จีน-มะกันแลกหมัดกัน เกือบทุกเวทีรอบบ้านเรา


เพิ่มเพื่อน    

จีนกับสหรัฐฯ ใช้เวทีอาเซียนแลกหมัดกันอย่างดุเดือดอีกรอบหนึ่ง
    รัฐมนตรีต่างประเทศจีนหวังอี้เตือนอาเซียนว่าอย่าให้ “คนข้างนอก” มาซ่าแถวนี้
    เขาหมายถึงทะเลจีนใต้ที่กำลังกลายเป็นเวทีประลองกำลังทางการเมืองและการทหารระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และโลกตะวันตก
    ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน บอกรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าระวังปักกิ่งจะแผ่ขยายอิทธิพลทางการทหารจนเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคนี้
    หวังอี้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม (ก่อนหน้าประชุมออนไลน์รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจาประมาณหนึ่งสัปดาห์) จีนกับอาเซียนได้ตกลงกันในเนื้อหาหลักของ Code of Conduct หรือหลักปฏิบัติร่วมระหว่างจีนกับอาเซียนในทะเลจีนใต้แล้ว
    เขาเตือนว่ามหาอำนาจจากข้างนอกพยายามจะมาสร้างความปั่นป่วนในย่านนี้ จึงควรที่อาเซียนจะไม่ยอมรับบทบาทจากข้างนอกเช่นนี้
    หวังอี้ไม่ได้ระบุชื่อสหรัฐฯ แต่ก็ไม่เป็นที่สงสัยว่าเขาหมายถึงใคร
    เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น อังกฤษส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้ามาในทะเลจีนใต้
    ตามมาด้วยเยอรมนีที่ส่งเรือรบฟรีเกตเข้ามาลาดตระเวนในน่านน้ำนี้เช่นกัน
    และเป็นจังหวะเดียวกับที่อินเดียก็ส่งเรือรบมาแวะเวียนประเทศต่างๆ ในแถบนี้เช่นกัน
    นอกจากพันธมิตรตะวันตกแล้ว สหรัฐฯ ก็ยังสร้างความคึกคักให้กับ Quad หรือ “จตุภาคี” เพื่อสกัดอิทธิพลของจีนอีกด้วย
    นั่นคือ สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, อินเดียและญี่ปุ่น
    บลิงเคนของสหรัฐฯ ก็ “ฟ้อง” รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าจีนกำลังสั่งสมคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นตลอดเวลา
    ซึ่งจะทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคนี้ได้
    จึงขอให้อาเซียนคบหาปักกิ่งด้วยความระแวดระวังเป็นพิเศษ มิฉะนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือของจีนในการสร้างอำนาจและบารมีของตนในย่านนี้ได้
    เวทีที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ฟัง “คำเตือน” จากยักษ์ใหญ่ทั้งสองประเทศคือ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum-ARF) จัดในรูปแบบออนไลน์ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมกว่า 20 ประเทศ 
    บลิงเคนบรรยายสรุปยืดยาวว่าด้วย “พฤติกรรมยั่วยุ” ของจีน 
    คนที่เปิดเผยรายละเอียดคือเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศ ที่เล่าว่าบลิงเคนได้แสดงความกังวลอย่างมากต่อการที่จีนได้สร้างเสริมคลังแสงนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
    เขากล่าวหารัฐบาลปักกิ่งว่าได้เบี่ยงเบนไปมากจากยุทธศาสตร์การป้องปรามอาวุธร้ายแรงอย่างนิวเคลียร์ที่เคยเป็นหลักปฏิบัติสากลมาหลายสิบปี
    ก่อนหน้านี้สมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเคยอ้างว่ามีข้อมูลที่แสดงว่าปักกิ่งกำลังสร้างที่เก็บขีปนาวุธกว่า 100 แห่ง ในเขตห่างไกลของมณฑลซินเจียงทางตะวันตกของประเทศ
    ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจีนกำลังขยับขยายการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อสร้างอำนาจการทำลายทางด้านอาวุธร้ายแรงในระดับโลก
    แต่ข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม บอกว่าคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของจีนยังเล็กมากหากเปรียบกับของยักษ์ใหญ่อื่นๆ
    สถาบันแห่งนี้เชื่อว่าจีนมีนิวเคลียร์ 350 ลูก ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากหากเทียบของของรัสเซียที่มี 6,255 ลูก และสหรัฐ 5,550 ลูก
    ในคำปราศรัยของบลิงเคนนั้น เขายังพยายามจะชี้ให้อาเซียนเห็นบทบาทของจีนในแง่การสนับสนุนให้เกิดรุนแรงของรัฐบาลทหารในพม่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต ฮ่องกง และซินเจียง
    ก่อนหน้านี้ไม่นานประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ส่งสัญญาณเตือนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฮ่องกงและซินเจียงว่าให้ระวังความเสี่ยงจากการใช้กฎหมายเล่นงาน เพราะจีนยังพยายามจะควบคุมเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในดินแดนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
    ในอีกเวทีหนึ่งที่คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติบลิงเคนเตือนว่า "ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงและการค้าโลก"
    และเสริมว่า "เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ต้องรับผลใดๆ จากการละเมิดหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศ นั่นยิ่งเร่งให้เกิดการฝ่าฝืนและความไร้เสถียรภาพในส่วนอื่นของโลกด้วยเช่นกัน"
    พร้อมกับย้ำว่า "เราได้เห็นการเผชิญหน้าอย่างอันตรายระหว่างเรือของหลายประเทศ และท่าทีรุกรานยั่วยุเพื่อผลักดันการกล่าวอ้างอย่างไม่ถูกต้อง" 
    ยืนยันว่าวอชิงตันเป็นกังวลต่อการกระทำในลักษณะคุกคามและกลั่นแกล้งประเทศอื่นที่พยายามเข้าไปยังพื้นที่ทับซ้อนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลดังกล่าว
    แต่อัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น ไต้ ปิง โต้กลับว่าสหรัฐฯ นั่นแหละคือตัวปัญหา
    เขาบอกว่าอเมริกา "เป็นผู้จุดชนวนปัญหาให้เกิดความวุ่นวายด้วยการส่งเรือทหารและเครื่องบินไปยังทะเลจีนใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการยั่วยุและปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคนี้"
    ทูตจีนอัดกลับว่า "อเมริกาเองที่กลายมาเป็นภัยคุกคามสำคัญที่สุดต่อสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้"
    เราตัวเล็กๆ อยู่ตรงกลาง...วางตัวให้เหมาะ รักษาผลประโยชน์ของตนให้มั่น ฟังทั้งสองฝ่าย และทำตัวให้เขาเคารพในความชัดเจนและมุ่งมั่นของเรา จึงจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"