ตื่นตัว!ไม่“ตื่นตูม”ทำความเข้าใจ  ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ1ล้าน


เพิ่มเพื่อน    

ต้องเรียกว่าเป็นประเด็นอยู่พอสมควร สำหรับข่าวเรื่องการ “ปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท” ซึ่งมีผลไปเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา และเรื่องนี้ต้องยอมรับว่ามีทั้งคนที่เข้าใจ และคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจอยู่พอสมควร จนกลายเป็นประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้มีเงินฝากอยู่กับสถาบันการเงินได้ในระดับหนึ่ง ทำให้หลายคนอาจจะมีคำถามตามมาว่า แล้วหลังจากวันที่ 11 ส.ค. 2564 จะเป็นอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ สิ่งแรกที่ต้องเริ่มทำความเข้าใจ คือ การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากดังกล่าว เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 นั่นหมายความว่า การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดย ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) อธิบายเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงิน โดยเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 98.03% ซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารทางการเงินได้อย่างเพียงพอ

ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 นั้น ได้กำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากตั้งแต่แรกที่ 1 ล้านบาทอยู่แล้ว แต่เพื่อให้ผู้ฝากเงินเข้าใจและปรับตัวกับระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดจำนวน จึงได้กำหนดให้ปรับวงเงินคุ้มครองลดหลั่นตามลำดับ จากความคุ้มครองเต็มจำนวนที่ 50 ล้านบาท มาสู่ 25 ล้านบาท มาสู่ 15 ล้านบาท มาสู่ 10 ล้านบาท มาสู่ 5 ล้านบาท และ 1 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับผู้ที่จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากคือ ผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดา เมื่อเปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน โดยเงินนำฝาก ในที่นี้จะรวมถึงเงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ฝากแต่ละรายในทุกสาขาและทุกบัญชีของสถาบันการเงินแห่งนั้นมาคำนวณรวมกัน ต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน หรือหากมีมากกว่า 1 ล้านบาท ก็จะได้รับความคุ้มครอง 1 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่หากผู้ฝากเงินยังมีบัญชีเงินฝากอยู่กับสถาบันการเงินอื่นๆ อีก ก็จะใช้หลักเกณฑ์การคุ้มครองแบบเดียวกัน

ดังนั้น อาจจะมีคำถามตามมา สำหรับเงินฝากในส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทที่ได้รับความคุ้มครอง จะเป็นอย่างไร “ทรงพล” ชี้แจงว่า ในกรณีที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกปิดกิจการ โดยผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนจาก สคฝ. ซึ่งทำหน้าที่ดูแลในส่วนนี้อย่างรวดเร็ว ภายใต้วงเงินและภายใต้ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่เกิน 30 วัน ส่วนกรณีเงินฝากที่มีจำนวนเกินกว่าวงเงินจ่ายคืน ในปัจจุบันหมายถึง ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทแรกที่ได้รับความคุ้มครองนั้น จะได้รับเงินคืนเพิ่มเติมภายหลังจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ

ส่วนผู้ฝากเงินที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท กองทุนต่างๆ มูลนิธิ วัด สมาคม สหกรณ์ บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยประเภทของเงินฝากและสถาบันการเงินที่ฝากต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ขณะที่หากเป็นชาวต่างชาติที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่อยู่ในประเทศไทย จะได้รับการคุ้มครองต่อเมื่อเป็นบัญชีเงินฝากในประเทศที่เป็น “เงินบาท” ในประเภทที่ให้ความคุ้มครอง เว้นแต่เป็นเงินฝากใน “บัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-Resident Baht Account)” ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยน ซึ่งก็คือประเภทบัญชีเงินฝากพิเศษที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในไทยเป็นสกุลเงินบาท เพื่อทำรายการเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ.นั่นเอง

“ทุกคนจะได้รับการคุ้มครองทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายในปัจจุบัน สำหรับเงินฝากส่วนที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง นั่นคือส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท จริง ๆ แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับคืนเช่นกัน โดยตามกระบวนการแล้วหากสถาบันการเงินใดสถาบันการเงินหนึ่งมีปัญหา สคฝ. จะเข้าไปดูแลในส่วนกระบวนการชำระบัญชีของสถาบันการเงินที่ถูกปิด ที่อาจจะมีการขายสินทรัพย์ของธนาคารเพื่อให้ได้มาเป็นเงินสด และนำเงินที่ได้รับจากการชำระบัญชีมาจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝาก โดยจะต้องรอตามลำดับการชำระคืนเจ้าหนี้ตามกฎหมาย ผู้ฝากเงินที่ฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทก่อน หลังจากนั้นผู้ฝากเงินจึงจะได้รับเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทคืน แม้ว่าอาจจะไม่มีการการันตีว่าจะได้ครบตามจำนวนที่ฝากเงิน โดยปัจจุบันสถานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 1.31 แสนล้านบาท”

สำหรับประชาชนที่มีเงินมากกว่า 1 ล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่มีการเลือกลงทุนในหลายรูปแบบที่แตกต่างกันไป ทั้งผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผ่านที่ปรึกษาทางการเงินที่จะมีการให้คำแนะนำกับผู้ฝากเงินอยู่แล้ว เพราะการพิจารณาการลงทุนส่วนใหญ่จะมีการดูผลตอบแทน และพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนควบคู่อยู่แล้ว ดังนั้นผู้ที่มีเงินจำนวนมากก็จะพิจารณากระจายการลงทุนที่นอกเหนือจากการฝากเงิน ซึ่งให้ผลตอบแทนน้อย แต่ความเสี่ยงก็ต่ำกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นเช่นกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีข่าวเรื่องการปรับลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ สคฝ.ก็ยัง “ไม่พบสัญญาณการโยกย้ายเงินฝากที่ผิดปกติแต่อย่างใด” ในทางกลับกัน พบว่า ภาพรวมการฝากเงินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยซ้ำโดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการฝากเงินเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6% แม้ว่าปีที่ผ่านมาอัตราการฝากเงินจะเติบโตลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากผลกระทบของโควิด-19

ตัดภาพมายังปัจจัยที่จะทำให้ “กลไก” การคุ้มครองเงินฝากทำงานตามหลักเกณฑ์ นั่นคือ สถานะของสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองในปัจจุบัน ต้องบอกว่า “แข็งแกร่ง” โดย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ออกมาระบุชัดเจนว่า

“ปัจจุบันสถาบันการเงินในประเทศไทยยังคงมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ทั้งในส่วนของระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ระดับ 20% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ประกอบกับการมีสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง และสามารถรองรับความผันผวนของสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายเวลาวงเงินความคุ้มครองเงินฝากเดิมออกไปอีก รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเกิดความเชื่อมั่นในระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย”

โดยกระทรวงการคลัง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประเมินร่วมกันแล้วว่า การคุ้มครองเงินฝากดังกล่าวมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่สถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินในระบบสถาบันการเงิน

ขณะที่ ธปท.ก็ยืนยันอีกเสียงว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยยังมีความเข้มแข็ง โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2564 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 20% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 8.23 แสนล้านบาท และมีการกันสำรอง อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (Liquidity Coverage Ratio : LCR) อยู่ที่ 186.5% ถือเป็นเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า สถานะของธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่งและเพียงพอที่จะสามารถรองรับความต้องการสินเชื่อและความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้

ด้านภาคเอกชน นำโดย “สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)” ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้มีการส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้วที่มีการปรับลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 5 ล้านบาทจนมาถึงปัจจุบัน ที่จะมีการปรับลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท ก็มั่นใจว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็รับรู้และอาจจะลดความกังวลในส่วนนี้ไปแล้ว ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเข้ามารับภาระในส่วนนี้ด้วย ถ้าจะมีความกังวลน่าจะเป็นกลุ่มผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนที่น้อยกว่า

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยในขณะนี้ไม่ได้มีจำนวนมาก รวมถึงการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจก็ไม่ได้ดุเดือด ต่างจากต่างประเทศที่มีจำนวนธนาคารมากและการแข่งขันสูง ขณะที่ศักยภาพและสถานะของธนาคารทุกธนาคารในประเทศก็ค่อนข้างแข็งแรง ไม่มีด้านไหนที่สื่อถึงความอ่อนแอหรือไร้ความมีเสถียรภาพออกมา จนทำให้ผู้บริโภคไปฝากเงินแล้วเป็นกังวลได้ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในระบบธนาคารของประเทศไทยอยู่แล้ว

"เดิมที่ต้องมีการค้ำประกันเงินฝาก เนื่องจากประเทศไทยเปิดวิกฤติด้านการเงิน หลังจากที่มีวิกฤติต้มยํากุ้งสถาบันการเงินในประเทศไทยมีการปรับตัวจนเกิดความแข็งแรงขึ้นมาก และปัจจุบันวิกฤติต่างๆ ก็น้อย น้อยลงจนถึงไม่มีแล้ว จึงทำให้มั่นใจในศักยภาพของธนาคารในประเทศได้ว่าจะแข็งแรงและอยู่ได้อีกยาวนาน" สุพันธุ์ระบุ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของผู้ฝากเงินกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่ถูกจัดรวมอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ดังนั้น การที่ สคฝ.ปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลง จึงไม่ได้ส่งผลต่อการคุ้มครองเงินฝากของลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแต่อย่างใด การคืนเงินต้น และการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงินนั้น มี รัฐบาลเป็นประกัน ทั้งสิ้น!!

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"