รัฐเร่งช่วยลูกหนี้ ขยายล็อกดาวน์ เสียหายแสนล้าน


เพิ่มเพื่อน    

รัฐบาลเร่งช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ เน้นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดของรัฐ ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ก.แรงงานเตรียมชง ครม.เยียวยานายจ้าง-ลูกจ้างจากพิษโควิด ส.อ.ท.ระบุขยายวันล็อกดาวน์ทำเศรษฐกิจเสียหายแสนล้านบาทหวั่นหากรัฐปิดเมืองแบบอู่ฮั่น ศก.ปีนี้ติดลบแน่
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 19 กรกฎาคม  นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าใจถึงผลกระทบจากการออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้เร่งประสานหน่วยงานทางการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางโดยเร็ว ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย,  สมาคมธนาคารนานาชาติ, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ได้ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย ทั้งที่เป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง ในสถานประกอบการที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการหรือตามคำสั่งของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนนี้ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 นี้เป็นต้นไป
    สถาบันการเงินที่เข้าร่วมครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ไทยต่างประเทศ สถาบันและการเงินเฉพาะกิจ (Non-bank) รวมทั้งชมรมผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต จำนำทะเบียนรถ ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภท รวมถึงหนี้บัตรเครดิตของลูกหนี้ SME และลูกหนี้รายย่อย ซึ่งลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 ก.ค.เป็นต้นไป
    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า มาตรการพักชำระหนี้คือการเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปเป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งเป็นเพียงมาตรการที่ช่วยเหลือระยะสั้น มุ่งช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ทั้งที่ถูกสั่งปิดกิจการ รวมถึงผู้ประกอบการที่ยังเปิดกิจการ แต่ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง ด้วยการหยุดภาระในการจ่ายหนี้เป็นการชั่วคราว ช่วยลูกหนี้ให้ประคับประคองธุรกิจไปสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมทั้งลดการเป็นหนี้เสียในอนาคต ทาง ธปท.ได้ย้ำว่าการที่สถาบันการเงินพักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 2 เดือนในงวด ก.ค.-ส.ค.2564 นั้น เป็นการให้ลูกหนี้ไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงินในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งสถาบันการเงินต้องห้ามไปเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักชำระไว้จากลูกหนี้หลังพ้น 2 เดือนนี้แล้วทันที แต่ให้ทยอยเรียกเก็บเงินจำนวนนี้ หรือเรียกเก็บในช่วงท้ายของสัญญา พร้อมยืนยันว่าการพักชำระหนี้ 2 เดือนนี้ จะไม่ถือว่าลูกหนี้มีสถานะผิดนัดชำระหนี้ และไม่เป็นหนี้ค้างชำระในเครดิตบูโรแต่อย่างใด 
     นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เตรียมนำรายละเอียดการเยียวยานายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 20 ก.ค. นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้หารือสภาพัฒน์ขยายการเยียวยาเพิ่มอีก 3 จังหวัด ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่เพิ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่สูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติม โดยการเยียวยาในส่วนที่ใช้เงินกู้โควิดเข้า ครม.ด้วย การเยียวยานายจ้าง 3,000 บาท/ลูกจ้าง 1 คน ไม่เกิน 200 คน และลูกจ้างตามมาตรา 33 รับเพิ่มเป็น 2,500 บาท/คน
    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่า การขยายวันล็อกดาวน์จนถึงวันที่ 2 ส.ค.64 และขยายไปอีก 3 จังหวัด จะทำให้เศรษฐกิจเสียหายเพิ่มไม่ต่ำกว่า  100,000 ล้านบาท จากเดิมที่ประเมิน 50,000-60,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงการล็อกดาวน์ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งการล็อกดาวน์ต้องทำควบคู่กับ 2 เรื่องคือ การตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้น และการมีวัคซีน ซึ่งรัฐต้องเร่งทำทั้งการใช้ชุดตรวจโควิด-19 หรือ Antigen test ตามครัวเรือนและการปูพรมฉีดวัคซีน
    "ส่วนที่รัฐบาลจะปิดเมืองลักษณะเดียวกับเมืองอู่ฮั่น มองว่าหากปิดเมืองแล้วทำให้ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการผลิตหยุดทั้งหมด ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจติดลบ เพราะไม่มีเครื่องยนต์ใดที่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมองว่า หากรัฐจะปิดเมืองแล้วจะให้ดีขึ้น รัฐก็จำเป็นต้องมีวัคซีนเพียงพอหรือฉีดวัคซีนให้ได้ 50-70% หรือทำได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากปิดเมืองแต่ไม่มีวัคซีน ทุกอย่างก็ไม่ดีขึ้น" นายสุพันธุ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"