'จาตุรนต์'ถล่มแหลก!เจ็บแต่ไม่จบ ไทยต้องประสบกับวิกฤตทั้งสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงทุกที


เพิ่มเพื่อน    

12  ส.ค.64- นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ล็อกดาวน์ล้มเหลวซ้ำซาก 10 ปัญหา ที่ต้องเร่งแก้ไข ก่อนวิกฤตหนักจนต้องเปลี่ยนรัฐบาล ครบ 1 เดือน หลังจากที่ ศบค. สั่งล็อกดาวน์ 10 จังหวัดเป็นต้นมา เราได้เห็นนิวไฮซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต จังหวัดสีแดงเข้มเพิ่มจาก 10 จังหวัดเป็น 13 จังหวัดและต่อมาเป็น 29 จังหวัดล่าสุดทั้ง EU และสหรัฐฯ ประกาศให้ไทยเป็นประเทศไม่ปลอดภัยในการเดินทางไปแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้อสะสมจะเพิ่มเป็นสองเท่าอยู่ที่ 24 วัน เป็นอันดับต้นๆ ของโลก หมายความว่าในอีก 24 วันจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 6 แสนกว่าคน

ขณะที่เศรษฐกิจไทยทรุดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะทรุดหนักและทำให้ทั้งปีเศรษฐกิจจะถดถอยอีกปีหนึ่ง ประชาชนทั่วประเทศเดือดร้อน ตกงานไม่มีรายได้ ทำมาค้าขายไม่ได้และไม่ได้รับเงินเยียวยาอย่างเพียงพอ ประเทศไทยอยู่ในสภาพ “เจ็บแต่ไม่จบ” ตามที่หลายฝ่ายเตือนไว้จริงๆทุกภาคส่วนในสังคมไทยก็กำลังตั้งคำถามว่า เราจะต้องอยู่ในสภาพอย่างนี้กันไปอีกนานเท่าไหร่ สถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ เห็นกันชัดๆ ว่ายิ่งแก้ยิ่งแย่

ถ้าจะแก้ให้ดีขึ้นก็มีทางเดียวคือต้องเปลี่ยนวิธี ไม่ใช่ทำทุกอย่างเหมือนอย่างที่ทำมาแล้ว ตอนที่รัฐบาลเริ่มล็อกดาวน์เมื่อ 1 เดือนก่อน ผมเคยเสนอแนวทางการแก้ปัญหาไว้แล้ว ผ่านไป 1 เดือน ขอย้ำว่าหากจะทำให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดโควิดได้เร็ว รัฐบาลจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญดังต่อไปนี้

1. การจัดหาวัคซีนยังช้ามาก การจัดสรร วัคซีนไม่ตรงจุด บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขยังไม่ได้วัคซีนคุณภาพ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวไม่ได้ถูกจัดเป็นความเร่งด่วนอันดับแรก

2. เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศแล้ว ประเทศไทยมีการตรวจน้อยและช้ามาก รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนการตรวจให้มาก ทำให้ไม่ได้แยกผู้ติดเชื้ออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ

3. Home isolation ไม่ได้ผลอย่างที่พูด การติดเชื้อในบ้านกลายเป็นที่มาสำคัญและผู้ติดเชื้อจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลจนป่วยหนักหรือเสียชีวิต

4. community isolation ศูนย์พักคอยหรือศูนย์พักพิง ซึ่งควรเป็นทางออกในการชะลอผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาล นอกจากไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังแล้ว ยังถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบต่างๆ ทำให้เกิดขึ้นน้อยและช้ามาก

5. การบริหารจัดการในการรับผู้ป่วยเข้าระบบ ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้ป่วยหนักเพิ่มมากขึ้น เข้าไม่ถึงระบบ ได้รับการรักษาช้า ประกอบกับมีปัญหาการให้ยาช้าและมีจำกัด ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีสัดส่วนที่สูงมาก

6. การเพิ่มเตียง ห้องและอุปกรณ์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจนบรรจุถังและยา ยังล่าช้าเหมือนเดิม

7. ยังไม่มีนโยบายดูแลชาวต่างประเทศและแรงงานข้ามชาติ ทำให้ไม่อาจพ้นจากวังวนของการติดเชื้อแพร่เชื้อและคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล

8. ไม่มีการประสานร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งๆ ที่ ขณะนี้ประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกับไทยและมีความเชื่อมโยงทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างกัน กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดที่รุนแรงมาก

9. ไม่มีการดูแลช่วยเหลือภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การแพร่ระบาดกำลังส่งผลกระทบต่อการผลิตทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก

10. การใช้มาตรการที่เข้มงวดเกินจำเป็น โดยไม่คำนึงถึงความอยู่รอดทางเศรษฐกิจและการทำมาหากินของประชาชน ขณะที่การระบาดระลอกนี้รุนแรงกว่าระลอกแรกๆ มาก แต่การเยียวยากลับน้อยสวนทางกับสภาพของปัญหา

ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตทั้งทางสาธารณสุขและทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงทุกที เนื่องจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล เมื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่ายิ่งเวลาผ่านไป ปัญหาก็ยิ่งมากขึ้น การใช้วิธีการเดิมๆ ย่อมไม่อาจแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้ จะแก้ปัญหาได้ก็ต้องเปลี่ยนวิธี คือเปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนยุทธศาสตร์ทั้งหมด ถ้ารัฐบาลไม่ยอมเปลี่ยนนโยบาย ยังคงทำให้สถานการณ์เลวร้ายอย่างไม่สิ้นสุด ก็อาจจะต้องเปลี่ยนรัฐบาลกันละครับ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"