‘การทูตวัคซีน’ ของไทย ยังต้องรอพิสูจน์ผลงาน


เพิ่มเพื่อน    

ข่าวเมื่อวานนี้บอกว่า สหรัฐฯ จะมอบวัคซีนให้ไทย 2.5 ล้านโดส โดยล็อตแรก 1.54 ล้านโดสจะมาถึงประเทศไทยวันนี้

            ที่เหลืออีกประมาณ  1 ล้านโดสจะตามมา ยังไม่มีกำหนดที่แน่นอน

            ข่าวนี้ไม่ได้มาจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ หรือของไทย แต่เป็นข้อมูลจากคุณแทมมี ดักเวิร์ธ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ เชื้อสายไทยระหว่างการสัมมนาออนไลน์ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน

            วันเดียวกัน ท่านเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยท่านใหม่ คุณมาร์ก กูดดิง แจ้งว่ารัฐบาลอังกฤษจะบริจาควัคซีน  AstraZeneca ให้ประเทศไทยเป็นจำนวน 415,000 โดส จะส่งมอบเดือนหน้า

            ข่าวนี้ก็ไม่ได้แว่วมาจากกระทรวงการต่างประเทศของเรามาก่อนเช่นกัน

            เกือบจะวันเดียวกัน สถานทูตสวิสประจำกรุงเทพฯ แจ้งว่าจะบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ 26 ตัน มูลค่า $9.8 ล้าน หรือประมาณ 300 ล้านบาทมาช่วยประเทศไทยสู้โควิด

            เป็นจังหวะเดียวกับการมาเยือนไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ คุณ Ignazio Cassis ในช่วงสัปดาห์หน้านี้

            จะเห็นว่าต่อไปนี้คำว่า “การทูตวัคซีน” จะมีความสำคัญมากขึ้นทุกที

            ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป

            มีคำอธิบายจากกระทรวงการต่างประเทศของเราเมื่อเร็วๆ นี้แจกแจงว่าได้ทำอะไรไปในเรื่องนี้บ้าง

            ถึงขั้นที่บอกว่ามีแผนจะทำ vaccine swap หรือการ “หยิบยืมแลกเปลี่ยน” วัคซีนกับประเทศอื่นด้วยซ้ำไป

            นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินว่ารัฐบาลไทยมีแผนคล้ายกับที่อิสราเอลกับเกาหลีใต้มีการตกลง “หยิบยืมแลกเปลี่ยน” วัคซีนเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาของกันและกัน

            แต่ก็มีคำถามว่า เราจะเอาวัคซีนที่ไหนไปให้คนอื่นหยิบยืม หรือจะไปขอยืมของคนอื่นก่อนโดยรับปากจะส่งวัคซีนคืนให้ภายหลังในขณะที่เรายังขาดแคลนเป็นจำนวนมาก

            แต่กระนั้นก็เถอะ คำอธิบายของกระทรวงการต่างประเทศก็ยังน่าสนใจในรายละเอียดหลายประเด็นที่คนไทยหลายคนอาจจะไม่ได้รับทราบมาก่อน เช่นที่คุณธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงให้ได้รับทราบ

            ท่านย้ำว่าการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนไทยเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

            และสรุปผลการดำเนินการสนับสนุนทางการทูตเพื่อจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

            ๑.กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ช่องทางการทูตอย่างต่อเนื่อง ในการแสวงหาวัคซีนเพิ่มเติมจากต่างประเทศผ่านวิธีการต่างๆ ทั้งการจัดซื้อ การแลกเปลี่ยน (vaccine swap)  และการรับความช่วยเหลือ โดยได้ติดต่อประสานงานเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากประเทศต่างๆ ทั้งจากจีน (Sinovac, Sinopharm,  CanSino) สหรัฐอเมริกา (Pfizer, Moderna,  Johnson & Johnson, Novavax) รัสเซีย (Sputnik  V) และอินเดีย (Covishield, Covaxin)

            ๒.สำหรับจีน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือฝ่ายจีนเพื่อผลักดันการจัดหาวัคซีนให้ไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ระหว่างการเยือนไทยของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน โดยฝ่ายจีนประกาศมอบวัคซีน  Sinovac จำนวน ๑ ล้านโดสให้ไทยเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๔  และได้ส่งมอบให้ไทยครบถ้วนแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งละ ๕๐๐,๐๐๐ โดส เมื่อ  ๑๔ พฤษภาคม และ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มเติมด้วย

            ๓.ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันการทำ vaccine swap เพื่อเตรียมการให้แลกเปลี่ยนหยิบยืมวัคซีนกันใช้ก่อนกับหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้,  แคนาดา และสหรัฐฯ เชื่อว่าอาจจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ตามสถานการณ์ตั้งแต่กันยายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

            ๔.ด้านญี่ปุ่นได้มอบวัคซีน AstraZeneca จำนวน  ๑,๐๕๓,๐๙๐ โดสให้ไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานมาโดยตลอด สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ  ญี่ปุ่นได้จัดส่งวัคซีนมาถึงไทยแล้วตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็ได้ร่วมพิธีรับมอบวัคซีนเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม

            ๕.ในส่วนสหรัฐฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือเรื่องวัคซีนมาโดยตลอด เช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กับผู้ช่วยประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเมื่อวันที่ ๒  มิถุนายน ๒๕๖๔ กับนางเวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในการเยือนไทย ซึ่งต่อมารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศมอบความช่วยเหลือวัคซีนรวม ๘๐ ล้านโดสให้มิตรประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างประสานงานในรายละเอียดกับหน่วยงานของสหรัฐฯ และกระทรวงสาธารณสุขก็กำลังเตรียมความพร้อมด้านการขนส่งและรับมอบวัคซีน  รวมทั้งแผนบริหารจัดการและจัดสรรวัคซีนดังกล่าว

            ๖.กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับรัสเซียเพื่อขอจัดหาวัคซีน สปุตนิก วี (Sputnik V) โดยนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนวัคซีนจากประธานาธิบดีรัสเซีย และเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกได้ติดตามเรื่องนี้ ปัจจุบันบริษัทผู้แทนนำเข้าวัคซีนสปุตนิก วี ในไทยอยู่ระหว่างยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงการต่างประเทศ และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ อยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับหน่วยงาน Russian  Direct Investment Fund (RDIF) ให้มีการประชุมหารือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยและรัสเซีย เพื่อหารือรายละเอียดเพิ่มเติม

            ๗.แม้ว่าไทยจะไม่ได้เข้าเป็นโครงการแบ่งปันวัคซีน COVAX  ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ได้ร่วมบริจาคให้ WHO เป็นจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับกลไก  COVAX จึงทำให้ไทยสามารถแลกเปลี่ยน จำหน่าย หรือแจกจ่ายวัคซีนที่ไทยผลิตได้เองในอนาคตข้างหน้าให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ไทยประกาศไว้ว่า วัคซีนคือสินค้าสาธารณะของโลก (global public goods) ที่ประเทศต่างๆ  ควรเข้าถึงได้ทั่วกัน เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙  เป็นสิ่งท้าทายที่ประชาคมระหว่างประเทศมีร่วมกัน

            ๘.กระทรวงการต่างประเทศโดยกรมการกงสุลได้สนับสนุนการใช้และเพิ่มคุณค่าของสมุนไพรไทยในการต่อสู้กับโควิด-๑๙ โดยได้จัดส่งสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว จำนวนกว่า ๒๙๐,๐๐๐ เม็ด ให้แก่สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยครบทั้ง ๙๕ แห่งทั่วโลกแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม  ๒๕๖๔ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ชุมชนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทย

            หวังว่า “การทูตเปิดเผย” ที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้ (และยังไม่บรรลุผลสำเร็จในหลายกรณี) จะเสริมด้วย “การทูตเงียบๆ” (quiet  diplomacy) ที่จะทำให้เราได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพกว่าที่มีอยู่ในเร็ววันนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"