ธปท.แนะรัฐกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทพยุงเศรษฐกิจ ชี้ช่องขึ้นภาษีแวตโปะหนี้


เพิ่มเพื่อน    

 

16 ส.ค. 2564 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง และมีผลชัดเจน 4 อาการ ได้แก่ 1. หลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ โดยพบว่า ในช่วงปี 2563-2564 รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ปี 2563-2565 รายได้จากการจ้างงานจะหายไปรวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท 2. การจ้างงานในระบบถูกกระทบรุนแรง โดยในช่วงไตรมาส 2/2564 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน (ผู้ที่มีงานทำไม่ถึง 4ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดถึง 3 เท่าตัว

3. การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนเปราะบาง และ 4. เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการสูงสุดในเอเชีย คิดเป็น 11.5% ของจีดีพี และจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาส 1/2564 จีดีพีของไทยอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่ 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดหมดแล้ว

โดย ธปท. ยังคงคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีในปีนี้ไว้ที่ 0.7% ส่วนปัจจัยที่จะทำให้มีการปรับคาดการณ์ในจีดีพีใหม่ คือ หากมีการล็อกดาวน์ยาวถึงไตรมาส 4/2564 เพราะการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละเดือน มีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.3-0.4% และมองว่ามีโอกาสน้อยที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตติดลบ แม้ว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกปัจจุบันจะหนักและมากกว่าที่คาดการณ์ แต่ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตเป็นบวกได้ไม่ที่ระดับ 0.7% ตามที่คาดการณ์ก็บวกได้ในระดับใดระดับหนึ่ง เพราะยังมีตัวช่วยอย่างภาคการส่งออก

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้้จึงต้อเหมาะสม และสมเหตุสมผลกับอาการ จากอาการของไทยที่หนัก ก็ต้องใช้ยาแรง ต้องแก้ให้ตรงจุด ตรงต้นเหตุ นั่นคือ “วัคซีน” โดยยังยืนยันเหมือนเดิมว่า หากไม่เร่งดำเนินการเรื่องวัคซีน มาตรการอื่น ๆ ที่เร่งผลักดันออกมาให้ตายก็ไม่พอ ไม่จบ เป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น เรื่องวัคซีนยังเป็นตัวหลัก และหากไปดูข้อมูลการฉีดวัคซีนในปัจจุบันของประเทศไทย พบว่า สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็มมีแค่ 7% ของประชากรทั้งหมด ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศด้วย ตัวนี้เป็นเครื่องสะท้อนว่าไทยในฐานะที่เป็นประเทศต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและบริการเยอะ ยิ่งจำเป็นต้องกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น

“ในระหว่างที่สังคมไทยยังไม่ได้รับวัคซีนมากพอ เราจะเป็นต้องใช้มาตรการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ คุมการระบาด เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามรุนแรงขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีต้นทุนด้านเศรษฐกิจสูง เพราะเป็นการจำกัดการเคลื่อนที่ของคน ซึ่งกระทบการดำเนินธุรกิจรุนแรง จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบด้านสาธารณสุขกับเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับบริบทประเทศ ที่สำคัญต้องเร่งรัดมาตรการตรวจและคัดแยกผู้ติดเชื้อในครัวเรือนให้ครอบคลุมและทันการณ์ หากพบการติดเชื้อ อาจต้องใช้มาตราการควบคุม หรือล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่อย่างเข้มข้นในระยะเวลาจำกัดให้ได้ทันท่วงที” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและครัวเรือน ผ่านมาตรการทางการคลังซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ขาดไม่ได้ เพราะรายได้ครัวเรือนที่หายไปในช่วง 2 ปี จำนวน 1.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกิน 10% ของจีดีพี ยังไม่มีอะไรมาทดแทนได้ แม้ปีนี้จะประเมินว่าภาคส่งออกจะเติบโตได้ถึง 17.7% ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะการจ้างงานในภาคการส่งออกไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับการจ้างงานในระบบ และเมื่อเทียบกับตัวเลขคนว่างานและเสมือนว่างงาน จึงเป็นเหตุผลว่าการส่งออกสามารถพยุงเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่นัก ขณะที่บริษัทเอกชนแม้จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ ดังนั้นการใช้จ่ายของภาครัฐจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาหลุมรายได้ที่ทั้งใหญ่และลึก และคาดว่าจะยาวนาน

โดยการใช้จ่ายของภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก และต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้มากที่สุดเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงานและเพิ่มรายได้ รวมถึงการใช้วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทที่อาจนำมาใช้เยียวยากลุ่มเปราะบางให้ตรงจุดและทันการณ์ และออกมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงานและสร้างรายได้โดยเร็ว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐก็จะช่วยให้จีดีพีกลับมาเติบโตได้ใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น โดยกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพีในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก ดังนั้นหากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤติยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง และปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว

“การกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7% ของจีดีพี สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเจออยู่ อีกประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ คือ การกู้ตอนนี้แล้วใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจกลายเป็นจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเราไม่กู้ เพราะการกู้และการใส่เงินเข้าไปตอนนี้เป็นการขยายเศรษฐกิจ เพิ่มฐานภาษี และทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไปได้ ช่วยให้ภาระหนี้กลายเป็นลดลงในอนาคต ดังนั้นภาพระยะยาวการกู้เพื่อใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่จริง ๆ แล้วทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง และมองว่าหนี้สาธารณะที่ 70% ของจีดีพีเป็นอะไรที่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ลำบาก รองรับได้ สภาพคล่องในระบบรองรับการกู้ยืมจากภาครัฐได้ ขณะที่ดอกเบี้ยก็สะท้อนความสามารถที่ภาคการคลังจะกู้เพิ่มได้ โดยดอกเบี้ยกู้ระยะยาว 10 ปี ไม่ถึง 1.6% เป็นพื้นที่ที่ยังมีศักยภาพเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ดอกเบี้ยสูงถึง 4-6% เป็นภาพรวมที่มองว่าเป็นยา หรือเป็นมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมกับอาการของเศรษฐกิจไทยที่เห็น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินต้องมีแผนชัดเจนในระยะยาวที่จะทำให้ภาคการคลังกลับมาสู่ระดับที่เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่มช่องทางในการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลังและความเสี่ยงในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีกลับลงมาในระยะข้างหน้า เช่น การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ พร้อมทั้งการปรับเพิ่มภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำ เพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน

นอกจากนี้ หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงอีกประมาณ 0.33% ต่อจีดีพี

“ธปท.ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับเรื่องนี้ แต่ด้วยสภาพอาการที่จำเป็นกับเศรษฐกิจไทยตอนนี้ มองว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้าง เรื่องหนึ่งที่หนีไม่พ้นคือมาตรการการคลัง โดยผมมองว่าน้อยมากที่ไทยจะเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง เพราะฐานะการคลังไม่ใช่เรื่องที่บริษัทเครดิตเรตติ้งเป็นห่วงที่สุด สิ่งที่เป็นห่วงคือความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ส่วนที่บริษัทเครดิตเรตติ้งมองว่าเป็นจุดแข็ง คือ ฐานะการคลัง และเสถียรภาพทางการคลัง แต่จากสภาพอาการการของไทยตอนนี้จะรักษาโรคได้ก็ต้องรักษาที่องค์รวม จะแยกหมอเฉพาะทางอย่างเดียวไม่ได้ เพื่อให้คนไข้รอด ไม่ใช่ว่า ธปท.ไม่ทำอะไร ธปท.ก็ต้องทำเช่นกัน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

โดยมาตรการทางการเงินของ ธปท. จะเป็นมาตรการเสริมในการช่วยดูแลภาระลูกหนี้และเติมสภาพคล่องให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่รายได้หายไปชั่วคราว ที่ผ่านมามีการดำเนินการหลายมิติ ทั้งการแก้ไขหนี้ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว การพักชำระหนี้ระยะสั้น และการเติมสภาพคล่อง

สำหรับข้อเสนอเรื่องการปรับลดเพดานดอกเบี้ยนั้น มองว่า ต้องพิจารณาให้ดี ให้รอบคอบ รอบด้าน เพราะว่ามีผลข้างเคียงเยอะ ไม่ใช่แค่กับระบบแต่เป็นผลกับลูกหนี้เอง ซึ่งการพิจารณาผลกระทบต่อลูกหนี้ในเรื่องการปรับลดเพดานดอกเบี้ยนั้น แนวทางที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง คือ การขยายเพดานวงเงินให้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้คนที่เสี่ยงสูงยังอยู่ในระดับบต่อไป และเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้เดิม

สำหรับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธปท. ไม่ได้มีการกำหนดระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ในใจ แต่ก็ไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่เป็นอุปสรรค หรือมีความผันผวนที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องการเก็งกำไร

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"