พยากรณ์ 10 วันแห่ง มหาวิกฤตการณ์โควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

ผมคุยกับผู้รู้หลายท่านที่กำลังใช้หลักวิชาการในการมองภาพในข้างหน้า 10-14 วันที่ต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งวิกฤติของจริง
    ขณะที่เรารอวัคซีนที่มีจำนวนและประสิทธิภาพเพียงพอนั้น ตัวเลขคนติดเชื้อและเสียชีวิตก็ไต่ขึ้นตลอดเวลา
    โรงพยาบาลส่วนใหญ่เผชิญกับภาวะที่ไม่อาจจะรับคนป่วยโควิดเพิ่มได้อีก
    มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นขึ้นขณะนี้จะสามารถกดตัวเลขคนติดเชื้อและเสียชีวิตประจำวันได้มากน้อยเพียงใด คือคำถามใหญ่ที่ผู้กำหนดยุทธศาสตร์วันนี้ต้องประเมินและปรับแผนให้สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์ให้ได้
    หนึ่งในนักวิชาการที่ผมสนทนาด้วยคือ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต, ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ท่านวาดให้เห็นสองภาพ: ถ้ามาตรการล็อกดาวน์ขณะนี้มีผล ภาพจะออกมาอย่างไร
    แต่หากไม่ได้ผล ภาพที่มองเห็นจากวันนี้จะเป็นเช่นไร
    ท่านเขียนไว้ในเฟซบุ๊กว่าได้ใช้โมเดลง่ายๆ ที่ค้นคิดเอง โดยอาศัยอัตราการแพร่เชื้อ ค่า R [ข้อมูลจาก Our World in Data] และ "ผู้ติดเชื้อรายวัน" ที่ทางรัฐรายงานเป็นทางการ


    รายละเอียดได้แสดงเป็นผังในภาพที่ 1 พร้อมคำอธิบายใต้ภาพ ซึ่งได้ผลพอสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้
    1.รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน เป็นบัญชีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจากรัฐ (Confirmed Cases) 
    แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้สื่อถึงจำนวนผู้ติดเชื้อจริงทั้งหมด เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ (ประมาณ 80%) จะไม่แสดงอาการ รวมถึงผู้มีอาการแต่ถูกปฏิเสธในการตรวจวัด และที่สมัครใจดูแลตัวเอง ในที่นี้ขอเรียกกลุ่มนอกบัญชีทั้งหมดนี้ว่า “กลุ่มผู้ติดเชื้อเงียบ”
    2.สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อตามรายงานของรัฐ ก่อนจะมารักษาจะมีโอกาสแพร่เชื้ออยู่เพียง 4-5 วัน ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อเงียบที่ปะปนในสังคมมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ได้เต็มที่ 
    3.ผลการคำนวณติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อจริงพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเงียบ (ผู้ไม่แสดงอาการและผู้มีอาการซึ่งไม่ได้ลงในบัญชี) จะมีอยู่ราว 83-87% ของผู้ติดเชื้อจริงทั้งหมด
    4.ณ วันที่ 24 กรกฎาคม มีผู้ติดเชื้อรายวันตามประกาศคือ 14,260 ราย แต่จำนวนผู้ติดเชื้อจริงทั้งหมดมากถึง 107,038 ราย (ตามที่เคยรายงานว่าผู้ติดเชื้อรายวันจะถึงแสนราย)
    5.ด้วยฉากทัศน์ที่สมมติว่าถ้ามาตรการล็อกดาวน์ปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อยต่อสายพันธุ์เดลตาแล้ว เราคงจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อในบัญชีขึ้นถึง 20,000 คนภายในวันที่ 10 สิงหาคม และขึ้นถึง 30,000 คนภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 
    6.ในอีกฉากทัศน์ที่สมมติว่าถ้ามาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้ได้ผลดี สามารถกดอัตราการแพร่เชื้อ R จาก 1.30 ในปัจจุบัน ลดลงไปที่ 1.20, 1.10 และ 1.05 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะไปถึงจุดสูงสุดที่ประมาณ 18,000 รายในอาทิตย์แรกของสิงหาคม แล้วจะค่อยๆ ลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับหมื่นต่อไปจนถึงสิ้นเดือน 
    อาจารย์สรุปว่า แม้ตัวเลขพยากรณ์จะเป็นข่าวไม่สู้ดี แต่อย่างน้อยก็จะได้เป็นข้อมูลที่ช่วยให้คนไทยได้เตรียมพร้อมร่วมใจกันฝ่าวิกฤติต่อไปในสิบวันข้างหน้านี้
    “อีกทั้งผู้ดูแลระบบสาธารณสุขจะได้เตรียมรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่จะมีมากกว่าปัจจุบันอย่างน้อยอีก 2-3 เท่า” ดร.วรศักดิ์บอก
    และเสริมว่า “ส่วนการแก้วิกฤติในระยะยาวนั้น ผมยังเชื่อเหมือนเดิมว่าประเทศไทยจะต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
    ท่านบอกว่าจากการเฝ้าสังเกตแม้ในฐานะที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ระบบการจัดการการฉีดวัคซีนและความพร้อมของคนไทยค่อนข้างจะใช้ได้แล้ว 
    “คอขวดปัจจุบันอยู่ที่การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ โดยเฉพาะวัคซีนเพื่อต่อกรกับสายพันธุ์เดลตา ใครที่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนจึงควรรับผิดชอบอย่างเต็มที่”
    และที่สำคัญอย่างยิ่งคือข้อเสนอของอาจารย์วรศักดิ์ว่า
    เรากำลังอยู่ในสภาวะสงคราม ดังนั้นกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดหาวัคซีน ควร "ยกเลิกเฉพาะกาล” ไปก่อน พร้อมอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนได้สามารถเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"