่า ไปถามเขาดู ตนมองไม่เห็น เพราะเขาหลับข้างล่าง 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเสียหายถึงตัวนายกฯ หรือไม่ เพราะเป็นผู้เลือกเข้ามา พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า พอแล้ว คำถามเธอไร้สาระ ที่ผ่านมาคำถามเธอไม่ได้สาระสักเรื่อง ไม่ขอตอบ สิ่งที่พูดในสภาเรื่องงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทมีอะไรบ้าง ลองตอบมา ความแตกต่างคืออะไร จากรัฐบาลที่ผ่านมา สื่อได้นำเสนอบ้างหรือไม่ พูดกันแต่เรื่องนอนหลับ"
    ถามว่าต้องกำชับอะไรหรือไม่เพื่อไม่ให้เกิดภาพอย่างนี้อีก นายกฯ แจงว่า ใครก็ไม่อยากให้มี ก็ย้ำไป และได้ส่งภาพให้ประธาน สนช. ซึ่งท่านก็เห็นแล้ว เดี๋ยวก็ไปซักกันเอง ก็อยู่ที่ทุกคนนั่นแหละ 
    "ฉะนั้น ใครที่หลับ คราวหน้าก็เป็นอะไรไม่ได้อีกต่อไปอยู่แล้ว ผมดูไว้หมด หลับก็ไม่ต้องเป็นอะไร ไปนอนที่บ้าน แต่วันนี้อยู่ให้มันจบไปก่อน เพราะงานอย่างอื่นเขาก็ทำ อย่ามาจับผิดจับถูกเรื่องแบบนี้ จนเรื่องใหญ่สาระไม่มี ภาพไม่สวยก็อย่าไปออก ก็เห็นจ้องถ่ายกันอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ สื่อก็รู้อยู่ อย่ามาซักให้ฉันโมโห ไม่เอา"
    ซักว่า ผู้นำชาวนาสวมเสื้อที่มีข้อความกองหนุนลุงตู่ รู้สึกอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า "สื่อรู้หรือไม่ ถามเขาสิ ความรู้สึก แล้วฉันจะต้องรู้สึกอะไร เมื่อเขาใส่มาก็ขอบคุณ แล้วสื่อปลื้มผมบ้างหรือไม่ ไม่เห็นปลื้มอะไรสักอย่าง ทำลายกันเข้าไปเถอะ ขอบคุณ"
     ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 ฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. กล่าวขอโทษแทน 2 สนช. อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามและตนอยู่ในห้องประชุมช่วงเวลาดังกล่าว พบข้อเท็จจริงว่าภาพของ 2 สนช.ที่งีบหลับนั้น ไม่ใช่ภาพระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.งบฯ ในช่วงเช้า แต่เป็นภาพที่เกิดระหว่างการอภิปรายซักถามของ สนช.ช่วงบ่าย
    “ผมต้องขอโทษประชาชนแทน สนช.ด้วย ที่มีภาพลักษณะดังกล่าวเผยแพร่ออกไป และทำให้คนเข้าใจว่า สนช.ปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มที่ แต่ผมยืนยันว่า สนช. ทั้ง 2 ท่านทำงานตามหน้าที่มาเป็นอย่างดี ติดตามและลงพื้นที่พบประชาชนอย่างต่อเนื่อง"  
ป่วยทั้ง 2 คน
    เขากล่าวว่า สนช.ทั้ง 2 อยู่ระหว่างการรักษาอาการป่วย ทั้งคุณชาลี ที่เข้ารับการรักษาโรคหัวใจผ่านการบายพาส และคุณธำรง มีอาการป่วยเช่นกัน แต่ตนเข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่เกิดขึ้น และมองว่าการประชุมครั้งสำคัญ สนช.ควรทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ตนจึงขอโทษประชาชนด้วย
    เมื่อถามว่า พฤติกรรมของ 2 สนช.นั้น ถือว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรมจนถึงขั้นห้ามดำรงตำแหน่งใดหรือไม่ ประธานกรมการจริยธรรม สนช.ตอบว่า จากการกระทำของ สนช.ที่หลับในห้องประชุม ยังไม่เข้าข่ายความประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อ ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาต่อการดำรงตำแหน่ง
     ถามต่อว่า จากนี้ สนช.ต้องออกมาตรการหรือระเบียบเพื่อกำกับการทำหน้าที่เพิ่มเติมหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ช่วงเช้าวันที่ 8 มิ.ย.ได้พูดคุยกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ต่อกรณีที่เกิดขึ้น และมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะขอความร่วมมือสมาชิก สนช. แต่ไม่ถึงขั้นออกระเบียบหรือมาตรการใดเพื่อกำกับการปฏิบัติหน้าที่
    ขณะที่ นพ.ธำรง ทัศนาญชลี สนช. 1 ใน 2 ของสนช.ที่มีภาพงีบหลับ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นดังกล่าว ระบุว่า “ไม่สะดวก อยู่ระหว่างการประชุม”
     ด้าน พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง สนช. ที่งีบหลับเช่นเดียวกัน ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ แต่จะไม่ขอชี้แจงใดๆ เพราะเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนหยิบไปนำเสนอ ส่วนตัวไม่รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เป็นภาพข่าว และไม่อยากแก้ตัว  
    "ผมยืนยันว่าจะปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ของ สนช. อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผมก็มาทำงานทุกวัน และเดือนที่ผ่านมาผมก็ไปทำบอลลูนหัวใจมา" พล.อ.อ.ชาลีกล่าว
    แหล่งข่าวจาก สนช.กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวภาพ 2 สนช.หลับในที่ประชุม สนช. ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 แล้วพล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า 2 คนนี้จะไม่ได้เป็นอะไรอีกแล้วนั้น สมาชิก สนช.ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กันพอสมควร ซึ่งเข้าใจว่าที่นายกฯ บอกจะไม่ให้เป็นอะไรแล้วนั้น น่าจะหมายถึงการแต่งตั้งตำแหน่ง ส.ว.ในอนาคต ซึ่งทั้ง 2 คนอาจจะไม่ได้รับเลือก 
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในอดีตสภาผู้แทนราษฎรประชุมพิจารณาข้ามวันข้ามคืน หลายคนอ่อนเพลียแค่นั่งหลับตา ถูกตำหนิว่าขี้เกียจทำงานไม่คุ้มเงินเดือน แต่ สนช.ยุคนี้พิจารณาวันเดียวยังไม่ถึงเที่ยงคืนนั่งหลับแบบนี้โดนเขาด่าทำเป็นมาโวยวาย
คืนเงินเดือน
    "การหลับในที่ประชุมหรือในสภาของผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่การหลับในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังพูดนั้น ต้องไปตรวจสอบ แอร์เย็นไป คนพูดพูดน่าเบื่อไปหรือไม่ ขนาดพวกเดียวกันยังหลับ ท่านต้องพิจารณาว่ารายการต่างๆ ที่ท่านพูดเรตติ้งเป็นอย่างไร หรือคนฟังรู้อยู่แล้วว่าที่สุดงบประมาณต้องผ่าน ไม่ต้องทำอะไร ถึงเวลาวิป สนช.มาบอกให้ยกมือก็ยกมือให้ ไม่ต้องคิดอะไรหรือไม่ สะท้อนว่าการทำงานหลายอย่าง รับได้หลายทางของผู้สูงอายุนั้นมันมีข้อจำกัด"
    นายอนุสรณ์กล่าวว่า ในอดีต ส.ส.ถ้าไปเป็นรัฐมนตรีต้องรับเงินทางเดียว แต่ยุค คสช.แม่น้ำ 5 สายรับกันหลายทาง ทั้งที่เวลาเท่ากัน แบ่งภาคไปทำงานยังไง เพราะถ้าทำงาน สนช.มากมันก็กระทบกับงานอื่นที่ต้องมีเวลาน้อยลง หรือเพราะรับหลายทาง เลยหลับหลายคนหรือไม่ แต่ละคนอายุก็ปูนนี้ เสียสละบ้างเถอะ 
    เขาบอกว่า รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น คืนเงินจำนวน 1.7 ล้านเยน ซึ่งเป็นเงินเดือนที่เขาได้รับในฐานะรัฐมนตรีคลังกลับคืนสู่คลังของประเทศ ดร.มหาเธร์ นายกฯ มาเลเซีย ประกาศตัดเงินเดือนรัฐมนตรีลง 10% หวังช่วยลดหนี้ของประเทศ แต่พวกท่านรับหลายตำแหน่ง เสื้อไม่พอติดเครื่องหมาย รับเงินเดือนหลายทาง รับเบี้ยประชุมหลายคณะ เบ็ดเสร็จเดือนหนึ่งรับคนละ 2-3 แสนบาทหรือไม่     
    "ทำไมไม่คิดเสียสละบ้าง เอาเงินเดือนไปสนับสนุนโรงพยาบาล จัดหาวัคซีนฉีดให้ประชาชน เอาไปช่วยกระทรวงศึกษาธิการ เด็กนักเรียนจะได้ไม่ต้องกินขนมจีนกับน้ำปลา ได้กินนมโรงเรียนที่มีคุณภาพ การที่พวกท่านรับเงินเดือนหลายทาง แต่ทำงานไม่เต็มที่ เป็นธรรมกับสังคมหรือไม่ แทนที่จะโทษคนหลับ ดันไปโทษคนถ่าย ตรรกะน่าจะผิดเพี้ยนเหมือนเร่งดำเนินคดีกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ไม่มีใครหลุดรอด แต่ปล่อยพวกนกหวีดชัตดาวน์ก่อจลาจลขัดขวางการเลือกตั้งให้ลอยนวลอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เลิกโทษสื่อ เลิกโทษคนอื่น แล้วหันมาปฏิรูปตัวเองอย่างจริงจังได้แล้ว" นายอนุสรณ์กล่าว
    จากการตรวจสอบพระราชกฤษฎีกาเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ.2557  ระบุถึงการกำหนดเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557
รับหลายทาง
    โดยกำหนดเงินเดือนของ สนช. โดยแบ่งเป็นเงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท และเงินเพิ่มต่อเดือน 42,330 บาท รวม 113,560 บาท ขณะที่คณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้กำหนดให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ครั้งละ 1,500 บาท และหากกรรมาธิการหรืออนุกรรมาธิการนั้น มีการประชุมในคณะกรรมาธิการหรือคณะอนุกรรมาธิการคณะอื่นด้วยในวันเดียวกัน หลายครั้งให้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นไม่เกินสองคณะ รวมทั้ง สนช.ยังได้สิทธิฟรี อาทิ ค่าพาหนะในการเดินทางในประเทศ, ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการมาต่างประเทศ และมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
    ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ 2 สนช.ที่หลับระหว่างการพิจารณางบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 62 คือพล.อ.อ.ชาลี หมายเลขลำดับที่ 38 และ นพ.ธำรง   หมายเลขลำดับที่ 60 ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2557 จนกระทั่งบัดนี้ ได้รับเงินเดือนถึงสิ้นเดือน พ.ค.2561 ทั้งสิ้นรวม 46 เดือน (46X 113,560) เป็นเงิน 5,223,760 บาท 
    นอกจากนี้ จากการตรวจสอบการทำหน้าที่  กมธ.สามัญของ สนช. เบื้องต้นพบ พล.อ.อ.ชาลี ในฐานะประธาน กมธ.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน ประชุมทั้งสิ้น 175 ครั้ง (175X1,500 บาท) หากเข้าร่วมประชุมทุกครั้งจะได้รับเงิน 262,500 บาท เมื่อรวมกับเงินเดือน 5,223,760 บาท รวมเป็น 5,486,260 บาท
    ส่วน นพ.ธำรง ทัศนาญชลี สนช. ในฐานะรองประธาน กมธ.สาธารณสุข ประชุมจำนวน 155 ครั้ง (155x1,500 บาท) จะได้รับเงิน 232 ,500 บาท และ กมธ.การต่างประเทศประชุม 155 ครั้ง (155x1,500 บาท) หากประชุมครบจะได้รับเงิน 232,500 บาท    รวมทั้ง 2 ชุด รวมเป็นเงิน 465,000 บาท และเงินเดือน 5,223,760 บาท รวม 5,688,760 บาท
    นายแพทย์เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นประเด็นนายสมชาย แสวงการ สนช. ตำหนิสื่อถ่ายภาพ สนช.นอนหลับในห้องประชุมหลายคนไปเผยแพร่ว่า “สมชาย แสวงการ ว่าไงครับ? ลุงตู่ต้องขอบคุณผู้บันทึกภาพไหมครับ เพราะทำให้ลุงตู่รู้ว่าใครกำลังหลับ ในขณะที่ลุงกำลังแถลง เรื่องที่สำคัญที่สุดของบ้านเมือง ก็ลองไม่มีงบประมาณดูซิบ้านเมืองจะไปยังไง นี่ไม่ใช่ดูหมิ่นเหยียดหยามลุงตู่ยิ่งกว่าสื่อยิ่งกว่าโซเชียลมีเดียดอกหรือ
    ส่วนนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ  พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า หากเป็นการของบประมาณจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในวาระแรกนี้ จะต้องพูดกันยาว เพราะต้องมีการเตรียมข้อมูล และคนพูดต้องมีการเตรียมตัวมาอย่างดี แต่วันนี้ สนช.เป็นคนที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งมาทั้งสิ้น การทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณจึงต้องทำไปตามความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง ดังนั้น เมื่อไม่รู้ว่าจะตรวจสอบไปทำไมแล้ว นั่งหลับเสียจะสบายกว่า
ขู่รื้อโครงสร้างงบใหม่
      เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยเองก็เคยมีภาพปรากฏ และถูกโจมตีในประเด็นนี้ นายวรชัยกล่าวว่า ตนมองว่าการเผลอหลับในสภาเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บางคนอาจจะไม่สบาย อ่อนล้า บางคนอาจจะเหน็ดเหนื่อยจากการอภิปรายที่ยาวนาน จึงมีบ้าง แต่ความจริงแล้ว การทำหน้าที่ในสภาจะต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ ในฐานะตัวแทนของพี่น้องประชาชน แต่ สนช.นั้นไม่ใช่ตัวแทนของพี่น้องประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้เลือกมา แต่เป็นตัวแทนของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็นั่งฟังไปอย่างเดียว
    สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 นัดแรก เพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์  รมว.การคลัง เป็นประธาน กมธ. พร้อมทั้งมีรอง ประธาน กมธ.จำนวน 12 คน
    นายภูมิรักษ์ ชมแสง รอง ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นเลขานุการ ส่วนโฆษก กมธ. มีจำนวน 3 คน ได้แก่ พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ สนช., นางนิสดารก์ เวชยานนท์ และนางเสาวณี สุวรรณชีพ สนช. โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ
        ส่วนกรอบการพิจารณาจะประชุมวันจันทร์-วันศุกร์ เริ่มประชุมตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.-3 ส.ค.61 เป็นต้นไป โดยในวันจันทร์จะเริ่มประชุมเวลา 13.00-17.00 น. ส่วนในวันอังคาร-วันศุกร์ จะเริ่มประชุมเวลา 09.00-17.00 น. โดยในการประชุมวันที่ 11 มิ.ย.นี้  เริ่มเวลา 10.00 น. จะเป็นการรับฟังภาพรวมเศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศ รวมทั้งพิจารณางบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการคลังและหน่วยงานกำกับ เป็นกระทรวงแรก
    นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า งบประมาณทางความมั่นคงเพิ่มขึ้นเป็น 3.292แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.14% ในขณะที่งบประมาณเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกลับถูกลดลงเหลือ 4.065 แสนล้านบาท หรือลดลง 14.7% อีกทั้งงบพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และงบการจัดการน้ำและคุณภาพชีวิตก็ลดลง ซึ่งน่าจะเป็นการจัดงบประมาณที่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ แต่กลับไปคำนึงถึงประโยชน์ด้านอื่น แม้กระทั่ง สื่อต่างประเทศยังวิจารณ์ว่าการเพิ่มงบกลาโหมเป็นการทิ้งทวนก่อนการเลือกตั้ง 
    ทั้งนี้ จากข้อมูลย้อนหลังพบว่า ตั้งแต่มีการปฏิวัติในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน งบกระทรวงกลาโหม เพิ่มสูงขึ้นสามเท่า คือเพิ่มจาก 85,936 ล้านบาทในปี 2549 มาเป็น 222,437 ล้านบาทในปี 2561 และในปี 2562 นายกฯ บอกงบความมั่นคงเพิ่มเป็น 3.3 แสนล้านบาท ในขณะที่กระทรวงอื่นที่สำคัญๆ เพิ่มน้อยกว่ามาก ยิ่งช่วงที่มีการปฏิวัติ จะเห็นว่างบกระทรวงกลาโหมยิ่งเพิ่มขึ้น 
    นายพิชัยกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าในอนาคตการรื้อโครงสร้างงบประมาณเดิมทั้งหมด เพื่อจัดสรรงบประมาณใหม่ โดยเรียงลำดับความสำคัญโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ การพัฒนาความสามารถแข่งขันของประเทศ และการเสริมสร้างการกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน จะเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย เพื่อประโยชน์อย่างแท้จริงของประชาชน.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"