สอท.ชงรัฐบาล ทุ่มเงิน‘1ล้านล.’ อุ้ม‘ศก.’ยาวสิ้นปี


เพิ่มเพื่อน    

ประเดิมเยียวยาพักเงินต้น-ดอกเบี้ย "เอสเอ็มอี" แล้ว ส.อ.ท.ชงเองอัดฉีดอีก 1 ล้านล้านบาทเพื่อประคองธุรกิจถึงสิ้นปี หากไม่ทำเจ๊งระนาวเพราะโควิดอยู่ยาวแน่ ชี้มาตรการเยียวยาแค่ประคองระยะสั้น 
เมื่อวันอาทิตย์ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ทุกภาคส่วนออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ประคับประคองธุรกิจให้ก้าวข้ามความยากลำบากช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  (เอสเอ็มอี) ซึ่งขณะนี้ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ขานรับ โดยออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นความประสงค์ที่ธนาคารเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ถึง  15 ส.ค.นี้ และบางแห่งถึง 31 ส.ค.นี้ รวมทั้งยังมีโครงการให้สินเชื่อของธนาคารออมสิน ขณะที่กรมบังคับคดียังเร่งให้ความช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้า ร้านค้าและร้านอาหาร ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับเจ้าหนี้ซึ่งจะมีถึงวันที่ 31 ส.ค.นี้ 
     ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ไม่ใช่เพียงมาตรการเยียวยา แต่จำเป็นต้องอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งคาดว่าจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มอีกราว 1 ล้านล้านบาทเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้จนถึงสิ้นปี โดยต้องรักษากลุ่มแรงงานและกลุ่มอื่นๆ เหมือนกับการฉีดวัคซีนให้เศรษฐกิจ
“มาตรการเยียวยาล่าสุดที่ออกมานั้นเป็นมาตรการที่ดี  แต่ช่วยได้แค่ระยะสั้นๆ แค่พอให้อยู่ได้ แต่ยังไม่อยู่รอด  ส่วนจะกู้เพิ่มได้หรือไม่เพราะอาจชนเพดานหนี้ก็เป็นหน้าที่รัฐต้องไปพิจารณา เพราะประเทศต่างๆ ทั่วโลกเขาก็ใช้เหตุผลภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินกัน หากไปช่วยตอนธุรกิจเจ๊งไปแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร” นายเกรียงไกรกล่าวและว่า ส.อ.ท.ประเมินว่าไทยจะคุมโควิด-19 ไม่อยู่และอาจยาวไปถึงสิ้นปี โดยดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ รวมทั้งแผนการฉีดวัคซีนที่ยังไม่เป็นไปตามเป้า
วันเดียวกัน สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องมาตรการเยียวยาแก้ปัญหาโควิด-19 ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยสำรวจประชาชนใน  กทม.จำนวน 1,101 ราย 
โดยเมื่อถามถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการช่วยเหลือประชาชนจากรัฐบาล พบว่าส่วนใหญ่หรือ 97.2% รับรู้  ในขณะที่ 2.8% ไม่เคยทราบเลย เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อมาตรการรัฐบาลเยียวยาช่วยเหลือประชาชนด้านเศรษฐกิจ 93.7% ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ 92.8% เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง, การส่งออก, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, เราชนะ และเรารักกัน 90.7% มีความหวังให้การช่วยเหลือของรัฐบาลเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทั่วถึง 90.2% เห็นด้วยกับมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ เช่น  สินเชื่อโควิดสู้ภัย, พักชำระหนี้ และ ม.33 86.9% ต้องการให้รัฐบาลเปิดพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจภาคอื่นๆ 
เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อมาตรการรัฐบาลเยียวยาช่วยเหลือประชาชนด้านสังคม 98.5% ต้องการให้มีจุดตรวจโควิด-19 ฟรี เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว 98.1%  ต้องการให้มีมาตรการรัฐบาลที่ดีช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รักษาตัวที่บ้าน 95.2% ต้องการให้รัฐบาลให้ความชัดเจน ปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเรื่องวัคซีน  การป้องกันรักษา และทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากมาตรการเยียวยาโดยง่าย ไม่สับสน 94.4% ต้องการให้ประชาชนดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค 94.1%    ต้องการให้รัฐบาลช่วยภาคการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา การลดค่าเทอม  เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"