สธ.โดดป้องอาจารย์หมอ


เพิ่มเพื่อน    

"บิ๊กตู่" ลั่นตรวจสอบวัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ หากหายไม่ยอมแน่ ปลัด สธ.นำทีมแถลงป้องคณาจารย์แพทย์ที่ปรึกษา ยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกำหนดนโยบายหรือจัดซื้อเวชภัณฑ์-วัคซีน สถานทูตอังกฤษเผยแอสตร้าฯ 4.1 แสนโดสถึงไทยคืนวันอังคารนี้ บ.แอสตร้าฯ  แจงส่งมอบวัคซีนให้ไทยแล้ว 11.3 ล้านโดส ยอมรับจัดส่งให้ได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน "วิโรจน์" ตามบี้สยามไบโอฯ ส่งมอบ ก.ค.ไม่ครบ 10 ล้านโดส กังขาเอกสารสัญญาไม่ระบุส่งมอบไทยก่อน
    เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงว่า  ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทย วันที่ 2 ส.ค. มีจำนวน  332,299 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสมจำนวน 18,198,825 โดส 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล มีรายงานข่าวแจ้งว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ปรารภถึงเรื่องการกระจายวัคซีน  โดยขอให้มีการกระจายวัคซีนไปให้ 25 จุดฉีดวัคซีนใน กทม.ประมาณจุดละ 1 พันโดสต่อวัน เพื่อให้มีความเหมาะสมและครอบคลุม ขณะเดียวกันยังพูดถึงเรื่องปริมาณวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับมอบจากสหรัฐอเมริกา ที่โซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกตว่ายอดน้อยกว่าข้อมูลที่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้ 
    โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ตัวเลขที่มีการเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้คือ ตัวเลขกลมๆ แต่เมื่อได้รับมาก็เป็นตัวเลขที่ตรงกับที่สถานทูตสหรัฐฯ ยืนยัน “ผมก็ตรวจสอบกับสถานทูตสหรัฐฯ มาแล้ว ตัวเลขก็ตรงกัน ถ้ามันหาย ผมไม่เอาไว้แน่” นอกจากนี้นายกฯ ยังสั่งการให้สำรวจว่าบุคลากรด่านหน้ามีใครบ้าง ให้แยกออกมาเพื่อจะได้พิจารณาค่าตอบแทนให้เป็นพิเศษ เพราะต้องดูแลเยียวยาคนกลุ่มนี้ด้วย
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. พร้อมด้วยรองปลัด สธ. ประกอบด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์, นพ.ธงชัย  กีรติหัตถยากร, นพ.ณรงค์ สายวงศ์ และ 7 อธิบดีในสังกัดทุกกรม  ประกอบด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, พญ.พรรณพิมล วิปุลากร  อธิบดีกรมสุขภาพจิต, นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย, นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมออกแถลงการณ์กระทรวงสาธารณสุข กรณีการแสดงความคิดเห็นต่อคณาจารย์ด้านวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข
         โดย นพ.เกียรติภูมิแถลงว่า ตามที่ได้มีการแสดงความคิดเห็นของคนบางกลุ่มด้วยถ้อยคำที่รุนแรง จนมีผลกระทบต่อการทำงานและต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคณาจารย์ในคณะที่ปรึกษาของ สธ. เช่น ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น
     “กระทรวงสาธารณสุขขอเรียนทำความเข้าใจว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เรียนเชิญคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบันมาช่วยเป็นที่ปรึกษา เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงาน โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้รับความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญของสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19  และทุกท่านได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในฐานะนักวิชาการอย่างเป็นอิสระและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้ คณะอาจารย์ทุกท่านไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายหรือการจัดซื้อ จัดหาเวชภัณฑ์และวัคซีนแต่อย่างใด กระทรวงสาธารณสุขขอขอบพระคุณ ชื่นชมและให้กำลังใจคณาจารย์ทุกท่านในความเสียสละ ทำงานเพื่อประเทศชาติ และขอให้สังคมได้ร่วมเข้าใจและรับทราบบทบาทที่มีคุณค่ายิ่งของคณาจารย์ทุกท่านในครั้งนี้” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
แอสตร้าฯ จากอังกฤษถึงไทย
    วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เข้าชมการสาธิตกระบวนการทำงานของเครื่องดึงวัคซีนโควิด-19 อัตโนมัติ ที่พัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เฟิร์สลี่ เทค จำกัด ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.เพื่อลดเวลาการทำงานและลดภาระงานของบุคลากรที่ทำหน้าที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชน สำหรับการทำงานของเครื่องดึงวัคซีนดังกล่าวสามารถปรับความถี่ของเครื่องสำหรับการดึงวัคซีนได้หลายรูปแบบ 
    ขณะที่เพจ UK in Thailand ของสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความว่า "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 415,000 โดส ที่สหราชอาณาจักรฯ บริจาคให้ไทยได้ถูกส่งออกจากสหราชอาณาจักรแล้วจะมาถึงไทยคืนนี้"  
    นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย)  จำกัด เปิดเผยว่า ตลอดเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้ส่งมอบวัคซีนโควิด-19 จำนวน 5.3 ล้านโดสให้กระทรวงสาธารณสุข ตามแผนการจัดหาวัคซีน 61 ล้านโดสให้ประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  สำหรับจำนวนวัคซีนที่ส่งมอบให้ประเทศไทยตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา  (มิ.ย.-ก.ค.64) จำนวนทั้งสิ้น 11.3 ล้านโดส และได้เริ่มจัดสรรวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยให้ประเทศใกล้เคียงแล้วในเดือน ก.ค.เช่นกัน  ทั้่งนี้ยืนยันว่าพร้อมทำงานร่วมกับสยามไบโอไซเอนซ์ต่อไป เพื่อหาแนวทางเพิ่มเติมที่จะช่วยให้มีการส่งมอบวัคซีนได้เร็วขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ 
     พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.)  กล่าวว่า ขณะนี้ กห.และหน่วยงานในสังกัดยังไม่มีแผนหรือความตกลงร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนใดๆ ในการสั่งซื้อหรือนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์แต่อย่างใด และที่ผ่านมา กห.ก็ยังไม่เคยติดต่อโดยตรงกับ บ.ไฟเซอร์  (ประเทศไทย) จำกัด ต่อเรื่องดังกล่าว
     ทั้งนี้ ช่วงเช้า นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี  เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ให้สัมภาษณ์กับ “คมชัดลึกออนไลน์” ว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหม ที่เป็นหน่วยงานนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ แต่ยังไม่ขอระบุจำนวนว่ากี่ล้านโดส เพราะยังติดเงื่อนไขที่ไม่สามารถพูดอะไรได้มาก เนื่องจากเป็นคำสั่งจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่อาจเข้าข่ายปั่นหุ้น
ก้าวไกลตามจิกสยามไบโอฯ
    นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงถึงกรณีเอกสารสัญญาให้งบประมาณสนับสนุน 600 ล้านบาทระหว่างรัฐบาลไทย-สยามไบโอไซเอนซ์ว่า รัฐบาลไทยหรือกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ในเดือนกรกฎาคม  ทั้งสิ้น 5,810,600 โดส อย่างไรก็ตาม ยอดการส่งมอบวัคซีนในเดือนกรกฎาคมไม่ถึง 10 ล้านโดสแน่นอน สยามไบโอไซเอนซ์ไม่ได้เป็นอิสระ สัญญาระหว่างรัฐบาลไทยและแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย  และต้องย้อนกลับไปดูว่าเมื่อวันที่ 24 ส.ค.63 ประชาชนจึงต้องร่วมกันตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลไทยจึงไม่สามารถจำกัดสิทธิ์การส่งออกและขอใช้สิทธิ์ในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ จากแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทยได้ก่อน ตามเงื่อนไขที่ได้อุดหนุนเงิน 600  ล้านบาทที่เป็นเงินแผ่นดินเเละเป็นเงินภาษีประชาชน เท่าที่ได้อ่านในสัญญาเนื้อความไม่มีเงื่อนไขใดที่ระบุว่าจะต้องส่งมอบให้รัฐบาลไทยหรือกระทรวงสาธารณสุขก่อน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ข้อ 8.6 ตามสัญญารับทุน โดยให้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร  และสื่อมวลชนเข้าไปติดตามตรวจสอบการผลิต ในสถานที่ทำการการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งจะเป็นความโปร่งใส
    ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ พรรคไทยรักไทย พญ.ของขวัญ ฟูจิตนิรันดร์ เจ้าของคลินิกความงามของขวัญคลินิก พร้อมด้วยนักศึกษาแพทย์และประชาชน จำนวนหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกฯ และ รมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข เกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับมาจากสหรัฐ อเมริกา โดย พญ.ของขวัญกล่าวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าในการได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ขอนับรวมบุคลากรด่านหน้าผู้ที่เข้าเกณฑ์ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ทั้งในและนอกระบบ  เปิดเผยรายชื่อผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์อย่างโปร่งใสทุกคน เพื่อไม่ให้เกิดข้อกังขาในสังคม และนำเข้า mRNA Vaccine เข้ามาฉีดให้ประชาชนเร็วที่สุด 
    พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เตือนการแชร์ข้อมูลข่าวปลอม (Fake News) ในกรณีวัคซีน  Pfizer มีส่วนผสมของแม่เหล็ก ทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายในอีก  1-2 ปีนั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทยได้ตรวจสอบข้อมูลกับ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัดแล้ว ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวนั้น เป็นข่าวปลอม ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อหรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"