‘ไฟเซอร์’ปัดดีลเอกชน ‘หมอบุญ’โม้ได้รับสัญญาแล้ว/แอสตร้าฯขอเลื่อนส่งพ.ค.65


เพิ่มเพื่อน    

“อนุชา” แจงแทนบิ๊กตู่ ชี้วัคซีน 3 ชนิดของไทยยามนี้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก สธ.เตรียมชงแผนสลับวัคซีนให้ “นายกฯ” เคาะใช้สัปดาห์หน้า “สาธิต” รับกลางรายการ “แอสตร้าเซนเนก้า” ขอเลื่อนส่งวัคซีนจากสิ้นปีไปกลางปีหน้า “วิโรจน์” ข้องใจปล่อยได้อย่างไร “หมอบุญ” โผล่อ้างลงนามในสัญญาไฟเซอร์ 20 ล้านโดสแล้ว สิ้นเดือนนี้เข้ามาล็อตแรก 5 ล้านโดส ขายเข็มละ 1,300 บาท พร้อมจองโนวาแวกซ์อีก 10 ล้านโดส อ้างมีส่วนนำเข้าโมเดอร์นาที่สภากาชาดอีก 1 ล้านโดส สื่อนอกเผยบริษัทแม่ทั้งในสหรัฐ-เยอรมนีบอกไม่เคยดีล-เจรจา
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องวัคซีนโควิด-19 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าวัคซีนที่รัฐบาลเร่งจัดหาให้เป็นวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศทั้ง 3 ยี่ห้อในขณะนี้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคซึ่งเป็นวัคซีนหลัก และซิโนฟาร์มซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกนั้น ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลก (ฮู) และองค์การอาหารและยา (อย.) และได้รับการยืนยันทางการแพทย์และนักระบาดวิทยาว่ามีประสิทธิภาพสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดอาการรุนแรงของผู้ติดเชื้อ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้มีแผนการนำเข้าวัคซีนต่างเทคโนโลยี อาทิ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งเป็นเทคโนโลยี mRNA และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับแอสตร้าฯ เพื่อให้ความมั่นใจว่าทุกคนที่อยู่ประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและสามารถลดภาวะเจ็บป่วยรุนแรง
    “วัคซีนที่ไทยนำเข้ามาใช้ทั้ง 3 ยี่ห้อใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยแอสตร้าเซนเนก้ามีการใช้แล้วใน 118 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ซิโนแวคใช้ใน 37 ประเทศ และซิโนฟาร์มใช้ 56 ประเทศทั่วโลก”นายอนุชาระบุ
    ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ ได้ประชุมถึงแนวทางการให้วัคซีนสลับชนิดกันอีกครั้ง หลังรัฐบาลได้ขอให้พิจารณาประเด็นนี้รอบคอบ ซึ่งในที่ประชุมยังยืนยันมติเดิมเรื่องให้วัคซีนสลับชนิดสามารถดำเนินการได้ โดยจะนำเสนออีกครั้งในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่นายกฯ เป็นประธาน ในวันที่ 16 ก.ค. และจะเริ่มดำเนินการได้ต้นสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
    ขณะเดียวกัน นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในปี 2564 ว่าอยู่ที่ 100 ล้านโดส ส่วนปี 2565 เดิมเสนอไว้ 50 ล้านโดส แต่ต่อมาเพิ่มเป็น 100 ล้านโดส และขยายไปที่ 120 ล้านโดส โดยจะเป็นวัคซีนครบทุกเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น mRNA, Viral Vector และอื่นๆ ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ไทยจัดหาอยู่ และเป็นที่รับรู้ว่าจะต้องส่งมอบให้ครบ 61 ล้านโดสภายในสิ้นปีนั้น ยอมรับว่าจะคลาดเคลื่อน โดยจะส่งมอบวัคซีนครบในเดือน พ.ค.2565 เพราะในสัญญาไม่ได้ระบุเวลาชัดเจน มีเพียงจำนวนวัคซีนทั้งหมดที่จะส่งมอบ เป็นแผนที่พูดคุยกันโดยเน้นการเจรจา
“ต้องเรียนว่าสงครามวัคซีนในช่วงเวลานี้ต้องยอมรับว่าเป็นอำนาจของผู้ขาย ฉะนั้นการกำหนดในสัญญาต่างๆ เขาไม่ค่อยผูกมัดในเรื่องของเวลา หรือเหมือนสั่งซื้อแล้วฟ้องบังคับชำระหนี้อาจมีปัญหานิดหน่อย แต่เราก็จำเป็น อันนี้เป็นกรอบเวลา แต่ถ้าเขาผลิตได้มากก็อาจส่งได้ทัน”นายสาธิตกล่าว
นายสาธิตกล่าวต่อว่า แอสตร้าฯ ยืนยันว่าจะส่งมอบวัคซีนให้ไทย 40% ของกำลังการผลิต ซึ่งขณะนี้ที่แจ้งมามีกำลังการผลิตอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน แต่ในอนาคตอาจผลิตได้มากขึ้น ซึ่งก็ต้องไปเจรจากับแอสตร้าฯ เพราะความต้องการนั้นอยู่ที่ 10 ล้านโดส ส่วนมติของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่เสนอให้ควบคุมการส่งออกวัคซีนแอสตร้าฯ เรื่องนี้ได้ให้กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติไปเจรจากับทางแอสตร้าฯ อย่างถึงที่สุด 
“เราต้องเข้าใจว่าเราเน้นการเจรจา เราเข้าใจว่าแต่ละฝ่ายมีข้อจำกัด แต่เราต้องเน้นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ว่าเป้าหมายที่เราอยากได้เป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร แล้วจะเป็นเมื่อใด แล้วจะ Swap (สลับ) อย่างไรกับประเทศไหนไหม” นายสาธิตระบุ
    ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงข่าวในรูปแบบออนไลน์ถึงเรื่องนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์, นายอนุทิน และนายสาธิต ยอมให้มีการเลื่อนการส่งมอบวัคซีนให้ครบ 61 ล้านโดสไปเป็นเดือน พ.ค.65 ได้อย่างไร ทำไมรัฐบาลไม่พยายามใช้อำนาจตามกฎหมายจำกัดการส่งมอบวัคซีนเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีน
    น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 แถลงผลการประชุม กมธ.งบประมาณว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.ค. กมธ.ได้สอบถามถึงเรื่องราคาวัคซีนโควิด แต่หน่วยงานผู้รับผิดชอบปฏิเสธให้ข้อมูล ขณะเดียวกัน กมธ.ได้สอบถามสภากาชาดไทยในฐานะ 1 ใน 5 หน่วยงานรัฐ ที่มีอำนาจเจรจาจัดซื้อวัคซีนว่า มีโอกาสหรือไม่ที่สภากาชาดไทยจะเป็นผู้เจรจาจัดซื้อวัคซีนทางเลือกโควิดเข้ามา ซึ่งนายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย ระบุว่า สภากาชาดไทยได้ดีลเจรจาการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นากับบริษัทผู้ผลิตเรียบร้อยแล้ว 1 ล้านโดส เพื่อนำเข้ามาฉีดให้ประชาชนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ขั้นตอนการเจรจาเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ขั้นตอนการนำเข้า จะอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้รับผิดชอบ จึงขึ้นอยู่กับ อภ.จะนำเข้ามาได้เมื่อใด
หมอบุญโม้สัญญาไฟเซอร์  
วันเดียวกัน นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ทางวิทยุในรายการสนามข่าว 101 ถึงกรณีจะลงนามสัญญากับไบโอเอ็นเทคนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์จากเยอรมนี 20 ล้านว่า ได้ติดต่อมานานแล้ว ซึ่งจะลงนามวันนี้ โดยวันพุธของสหรัฐคือวันพฤหัสบดีของไทย แต่ไม่ใช่เป็นการเซ็น หมายถึงเป็นการส่งสัญญามา คาดว่าจะถูกส่งช่วงเย็นของเวลาในไทย ส่วนหน่วยงานกลางที่ไปตัวกลางอยู่ในข่ายแค่ 5 หน่วยงานนั้น ตอนนี้ยังไม่ขอเปิดเผย แต่ว่าได้เจรจากันแล้ว   
    “ที่ปิดไว้ก่อนก็มีเรื่องของการเมืองนิดๆ แต่ผมก็บอกทุกคนว่าตอนนี้ให้ลืมเรื่องการเมือง ลืมเรื่องศักดิ์ศรี เพราะว่าเราเป็นแพทย์ เรารู้ว่าวันหนึ่งจะเสียชีวิตกี่คน”นายแพทย์บุญกล่าว และว่า ถ้าลงนามแล้ว วัคซีนจะเข้ามาภายในอาทิตย์หนึ่ง แต่แบ่งเป็นล็อต โดยสิ้นเดือนนี้จะมา 5 ล้านโดส  
    เมื่อถามถึงความคืบหน้าของวัคซีนโนวาแวกซ์ นพ.บุญกล่าวว่า โนวาแวกซ์ยังไม่จดทะเบียนในสหรัฐ ซึ่งองค์กรของเขาทุกคนยอมรับหมด เป็นวัคซีนที่ดี เป็นวัคซีนที่ดีที่สุด ต่างประเทศจองกันเยอะมาก เราก็จองไป ซึ่งถ้าเราได้เป็นคนแรกๆ จะได้ ม.ค.  
     ส่วนกรณี น.ส.พรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ที่มีส่วนช่วยนั้น นพ.บุญกล่าวว่า คุณพรพิมลอยู่วอชิงตัน ดี.ซี.มาหลายปี เขาก็ช่วยเรามาตลอด ทั้งนี้ ตนเองมีล็อบบี้ยิสต์ในสหรัฐ 3-4 คนด้วยกัน ขอทุกคนให้ช่วยติดต่อ รู้จักเพราะว่าอยู่ในสหรัฐมานาน ช่วยบางเรื่อง อย่าง 1.5 ล้านโดสที่นำเข้ามาก็มีส่วนช่วยเยอะ บางทีคนพูดเยอะ คนอยู่เบื้องหลังต้องให้เกียรติเขาด้วย เนื่องจากการรู้จักผู้คนมากมาย จึงได้ให้คุณพรพิมลช่วยประสานงานบางอย่างเท่านั้นเอง
ทั้งนี้ หลังมีข่าวดังกล่าวออกไป ทำให้หุ้นของ บมจ.ธนบุรีฯ หรือ THG วันนี้ปิดตลาดบวก 1.75 จุด หรือ +5.88% มาอยู่ที่ราคา 31.50 บาท มูลค่าการซื้อขายทั้งหมด 765 ล้านบาท 
ต่อมาในช่วงเย็น ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ นพ.บุญให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ได้รับสัญญาวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค สหรัฐอเมริกา เมื่อเวลา 16.15 น. กำลังนั่งอ่านอยู่กับทีมกฎหมาย และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 ทุ่ม จากนั้นจะเซ็นและส่งกลับไปให้สหรัฐ นอกจากนั้นยังได้จองวัคซีนโนวาแวกซ์ 10 ล้านโดส คาดว่าจะนำเข้ามาในเดือน ม.ค.ปีหน้า ส่วนถ้า รพ.เอกชนอื่นจะมาซื้อ เราก็จะขายให้ในราคาทุนกว่า 500 บาท บวกค่าขนส่ง ค่าบริการประมาณเข็มละ 1,300 บาท ส่วนประเด็นที่สภากาชาดไทยนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาเพื่อฉีดฟรีให้กับประชาชนนั้น ก็เป็นโควตาของ รพ.ธนบุรีที่จองกับ อภ.เช่นกัน 
รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งอีเมลสอบถามบริษัทเภสัชกรรมยักษ์ใหญ่ ทั้งไฟเซอร์จากสหรัฐ และไบออนเทค จากเยอรมนี ถึงกรณีดังกล่าวนั้น ระบุว่า "เราไม่ได้เจรจากับบริษัทดังกล่าว" ไบออนเทคตอบข้อซักถามของรอยเตอร์ทางอีเมล ทั้งยังปฏิเสธด้วยว่า บริษัทไม่เคยเจรจากับหน่วยงานหรือองค์กรใดของไทยด้วย 
    โฆษกของบริษัทไฟเซอร์จากสหรัฐก็ยืนยันเช่นกันว่า บริษัทเจรจากับกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคของไทยเท่านั้น "ทั้งไฟเซอร์อิงค์ และบริษัทในเครือทั่วโลก ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้ใดนำเข้า, ทำการตลาด, จัดจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค" โฆษกไฟเซอร์กล่าว
อปท.ยื่น 4 ข้อเรื่องวัคซีน
     ขณะเดียวกัน ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย แกนนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องข้อเสนอของ อปท.ต่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้อง 4 ประเด็น คือ 1.ให้ อปท.สามารถจัดซื้อชุดตรวจ Rapid Antigen test เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนและเครื่องตรวจแบบเรียลไทม์ Real-time PCR (RT-PCR) ได้แบบเร่งด่วน 2.ให้รัฐบาลอนุญาตนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น 3.ให้ อปท.และ รพ.เอกชนสามารถจัดหาวัคซีนทางเลือกได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องจัดจากหน่วยงานที่ ศบค.กำหนด และ 4.ขอให้ออกระเบียบรองรับในการฉีดวัคซีนโควิดแก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ 
    นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ระบุว่า ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อหวังว่าจะทำให้วิกฤตการณ์ครั้งนี้คลี่คลาย และรัฐบาลจะนำข้อเสนอไปพิจารณาอย่างเที่ยงธรรม ส่วนที่มีกระแสข่าวท้องถิ่นจะนำทีมไปบุกทำเนียบรัฐบาลทวงวัคซีนนั้น เป็นข่าวคลาดเคลื่อน และยืนยันได้ว่าหากมีการจัดซื้อวัคซีนได้ ท้องถิ่นก็จะไม่มีการไปเก็บเงินจากประชาชนที่มาฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนก็ซื้อมาจากภาษีประชาชน 
     "วันนี้ทางเลือกที่มีให้ประชาชนมีน้อยมาก ซึ่ง อบจ. เทศบาล อบต. เราคุยกันแล้วเห็นว่าหากเปิดทางเลือกให้ประชาชนมากที่สุด โดยไม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ว่าต้องซื้อกับใคร เราอยากให้ขั้นตอนในส่วนของ อภ.และ อย.เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้เร็วภายใน 5-7 วัน รัฐบาลควรเปิดกว้างและทำให้เกิดความคล่องตัวในภาวะวิกฤติแบบนี้" นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
    ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร พร้อมด้วยนาย อภิชาต โพธิ์ถนอม รองนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับการยืนยันจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อย่างเป็นทางการว่า วัคซีนซิโนฟาร์มที่ อบจ.จังหวัดสมุทรสาครได้จองซื้อไว้ก่อนหน้านี้จะได้รับการจัดสรรมาทั้งสิ้นเพียง 66,000 โดส ต่ำกว่าเป้าที่จองไว้ที่ 2 แสนโดส ทาง อบจ.จึงได้เข้าปรึกษาหารือกับนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ถึงแนวทางเปิดให้ประชาชนชาวสมุทรสาครได้ลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม โดยจะเปิดให้กับประชาชนได้จองในวันที่ 16 ก.ค. เวลา 09.00 น. ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยผ่านทางระบบเว็บไซต์สาครรวมใจ และจะปิดการรับจองทันทีที่มีผู้จองวัคซีนครบ 33,000 คน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"