จัดสินเชื่อ-พักหนี้ เยียวยาเกษตรกร ชงช่วยร้านในห้าง


เพิ่มเพื่อน    

"รัฐบาล" จัดชุดสินเชื่อ-พักหนี้-ไกล่เกลี่ยหนี้ ช่วยเกษตรกรก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ขณะมาตรการลดค่าเทอมเข้า ครม.อังคารนี้ สธ.พิจารณามาตรการจำหน่ายอาหารออนไลน์ สำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าแล้ว เตรียมเสนอที่ประชุม ศบค.พิจารณา
    เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการรัฐในการบรรเทาปัญหาหนี้สินประชาชนและการเข้าถึงสภาพคล่องของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กำชับให้การดำเนินการต้องครอบคลุมกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคการเกษตรด้วย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้ออกมาตรการสินเชื่อ 2 โครงการ วงเงินรวม 9 หมื่นล้านบาท คือ 1.โครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้แก่เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการประกอบอาชีพเกษตร หรือลงทุนค้าขายที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก ให้กู้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 5 ปี ดอกเบี้ย 4% ต่อปีปลอดชำระต้นเงิน 2 ปีแรก และ 2.โครงการสินเชื่อนวัตกรรมดี มีเงินทุน วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ให้เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปที่มีทักษะและประสบการณ์ในการประกอบอาชีพนั้นๆ อาทิ กลุ่ม Smart Farmer เพื่อมีเงินไปฟื้นฟูหรือต่อยอดธุรกิจ ดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระต้นเงิน 3 ปีแรก
    รองโฆษกฯ กล่าวว่า สำหรับการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส.ได้ออกมาตรการให้การช่วยเหลือแก่ลูกค้าเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วย เป็นการพักชําระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ถึงกําหนดชําระอย่างน้อย 2 เดือน นับจากงวดชําระเดิม ทั้งนี้ แนวทางการช่วยเหลือขึ้นอยู่กับการได้รับผลกระทบและศักยภาพของลูกค้า ผู้สนใจแจ้งความประสงค์การเข้าร่วมโครงการได้ผ่านช่องทาง LINE Official : BAAC Family เว็บไซต์ https://www.baac.or.th ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.-15 ส.ค.นี้ และสำหรับลูกค้าเกษตรกรและบุคคล 19 ก.ค.-15 ธ.ค.ปีนี้เช่นกัน คู่ขนานไปกับสองมาตรการดังกล่าว 
    นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มว่า กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ได้จัดโครงการ “บังคับคดีร่วมใจไกล่เกลี่ยช่วยเหลือเกษตกรถูกยึดทรัพย์จำนอง” เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เจรจากันด้วยความพึงพอใจและเป็นธรรม ผู้ไกล่เกลี่ยกรมบังคับคดีเป็นคนกลางในการเจรจา โดยเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ และลูกหนี้ก็สามารถชำระหนี้ได้เช่นกัน ช่วยให้ลูกหนี้ไม่ถูกยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ หรือนำไปขายทอดตลาดในที่สุด โครงการนี้มีจนถึง 15 ก.ย.นี้ ในพื้นที่กทม. และสำนักงานบังคับคดีจังหวัด/สาขาทั่วประเทศ
    “รัฐบาลได้ออกมาตรการให้การช่วยเหลือประชาชนและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มุ่งหวังให้ครอบคลุมกับประชาชนทุกกลุ่ม โดยพร้อมรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนและภาคเอกชน เพื่อให้การขับเคลื่อนฟื้นตัวเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและตรงจุดให้มากที่สุด สำหรับการประชุม ครม.ในวันที่ 27 ก.ค. จะมีการพิจารณาถึงมาตรการลดค่าเทอมของนักเรียน-นักศึกษาทั้งสถาบันรัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้มาก” นางสาวรัชดา กล่าว
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชุม ครม.ในวันที่ 20 ก.ค. และที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) วันที่ 22 ก.ค.2564 มีแนวนโยบายให้ฝ่ายแพทย์พิจารณาผ่อนคลายมาตรการสำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าให้สามารถเปิดขายออนไลน์ได้นั้น ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้พิจารณามาตรการจำหน่ายอาหารออนไลน์สำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะได้นำเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาอนุญาตต่อไป 
    ทั้งนี้ การให้มีแนวทางที่จะผ่อนคลายให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดขายออนไลน์ได้นี้ เนื่องมาจากรัฐบาลได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของทั้งผู้ประกอบการและประชาชนจากการเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ที่เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2564 เป็นต้นมา ซึ่งการผ่อนคลายครั้งนี้ยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด และต้องการความร่วมมือจากทั้งผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการรับส่งสินค้า และประชาชน 
    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นที่จะผ่อนคลายให้กับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า มีดังนี้ 1) ผู้ประกอบการจัดทำมาตรการ DMHT สำหรับพนักงานทุกคน (สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่รวมกลุ่ม และไม่รับประทานอาหารร่วมกัน) เดินทางมาทำงานแบบอยู่ในเส้นทางหรือพื้นที่ที่กำหนด (sealed route) ห้ามเปิดหน้าร้าน กรณีมีอาการทางเดินหายใจ เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทำงาน 2.ห้างสรรพสินค้า จัดจุดรอรับอาหาร โดยเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ไม่รวมกลุ่มกัน จุดรอเป็นสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่พลุกพล่าน และมีระบบ DMHTA  คือการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก จัดเจลล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ  ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ 3.พนักงานรับส่งอาหารแบบออนไลน์ เน้นย้ำมาตรการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างผู้อื่น พกเจลแอลกอฮอล์, กรณีมีอาการทางเดินหายใจ เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทำงาน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"